posttoday

‘สาร’ ประกอบระเบิด

28 พฤษภาคม 2560

10 ปีก่อน เมื่อสถานการณ์ความรุนแรงชายแดนภาคใต้ปะทุขึ้น ครูและโรงเรียนเป็นเป้าหมายการก่อเหตุมากที่สุด การยิงครู

โดย...อภิวัจ สุปรีชาวุฒิพงศ์

10 ปีก่อน เมื่อสถานการณ์ความรุนแรงชายแดนภาคใต้ปะทุขึ้น ครูและโรงเรียนเป็นเป้าหมายการก่อเหตุมากที่สุด การยิงครู เผาโรงเรียน เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า สมมติฐานที่คาดการณ์กันคือ ครูไม่มีอาวุธ สามารถลงมือก่อเหตุได้ง่ายกว่าเป้าหมายที่มีอาวุธอย่างทหารหรือตำรวจ

แต่ถึงแม้จะรักษาความปลอดภัยเข้มงวดมากขึ้น ครูและโรงเรียนก็ยังไม่พ้นการตกเป็นเป้า ปมเงื่อนที่พบใหม่ กลายเป็นว่า ในพื้นที่สีแดงนั้น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน กลไกปกครองท้องถิ่นของรัฐนั้นถูกบังคับให้เลือกฝ่าย ส่วนใหญ่สงบนิ่งไม่แสดงบทบาท อีกไม่น้อยไม่กล้าอยู่ในพื้นที่ โรงเรียนจึงเป็นสัญลักษณ์สุดท้ายของอำนาจรัฐที่หลงเหลืออยู่ในชุมชน

ทุกเรื่องราวย่อมมีเหตุผลคำอธิบาย

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ความรุนแรงเกิดขึ้นในหลายมุมโลก การระเบิดพลีชีพระหว่างการแสดงคอนเสิร์ต ที่เมืองแมนเชสเตอร์ ประเทศอังกฤษ ผู้เคราะห์ร้ายส่วนใหญ่เป็นเด็กวัยรุ่น ใกล้บ้านเรา ที่ประเทศอินโดนีเซีย ก็มีเหตุระเบิดพลีชีพ 2 ครั้ง ที่สถานีรถโดยสารในกรุงจาการ์ตา น่าสนใจว่า นี่คือการระเบิดพลีชีพครั้งแรกในภูมิภาคอาเซียน

ขณะที่ประเทศฟิลิปปินส์ เกิดเหตุกลุ่มติดอาวุธบุกยึดเมืองมาราวี มีการคุกคามประชาชนที่ไม่ได้นับถือศาสนาอิสลาม

และที่เมืองไทย เกิดเหตุระเบิดภายในโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า มีผู้บาดเจ็บกว่า 20 คน

น่าสนใจอย่างยิ่งที่จุดร่วมอย่างหนึ่งของทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่างมุมโลก คือ เป้าหมายของการก่อเหตุเป็นพลเรือนที่อยู่ในพื้นที่สาธารณะ

เหตุการณ์ที่แมนเชสเตอร์ เทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ประณามว่าเป็น “การสร้างความหวาดกลัวที่ขี้ขลาดและน่าขยะแขยง”

มุมมองของผู้นำหญิงแห่งอังกฤษฟังแล้วน่าจะสมเหตุสมผล แต่หากเทียบเคียงกับสิ่งที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้านี้ไม่นานนัก เมื่อสหรัฐใช้ระเบิดขนาดใหญ่จุดชนวนกลางอากาศหรือที่เรียกกันว่า “แม่ของระเบิดทั้งมวล” ถล่มที่มั่นกลุ่มก่อการร้ายในอัฟกานิสถาน ซึ่งหากไม่นับถึงอาวุธนิวเคลียร์ ระเบิดดังกล่าวถือว่ามีอานุภาพทำลายล้างรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์สงคราม

ฮามิด คาร์ไซ อดีตประธานาธิบดีอัฟกานิสถาน แสดงความเห็นว่า “นี่ไม่ใช่สงครามต่อต้านการก่อการร้าย แต่เป็นการใช้แผ่นดินของเราในทางที่ผิดอย่างไร้มนุษยธรรมและโหดร้ายเพื่อเป็นที่ทดลองอาวุธใหม่และอันตรายเช่นนี้”

วิธีการของผู้ก่อการร้ายซึ่งเลือกเป้าหมายพื้นที่สาธารณะ อาจไม่ต่างอะไรกับการที่ประเทศมหาอำนาจเลือกพื้นที่ทำลายล้างขนาดใหญ่ ซึ่งมีความเสี่ยงที่ผู้ซึ่งไม่ใช่คู่ขัดแย้งจะได้รับผลกระทบไปด้วย

แต่จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีผู้แสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ที่เมืองไทย ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเกรี้ยวกราดที่จะจับกุมผู้ก่อเหตุมาดำเนินคดี และต้องการคำตอบว่า “ทำไมต้องก่อเหตุในโรงพยาบาล”

ยังไม่มีคำตอบจากผู้ก่อเหตุ ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงวิเคราะห์ว่า เหตุการณ์จากทุกมุมโลกในครั้งนี้สะท้อนว่า สงครามไม่ได้อยู่ในป่าหรือในทะเลทรายอีกต่อไป ความรุนแรงพร้อมจะปะทุขึ้นในพื้นที่สาธารณะใกล้ๆ บ้านเรา หรือรอบๆ ตัวเรา

หากตีความสารที่ผู้ก่อเหตุต้องการสื่อออกมา อาจเป็นคำเตือนให้ตระหนักถึงความไม่คำนึงถึงความชอบธรรม หลักการใดๆ อีกต่อไป หากจะต้องก่อความรุนแรง

เมื่อมิอาจหวังให้ผู้ก่อการร้ายและอภิมหาอำนาจคู่ขัดแย้งเปลี่ยนแปลงจุดยืนและวิธีการ สารครั้งนี้ เตือนให้เราต้องจริงจังกับความปลอดภัยสาธารณะกันอย่างจริงจัง

ความหงุดหงิดเมื่อต้องถูกตรวจค้น กล้องวงจรปิดที่ชำรุด จะต้องไม่เกิดขึ้นอีกต่อไป

งานข่าวกรองที่มีประสิทธิภาพเป็นสิ่งจำเป็นยิ่งกว่าการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ การนำตัวผู้ก่อเหตุมาลงโทษนั้นต้องทำ แต่ขณะเดียวกัน “รัฐ” ก็ต้องส่งสารอย่างเหมาะสม เพื่อป้องปรามใครก็ตามที่กำลังจะลงมือกระทำแบบนี้

ความรุนแรงนั้นอาจมีที่มาจากหลายสาเหตุ แต่การจัดการความรุนแรงนั้นต้องใช้วิธีการทางการเมืองที่เหมาะสม