posttoday

จากพลาสติกสู่หมึกพิมพ์ 3 มิติ แก้ขยะล้น-ความยากจนเรื้อรัง

18 มิถุนายน 2560

เมื่อ สิธานท์ ไพ วิศวกรด้านสิ่งแวดล้อมชาวอินเดีย เดินทางกลับมายังเมืองปูเน่บ้านเกิดเขาก็ได้พบกับกองขยะมหึมา

โดย...นรินรัตน์ พรหมพิทักษ์

เมื่อ สิธานท์ ไพ วิศวกรด้านสิ่งแวดล้อมชาวอินเดีย เดินทางกลับมายังเมืองปูเน่บ้านเกิดเขาก็ได้พบกับกองขยะมหึมาเต็มไปด้วยสิ่งปฏิกูลหลากหลายชนิด และบรรดาคนเก็บขยะที่กำลังค้นหาและเก็บขวดพลาสติกใส่ถุงสีขาวใบใหญ่อย่างขะมักเขม้น เพื่อหวังนำขยะเหล่านั้นไปแลกเปลี่ยนเป็นเงินซื้อหาอาหารในแต่ละวัน

แม้อาชีพเก็บขยะขายจะสร้างรายได้ไม่มากนัก แต่สำหรับคนจนจำนวนมากแล้ว นี่เป็นหนึ่งในหนทางหาเงินที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อน โดยในปัจจุบันจำนวนคนเก็บขยะทั่วโลกคาดว่าอยู่ที่ราว 15 ล้านคน ท่ามกลางปริมาณขยะพลาสติกที่เพิ่มขึ้นทุกปีจนมาอยู่ที่ประมาณ 300 ล้านตัน ซึ่งมากเสียจนล้นทะลักอยู่ทั่วหลายเมือง หรือแม้กระทั่งในมหาสมุทร

สถานการณ์ดังกล่าวทำให้ไพเกิดความคิดที่จะแก้ปัญหาทั้งสองอย่าง ด้วยการก่อตั้งบริษัท โพรโตพรินท์ (Protoprint) ขึ้นในปี 2012 ร่วมกับครอบครัว เพื่อแก้ปัญหาขยะพลาสติกเหลือทิ้ง และช่วยให้คนเก็บขยะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

จากพลาสติกสู่หมึกพิมพ์ 3 มิติ แก้ขยะล้น-ความยากจนเรื้อรัง

“จุดมุ่งหมายของเราคือการหาหนทางที่แตกต่างกันหลายอย่างในการเพิ่มมูลค่าขยะพลาสติกเหล่านั้น” ไพ กล่าว และมองว่าเขาสามารถหาทางเพิ่มมูลค่าขยะพลาสติกได้ด้วยการเปลี่ยนให้กลายเป็นวัตถุดิบชนิดอื่น ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาขยะล้นได้อย่างตรงจุดกว่าการนำขยะไปขายต่อ

หลังใช้เวลาทดลองแปรรูปขยะพลาสติกเป็นเวลาหลายครั้ง โพรโตพรินท์ของไพก็พบทางออกที่ลงตัวด้วยการนำพลาสติกเหลือทิ้งไปทำเป็นเส้นพลาสติกที่ใช้เป็นหมึกพิมพ์สำหรับเครื่องพิมพ์ 3 มิติ (Filament)

“มันช่วยเพิ่มมูลค่าให้ขยะพลาสติกอย่างมหาศาล และขั้นตอนการผลิตก็ไม่ยุ่งยากเลย” ไพ อธิบาย

จากพลาสติกสู่หมึกพิมพ์ 3 มิติ แก้ขยะล้น-ความยากจนเรื้อรัง

และเพื่อผลิตเส้นพลาสติกให้เพียงพอโพรโตพรินท์จับมือเป็นพันธมิตรกับ SWaCH ชุมชนคนเก็บขยะท้องถิ่นในเมืองปูเน่ เพื่อร่วมกันแปรรูปขยะพลาสติกเป็นเส้นพลาสติก ซึ่งทำขึ้นจากขวดพลาสติกโพลีเอธิลีน แล้วนำไปจำหน่ายให้บรรดาธุรกิจการพิมพ์ 3 มิติทั่วอินเดียต่อไป

ทั้งนี้ การขายขยะพลาสติกให้โพรโตพรินท์ช่วยสร้างรายได้มากขึ้นให้คนเก็บขยะ โดยโพรโตพรินท์รับซื้อขยะพลาสติก 300 รูปี (ราว 157 บาท) ต่อ 1 กิโลกรัม มากกว่าราคาของคนรับซื้อขยะทั่วไปในอินเดียที่ 19 รูปี (ราว 10 บาท) นอกจากนี้ราคารับซื้อของโพรโตพรินท์ยังสูงกว่าราคารับซื้อขยะพลาสติกในสหรัฐด้วยเช่นกัน โดยพลาสติก นิวส์ รีเสิร์ช หน่วยงานวิจัยตลาดอุตสาหกรรมพลาสติก เปิดเผยว่า ราคารับซื้อขยะพลาสติกในสหรัฐอยู่ที่ 1.3 เหรียญสหรัฐ (ราว 44 บาท) ต่อ 1 กิโลกรัม

เปิดตลาดหมึกพิมพ์ 3 มิติยุคใหม่

ในปัจจุบันธุรกิจการพิมพ์ 3 มิติกำลังขยายตัวสดใส ส่งผลให้ความต้องการเส้นพลาสติกสำหรับใช้ในการพิมพ์ 3 มิติเพิ่มขึ้นตามไปด้วย โดยหนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียน รายงานว่า ตลาดวัสดุการพิมพ์ 3 มิติ คาดว่าจะโตขึ้นเกือบ 266% ภายในอีก 5 ปีข้างหน้า คิดเป็นมูลค่า 1,070 ล้านปอนด์ (ราว 4.6 หมื่นล้านบาท) ภายในปี 2021

จากพลาสติกสู่หมึกพิมพ์ 3 มิติ แก้ขยะล้น-ความยากจนเรื้อรัง

อย่างไรก็ดี ต้นทุนการผลิตเส้นพลาสติกสำหรับการพิมพ์ 3 มิติยังมีค่าใช้จ่ายสูงมาก เนื่องจากทำจากพลาสติกบริสุทธิ์ สถานการณ์ดังกล่าวจึงนับเป็นโอกาสทางธุรกิจสำหรับสตาร์ทอัพน้องใหม่อย่างโพรโตพรินท์  

ไพ เปิดเผยว่า โพรโตพรินท์ตั้งเป้าจำหน่ายเส้นพลาสติกไปให้บริษัทเครื่องพิมพ์ 3 มิติทั่วโลก และเขาเชื่อมั่นว่าการนำขยะพลาสติกมาแปรรูปเป็นเส้นพลาสติกดังกล่าวจะช่วยลดปริมาณขยะได้จำนวนมาก รวมถึงเป็นการเปิดแนวทางใหม่ในการช่วยลดต้นทุนของอุตสาหกรรมการพิมพ์ 3 มิติ เนื่องจากเส้นพลาสติกของบริษัทมีค่าใช้จ่ายในการผลิตต่ำกว่า

โพรโตพรินท์ เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทมียอดพรีออร์เดอร์เส้นพลาสติกการพิมพ์แล้ว 4,000 กิโลกรัม โดยส่วนใหญ่มาจากธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กในสหรัฐ อังกฤษ เยอรมนี และอินเดีย ซึ่งต้องการตัวอย่างเส้นพลาสติกรูปแบบใหม่ไปใช้ทดลองพิมพ์ก่อน

แม้เอกชนหลายรายเริ่มให้ความสนใจเส้นพลาสติกดังกล่าวที่แปรรูปมาจากขยะพลาสติก แต่โพรโตพรินท์ยังไม่สามารถดำเนินการผลิตเส้นพลาสติกดังกล่าวในเชิงพาณิชย์ได้

จากพลาสติกสู่หมึกพิมพ์ 3 มิติ แก้ขยะล้น-ความยากจนเรื้อรัง

“เรายังไม่ได้เริ่มการผลิตเส้นพลาสติกจากขยะในเชิงพาณิชย์ และกำลังอยู่ระหว่างการปรับปรุงคุณภาพผลิตภัณฑ์อยู่” ไพ กล่าว

สาเหตุสำคัญที่ทำให้โพรโตพรินท์ยังไม่สามารถดำเนินการดังกล่าวได้นั้น มาจากการที่อุตสาหกรรมการพิมพ์ 3 มิติยังไม่มีการกำหนดมาตรฐานเส้นพลาสติกที่แปรรูปมาจากขยะพลาสติก ซึ่งถือเป็นความท้าทายครั้งใหญ่สำหรับทั้งภาคอุตสาหกรรม

อย่างไรก็ดี ปัญหาเรื่องการรับรองคุณภาพไม่ได้ยากเกินแก้ไข และคงไม่ทำให้ธุรกิจโพรโตพรินท์ที่มีจุดมุ่งหมายทำเพื่อสังคมต้องสะดุดลง

“เส้นพลาสติกแปรรูปจากขยะอาจดูไม่สวยงามเหมือนที่ผลิตจากพลาสติกบริสุทธิ์ แต่ก็เหมาะนำไปใช้ในการผลิตบางประเภท เช่น ใช้ทำผลิตภัณฑ์ต้นแบบก่อนการผลิตจริง หรือใช้ทำโครงร่างผลิตภัณฑ์ที่อยู่ระหว่างการพัฒนาปรับปรุงรูปลักษณ์” โทมัส เบิร์ตช์เนล อาจารย์ด้านธุรกิจการพิมพ์ 3 มิติ จากมหาวิทยาลัยวูลลองกองในออสเตรเลีย กล่าว

เหนือสิ่งอื่นใด เส้นพลาสติกแปรรูปจากขยะที่ร่วมผลิตโดยคนเก็บขยะในท้องถิ่น ถือเป็นโอกาสสำคัญที่ทำให้คนกลุ่มนี้มีหนทางสร้างรายได้เพิ่ม เพื่อนำไปปรับปรุงคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น เข้าทำนองแนวคิด “ขยะท้องถิ่น แปรรูปโดยคนท้องถิ่น เพื่อประโยชน์ของชุมชนท้องถิ่นอย่างแท้จริง” ซึ่งจะปูทางสู่การพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต