posttoday

ไทย-อินเดียจับกระชับความร่วมมือคุมใช้ยาในทางที่ผิด

01 กรกฎาคม 2560

ไทย จับมือ อินเดีย กระชับความร่วมมือในการควบคุมยาเสพติด สารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ และการใช้ยาในทางที่ผิด

ไทย จับมือ อินเดีย กระชับความร่วมมือในการควบคุมยาเสพติด สารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ และการใช้ยาในทางที่ผิด

เมื่อวันที่ 1 ก.ค.ที่โรงแรมทัชมาฮาลพาเลซ (Taj Mahal Palace) กรุงนิวเดลี สาธารณรัฐอินเดีย นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และนายหานสราช กานการาม อาเฮียร์ (Mr. Hansraj Gangaram Ahir) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย สาธารณรัฐอินเดีย ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่าง นายศิรินทร์ยา สิทธิชัย เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (เลขาธิการ ป.ป.ส.) กับ นางรินา มิตรา (Mrs. Rina Mitra) ผู้อำนวยการสำนักงานควบคุมยาเสพติดแห่งสาธารณรัฐอินเดีย (Narcotics Control Bureau) ว่าด้วยความร่วมมือในการควบคุมยาเสพติด วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท สารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ และการใช้ยาในทางที่ผิด

บันทึกความเข้าใจฉบับนี้มีสาระสำคัญเกี่ยวกับการกำหนดกรอบความร่วมมือด้านยาเสพติดในภาพกว้าง ซึ่งระบุขอบเขตความร่วมมือกันในทุกมาตรการ ทั้งด้านการลดอุปสงค์และอุปทานยาเสพติด การบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด การตรวจพิสูจน์ยาเสพติดรวมถึงการแลกเปลี่ยนข้อมูล องค์ความรู้ทางวิชาการ แนวทางการปฏิบัติ และการสกัดกั้นเคมีภัณฑ์และสารตั้งต้น เพื่อลดการลักลอบนำเข้าไปยังแหล่งผลิตยาเสพติดในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ นำไปสู่การลดปริมาณยาเสพติดที่จะเข้าสู่ประเทศไทย และลดปัญหาการแพร่ระบาดยาเสพติดในประเทศไทยต่อไป

ในพิธีดังกล่าว รัฐมนตรีทั้งสองฝ่ายได้กล่าวแสดงความยินดีต่อการยกระดับความร่วมมือด้านยาเสพติดระหว่างหน่วยงานยาเสพติดของไทยและอินเดีย โดย นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ยังได้กล่าวแสดงความยินดีต่อความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยและอินเดีย ซึ่งกำลังจะครบรอบ 70 ปี ในวันที่ 1 สิงหาคม นี้ โดยการลงนามครั้งนี้นับว่าเป็นก้าวสำคัญของพัฒนาการความสัมพันธ์ และถือเป็นส่วนหนึ่งของการเฉลิมฉลองการครบรอบ 70 ปี ของความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศด้วย

นอกจากนี้ คณะผู้แทนไทยได้รับฟังการบรรยายสรุป ในเรื่องการควบคุมสารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ การควบคุมการปลูกฝิ่นอย่างถูกกฎหมายและการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ องค์ความรู้ และแนวทางการดำเนินงาน ซึ่งไทยจะนำประสบการณ์และแนวทางการดำเนินงานด้านต่างๆ ที่เป็นประโยชน์มาปรับใช้ให้เข้ากับบริบททางสังคมและกฎหมายของประเทศไทย เพื่อเสริมศักยภาพของการดำเนินงานควบคุมยาเสพติดและเคมีภัณฑ์ การปลูกพืชเสพติด รวมถึงการดำเนินงานด้านยาเสพติดในมิติต่างๆ ต่อไป ทั้งนี้ อินเดียให้ความสนใจกับยุทธศาสตร์ด้านการป้องกันยาเสพติด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างการตระหนักรู้เกี่ยวกับยาเสพติดในกลุ่มประชาชนและกลุ่มเสี่ยง รวมถึงชื่นชมการดำเนินการโครงการแม่น้ำโขงปลอดภัย (Safe Mekong) ของไทย ซึ่งอินเดียหวังว่า จะนำไปศึกษารายละเอียดและพัฒนาความร่วมมือในเรื่องดังกล่าวต่อไป