posttoday

คาราวาน สสวท. สอนเด็กเรียนรู้วิทยาศาสตร์

09 กรกฎาคม 2560

สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ร่วมกับองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.)

โดย...สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)

สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ร่วมกับองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ร่วมจัดคาราวานวิทยาศาสตร์ ณ โรงเรียนพิริยาลัย จ.แพร่ เมื่อช่วงปลายเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา เพื่อสร้างความตระหนักให้นักเรียนอยากเรียนรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี

เป้าหมายก็เพื่อให้นักเรียนมองว่าเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องใกล้ตัวและเกิดความสนุกสนาน โดย สสวท.ได้นำนิทรรศการ กิจกรรม Hands-on และการประชุมปฏิบัติการ ไปให้ความรู้คู่กับความสนุกสนาน ได้แก่ สนุกกับกิจกรรม GLOBE กังหันน้ำสปริงเคลอร์ รถไฟเหาะ กล้องตาเรือ ไซคิดส์ ทาวเวอร์ ลมกู้ภัย แพน บาลานซ์ พลูโต แลนดิ้ง และผ้ามัดย้อม ในส่วนของกิจกรรมแฮนด์ออน มีทั้งหมด 7 ฐาน แต่ละกิจกรรมจะมีการสะสมแต้มเพื่อไปแลกของรางวัล

พรพรรณ ไวทยางกูร ผู้อำนวยการ สสวท. กล่าวถึงตัวอย่างกิจกรรมประชุมปฏิบัติการ เช่น กิจกรรมกังหันน้ำ สปริงเคลอร์ นักเรียนได้เรียนรู้เกี่ยวกับการทำงานของกังหันลมปั๊มน้ำสปริงเคลอร์ โดยใช้หลักการแบร์นูลลี ซึ่งบริเวณที่มวลอากาศมีการเคลื่อนที่เร็ว ความดันอากาศจะต่ำกว่าบริเวณที่มวลอากาศเคลื่อนที่ช้า ซึ่งแรงดันอากาศเหนือน้ำจะมีมากกว่าด้านบน ทำให้ดันน้ำขึ้นไปตามท่อและออกมาบริเวณปลายท่อ บวกกับแรงเหวี่ยงจึงมีลักษณะเป็นปั๊มน้ำสปริงเคลอร์

จากมุมมองของ วัฒน วัฒนากูล และกุลธิดา สะอาด ผู้จัดกิจกรรมกังหันน้ำสปริงเคลอร์ เล่าถึงผลตอบรับของผู้ร่วมกิจกรรมซึ่งเป็นนักเรียนตั้งแต่ชั้นประถมไปจนถึงชั้นมัธยมว่าส่วนใหญ่สนใจต่อการร่วมประดิษฐ์ชิ้นงาน ซึ่งให้นักเรียนได้เรียนรู้ว่ากังหันสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย ไม่ว่าการผลิตกระแสไฟฟ้า การนำไปประยุกต์ใช้ในการสูบน้ำ การทำระหัดวิดน้ำ

ศิริพร เหล่าวานิชย์ ผู้จัดกิจกรรมสนุกกับกิจกรรม GLOBE “แว่นส่องเมฆ” เล่าว่า กิจกรรมนี้เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้เกี่ยวกับรูปร่าง สี และขนาดของเมฆ โดยการสังเกตผ่านอุปกรณ์ที่ทำขึ้น โดยคาดว่านักเรียนสามารถสังเกตและบอกรูปร่าง สี ขนาดของเมฆที่พบในชีวิตประจำวันได้ ซึ่งจะให้นักเรียนได้ลงมือทำแว่นเป็นอุปกรณ์สำหรับดูเมฆ มีลักษณะเป็นช่องตรงกลาง ล้อมรอบด้วยภาพเมฆ และข้อมูลที่บอกลักษณะของเมฆแต่ละชนิด ผลการตอบรับจากเด็กและครูที่เข้าร่วมกิจกรรม พบว่าผู้เข้าร่วมกิจกรรมสามารถลงมือทำและใช้อุปกรณ์ในการสังเกตเมฆ

ภาณุกูล คำเหลือง ครูพี่เลี้ยงเด็กพิการและครูสอนภาษาอังกฤษ โรงเรียนบ้านร้องกวาง (จันทิมาคม) อ.ร้องกวาง จ.แพร่ ซึ่งได้พานักเรียนชั้น ป.3 และ ป.4 มาร่วมงานคาราวานวิทยาศาสตร์ และร่วมกิจกรรมแว่นส่องเมฆ กล่าวว่า กิจกรรมนี้ช่วยให้ดูว่าวันนี้ฝนตก หรือไม่ตกได้จากก้อนเมฆ หากท้องฟ้าสดใส เมฆไม่เยอะ ทำให้พอจะรู้ว่าฝนไม่ตก ถ้าเมฆเยอะ มีความมืดครึ้ม เด็กๆ จะได้เตรียมนำเอาเสื้อกันฝนและร่มมา

คาราวาน สสวท. สอนเด็กเรียนรู้วิทยาศาสตร์

สำหรับความเห็นของเด็กๆ ส่วนใหญ่จะชอบและสนุกกับการทำกิจกรรมเหล่านี้ ชัยวัฒน์ ซ่อนบุญ หรือน้องมอส ชั้น ป.3 จากโรงเรียนบ้านร้องกวาง (จันทิมาคม) บอกว่า สนุก ชอบ ทำให้รู้ว่าเมื่อไหร่ฝนจะตกจากรูปร่างของเมฆ นิพพิชฌ์รชต คะจรรยา หรือน้องฟิล์ม เล่าว่า แว่นส่องเมฆใช้ดูว่าเมื่อไหร่แดดจะมาเมื่อไหร่ฝนจะตก ทำให้รู้ว่าเมฆมี 3 ระดับ ถ้ามีกิจกรรมแบบนี้อยากมาอีก

นวลจันทร์ ฤทธิ์ขำ ผู้จัดกิจกรรมรถไฟเหาะ อธิบายว่ากิจกรรมนี้ใช้ความรู้เกี่ยวกับสมบัติของแม่เหล็กต่างขั้วกันจะดูดกัน และขั้วเดียวกันผลักกัน มาประดิษฐ์รถไฟที่สามารถเหาะได้ ถ้ารถไฟที่ประดิษฐ์ขึ้นนี้ลอยได้แล้ว ให้สามารถบรรทุกลูกแก้วได้มากที่สุดด้วย ซึ่ง สสวท.สามารถปรับกิจกรรมให้เหมาะสมกับผู้ร่วมกิจกรรมตั้งแต่ประถมศึกษาจนถึงมัธยมศึกษาได้

ผู้ร่วมกิจกรรมรถไฟเหาะ ธีธัช อุปถัมภ์ น้องต้นสน ศศิวัฒน์ ศฤงคาร น้องปั๊ม ศุมงคล หงส์ชัย น้องขิน ชั้น ม.2 โรงเรียนพิริยาลัย อ.เมือง จ.แพร่ ให้ความเห็นไปในทางเดียวกันว่าการได้ร่วมทำกิจกรรมรถไฟเหาะ ทำให้ได้ความรู้เกี่ยวกับแรงของแม่เหล็ก การทำงานและประโยชน์ของแม่เหล็ก เช่น รถไฟเหาะ รถไฟความเร็วสูง หรืออาจนำไปประยุกต์ใช้ในงานอื่นๆ เช่น ใช้แม่เหล็กดูดผงตะไบเหล็กขึ้นมา ใช้แม่เหล็กทำเป็นปั้นจั่นเอาไว้ดึงเศษเหล็กขนาดใหญ่ หรือการแยกเหล็กจากสารอื่นที่ปนอยู่

นอกจากนี้ สามารถใช้ยกรถให้ลอยได้โดยอาศัยแรงผลักกันของขั้วแม่เหล็ก ซึ่งที่ประเทศจีนได้มีการทดลองใช้ทำถนนให้มีแม่เหล็กอยู่ด้านใต้ของถนน เข็มทิศก็ใช้แม่เหล็ก ซึ่งจะหันไปทางทิศเหนือตลอด นอกจากนั้นยังได้เรียนรู้ความสามัคคีของเพื่อนในกลุ่ม หากเราทำคนเดียวเราอาจทำไม่สำเร็จ หลายคนช่วยกันคิดก็จะประสบความสำเร็จได้

คุณครูสมบัติ จันทร์ศรี ครูวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ โรงเรียนบ้านห้วยลากปืน อ.เด่นชัย จ.แพร่ ได้นำนักเรียนชั้น ป.3-ป.6 มาร่วมกิจกรรมรถไฟเหาะเช่นกัน โดยกล่าวว่ากิจกรรมนี้ช่วยให้นักเรียนได้นำสิ่งที่เรียนรู้ไปทดลองใช้ เพื่อให้เกิดแรงบันดาลใจในการคิดและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ขึ้นมา

ปัณณวรรธ สุวรรณพงศ์ หรือน้องภูมิ นักเรียนชั้น ม.4 โรงเรียนพิริยาลัย อ.เมือง จ.แพร่ พี่เลี้ยงประจำฐานกิจกรรมของ สสวท. เล่าว่าทางโรงเรียนให้โอกาสนักเรียนชั้น ม.ปลาย จากห้องเรียนพิเศษเข้ามาร่วมจัดกิจกรรม ก่อนจัดกิจกรรมจะมีการเตรียมความพร้อมในการให้ความรู้และรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ เช่น ถ้าน้องไม่เข้าใจจะมีวิธีอธิบายให้ค่อยๆ เข้าใจ

จากประสบการณ์ครั้งนี้ น้องภูมิ บอกว่า ทำให้ได้เรียนรู้วิธีการพูดคุยให้ความรู้กับน้องๆ มากมาย และเมื่อเข้าไปร่วมทำกิจกรรมกับเพื่อนๆ ในฐานอื่นๆ ก็ได้รู้กระบวนการคิด ได้รู้อัลกอริทึมเกี่ยวกับการย้ายสิ่งของ และรู้ว่าการแก้ปัญหาต่างๆ ไม่ได้มีแค่วิธีเดียว แต่มีวิธีการคิดและลงมือทำที่หลากหลายอีกด้วย