posttoday

แก้บัตรทองร่วมจ่ายระยะยาว

14 กรกฎาคม 2560

เตรียมส่งประเด็นแก้กฎหมายบัตรทองให้ รมว.สาธารณสุข ยันไม่มีร่วมจ่าย ณ จุดบริการ แต่เป็นเรื่องระยะยาวแทน

เตรียมส่งประเด็นแก้กฎหมายบัตรทองให้ รมว.สาธารณสุข ยันไม่มีร่วมจ่าย ณ จุดบริการ แต่เป็นเรื่องระยะยาวแทน

นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา กรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) เปิดเผยว่า คณะกรรมการได้ประชุมเป็นนัดสุดท้ายเพื่อรวบรวมประเด็นการแก้ไขกฎหมายนี้ก่อนส่งให้ รมว.สาธารณสุข หลังจากได้ผ่านการประชาพิจารณ์จากผู้เกี่ยวข้อง โดยประเด็นเรื่องการร่วมจ่าย ณ จุดบริการ กรรมการฯ ยืนยันชัดเจนไม่แก้ไข แต่วิธีการเรื่องร่วมจ่ายเป็นเรื่องระยะยาว ขณะนี้มีคณะทำงานที่ศึกษาเรื่องความยั่งยืนทางการเงินการคลังด้านสุขภาพ ที่มีชุด นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อดีตอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ศึกษาเรื่องนี้

นอกจากนี้ เรื่องการจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ เป็นที่แน่นอนว่า สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ดำเนินการจัดซื้อได้ถูกจริงเป็นเงินกว่า 5 หมื่นล้านบาทใน 10 ปีที่ผ่านมา แต่ด้วยประเด็นกฎหมายที่ถูกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ทักท้วงว่า สปสช.ไม่มีอำนาจจัดซื้อ จึงต้องมาทำให้ถูกต้อง แต่ไม่ได้หมายความว่า กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จะเอาอำนาจไป ซึ่งกระทรวงก็จะเป็นผู้ประสานและต่อรองราคายาให้ทั้ง 3 กองทุนประกันสุขภาพภาครัฐ จากเดิมใช้ได้เพียงกองทุนบัตรทองเท่านั้น แต่ในปีงบประมาณ 2560 ก็ยังให้ สปสช.ทำตามเดิมแต่ในปีงบประมาณ 2561 เริ่มทำรูปแบบใหม่

นพ.ณรงค์ศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับสัดส่วนกรรมการ สปสช.นั้น แบ่งเป็นคณะกรรมการบริหาร (บอร์ด) และคณะกรรมการควบคุมคุณภาพมาตรฐานการบริการ ให้เพิ่มสัดส่วนผู้ให้บริการบอร์ดละ 2 คน ส่วนที่เป็นกังวลที่ไม่เห็นด้วยเรื่องปลัด สธ.ไปนั่งรองบอร์ด สปสช.นั้น ได้ตัดออกไปแล้ว เพราะปลัด สธ.เห็นว่าไม่จำเป็นต้องมี

น.ส.สุรีรัตน์ ตรีมรรคา ผู้ประสานงานกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ และกรรมการยกร่าง พ.ร.บ.บัตรทอง กล่าวว่า กรรมการบอกว่ายังมีอีกหลายขั้นตอนเมื่อส่งตัวร่างให้ รมว. ก็อยู่ที่ รมว.ว่าจะมองอย่างไร แต่ภาคประชาชนยังต้องส่งเสียงต่อไป เพราะแม้ว่าจะจบกระบวนการในห้องนี้ไปแล้วแต่ยังเหลือกระบวนการอื่นๆ อีก ดังนั้นต้องขอเข้าพบ รมว.สาธารณสุข อีกหลายครั้งแน่นอน ส่วนจะเป็นเมื่อไรนั้นภาคประชาชนจะหารือกันก่อน

ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.บัตรทองฉบับประชาชนอาจจะต้องมาคิดใหม่ว่าเป็นกฎหมาย ฉบับใหญ่กว่าเดิมด้วยซ้ำไป เพราะกลายเป็นว่าแก้กฎหมายในเชิงปฏิบัติการให้หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งทำหน้าที่ได้เท่านั้น