posttoday

ร้องดีเอสไอตรวจสอบกลุ่มนักธุกิจนำเงินปล่อยกู้นอกระบบ

30 มิถุนายน 2560

กลุ่มผู้เสียหายร้องดีเอสไอตรวจสอบกลุ่มนักธุกิจเจ้าของบริษัท ในตลาดหลักทรัพย์ นำเงินมา ปล่อยกู้นอกระบบ ทำสัญญาขายฝากคอนโดฯ ครบกำหนดไม่รับชำระเสียหายกว่า 100 ล้านบาท

กลุ่มผู้เสียหายร้องดีเอสไอตรวจสอบกลุ่มนักธุกิจเจ้าของบริษัท ในตลาดหลักทรัพย์ นำเงินมา ปล่อยกู้นอกระบบ ทำสัญญาขายฝากคอนโดฯ ครบกำหนดไม่รับชำระเสียหายกว่า 100 ล้านบาท

เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นางฐิตาภา ณ ระนอง พร้อมด้วยนายสุวนิตย์ ศิริสิงหล เดินทางเข้าร้องทุกข์กับดีเอสไอเพื่อขอให้ตรวจสอบกลุ่มนักธุรกิจที่มีพฤติกรรมปล่อยกู้นอกระบบเรียกดอกเบี้ยร้อยละ 2 บาทและ2.50 บาทต่อเดือน

นางฐิตาภา กล่าวว่า ตนได้รับการแนะนำให้รู้จักกับนายทุนรายนี้เพื่อกู้ยืมเงินจำนวน 57 ล้านบาท โดยกำหนดเงื่อนไขให้ทำสัญญาขายฝากคอนโดมิเนียม จำนวน 138 ห้อง แต่กลับถูกแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายละเอียดในสัญญาจากการขายฝากเป็นการขายเสร็จเด็ดขาด ทำให้ตนหมดสิทธิ์ในการซื้อคอนโดมิเนียมกลับคืน และเมื่อถึงกำหนดชำระคืนเงินกู้กลุ่มนายทุนก็หลีกเลี่ยงไม่รับชำระเพื่อประวิงเวลาจนทำให้ตนต้องสูญเสียคอนโดมิเนียม 138 ห้อง มูลค่ากว่า 100 ล้านบาท ทั้งที่กู้ยืมเงินมาเพียง 57 ล้านบาท

ด้าน นายสุวนิตย์ ระบุว่า ตนและบริษัทอินเตอร์ โดเมสติคเคอร์เรนซี่ จำกัด ได้กู้เงินจากนายทุนกลุ่มเดียวกันวงเงิน 60 ล้านบาท และถูกกำหนดเงื่อนไขในการกู้ยืมเป็นรูปแบบสัญญาการขายหุ้นของบริษัทอินเตอร์ฯ โดยในการกู้เงินต้องโอนหุ้นของบริษัททั้งหมดเพื่อเป็นการประกันเงินกู้ยืม หลังการกู้ยืมเงินและได้ชำระเงินกู้ทั้งหมดรบถ้วนแล้ว แต่นายทุนเงินกู้ไม่ยอมคืนต้นฉบับใบหุ้นและสัญญาโอนหุ้นคืนให้ แล้วนำไปจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงรายชื่อผู้ถือหุ้นไปเป็นของตนเอง จึงต้องการให้ดีเอสไอรับสอบสวนเป็นคดีพิเศษ เนื่องจากราคาทรัพย์สินของบริษัทมีมากกว่า 800 ล้านบาท ซึ่งต้องสูญเสียไปเพราะการทำสัญญาเงินกู้ที่มีเจตนาอำพราง โดยกลุ่มนายทุนเงินกู้รายนี้เป็นเจ้าของบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ จึงต้องการให้ดีเอสไอตรวจสอบจริยธรรมและเส้นทางการเงินที่นำมาปล่อยกู้นอกระบบนี้ด้วย

ขณะที่นายบัณฑิต สังขนันท์ ผู้อำนวยการส่วนรับเรื่องร้องทุกข์ ดีเอสไอ กล่าวว่า หลังจากรับคำร้องจากผู้เสียหายทั้งสองราย จะประมวลข้อเท็จจริงเสนอให้อธิบดีดีเอสไอพิจารณา จากข้อมูลเบื้องต้นยังไม่เข้าข่ายคดีที่ดีเอสไอมีอำนาจสอบสวนตามพ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ หากจะรับเป็นคดีพิเศษต้องได้รับมติจากคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.)