posttoday

สธ.ยอมรับบุคลากรการแพทย์ทำงานหนักเหตุขาดแคลน วาง4แนวทางแก้

21 พฤษภาคม 2560

ปลัดสธ. ยอมรับบุคลากรสาธารณสุขทำงานลำบากภายใต้ทรัพยากรจำกัด เร่งวาง 4 แนวทางพัฒนากำลังคน ปฎิรูประบบบริการ

ปลัดสธ. ยอมรับบุคลากรสาธารณสุขทำงานลำบากภายใต้ทรัพยากรจำกัด เร่งวาง 4 แนวทางพัฒนากำลังคน ปฎิรูประบบบริการ

เมื่อวันที่ 21 พ.ค.  นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า การแก้ปัญหาขาดแคลนแพทย์ของประเทศไทย ส่วนตัวเป็นห่วง เห็นใจ และเข้าใจความยากลำบากในการทำงานของแพทย์ และบุคลากรสาธารณสุขทุกคน ที่พยายามทำงานเพื่อประชาชนให้ดีที่สุด ภายใต้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด  โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและผู้บริหารทุกคน ได้เร่งแก้ปัญหาทั้งการปฎิรูประบบบริการ แผนพัฒนากำลังคน ซึ่งเชื่อมั่นว่าระบบสุขภาพของประเทศจะดีขึ้น และมีความสมดุลระหว่างผู้ให้บริการกับผู้รับบริการ

เบื้องต้นได้วางแนวทางการแก้ปัญหาในอนาคตไว้ 4 ข้อ คือ 1.มอบผู้ตรวจราชการ นพ.สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลร่วมหารือ จัดเวลาทำงานให้เหมาะสมตามสภาพของโรงพยาบาล และจำนวนปริมาณผู้ป่วยและงาน 2.ให้ผู้อำนวยการโรงพยาบาล และผู้บริหารศูนย์แพทย์ศาสตร์ศึกษา คอยให้คำปรึกษาแพทย์จบใหม่ อย่าให้รู้สึกโดดเดี่ยว เมื่อมีปัญหาให้ร่วมกันแก้ปัญหา 3.เร่งจัดทำระเบียบช่วยเหลือเบื้องต้นกับบุคลากรที่ได้รับผลกระทบจากการให้บริการ และเสนอให้มีระเบียบเยียวยาช่วยเหลือ 4.พัฒนาระบบฉุกเฉินให้มีแพทย์สาขาเวชศาสตร์ฉุกเฉินดูแลในห้องฉุกเฉิน

ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ปัญหาการขาดแคลนแพทย์มีมานาน และมีความพยายามที่จะแก้ไขปัญหามาตลอด เมื่อ 20ปีก่อน สัดส่วนแพทย์ 1 คนดูแลประชาชนถึง 5,000 คน  แต่ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข ที่เป็นหน่วยงานในการดูแลประชาชน บางพื้นที่ต้องดูแลถึง 1 ต่อ 30,000 คน จึงต้องเร่งผลิตแพทย์เพิ่มจึงเกิดเป็นโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบทขึ้นมา โดยตลอด 23 ปีของโครงการฯ ช่วยเพิ่มการผลิตแพทย์เข้าสู่ระบบได้มากถึง 7,000 คน และยังคงปฏิบัติหน้าที่ในโรงพยาบาลชุมชน กระทรวงสาธารณสุข ทำให้ปัจจุบันสัดส่วนแพทย์ต่อประชากรในภาพรวมดีขึ้นเป็น 1 ต่อ 1,900 คน และบางพื้นที่อาจ 1 ต่อ 10,000 ซึ่งยังไม่เพียงพอตามภาระงานและจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้นรวมทั้งการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ล่าสุดได้เพิ่มการผลิตแพทย์ ในโครงเพิ่มจากปีละ 3,000 เป็นปีละ 3,200 คน  คาดว่าใน 10 ปีข้างหน้าจะมีแพทย์ต่อประชากร 1 ต่อ 1250 คน

อย่างไรก็ตาม นอกจากจะเพิ่มจำนวนแพทย์แล้ว สิ่งที่ต้องตระหนักและให้ความสำคัญคือ มาตรฐานการรักษา ตอบสนองความต้องการของสังคมด้านคุณภาพการรักษา โดยเฉพาะแพทย์จบใหม่ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมมือกับแพทยสภาดูแลแพทย์กลุ่มนี้เป็นพิเศษ โดยกำหนดให้มีหลักสูตร "แพทย์เพิ่มพูนทักษะ" เพื่อให้แพทย์จบใหม่ทุกคนในประเทศไทย ผ่านหลักสูตรนี้เป็นระยะเวลา 1 ปี  ภายใต้การกำกับดูแลอย่างใกล้ชิดของแพทย์พี่เลี้ยง และอาจารย์แพทย์ ทั้งนี้เพื่อประโยชน์แก่ตัวแพทย์เอง รวมถึงผู้ป่วยด้วย

นอกจากนี้ยังมีคณะกรรมการเพื่อตรวจประเมินสถาบันและโรงพยาบาลที่ฝึกอบรมแพทย์กลุ่มนี้อย่างใกล้ชิด ทั้งในระดับเขตสุขภาพ และในระดับโรงพยาบาลที่มีองค์กรแพทย์ ซึ่งประกอบไปด้วยแพทย์และทันตแพทย์ทั้งโรงพยาบาล ร่วมกันดูแลแพทย์กลุ่มนี้อย่างใกล้ชิด  ทั้งนี้เพื่อให้แพทย์จบใหม่ทุกคนมีทักษะ ประสบการการณ์ ให้บริการประชาชนด้วยความมั่นใจ และจะร่วมหารือแพทยสภา ราชวิทยาลัย และคณะแพทย์เพื่อหาทางออกในเรื่องนี้ที่เหมาะสมต่อไป        

นอกจากนี้ นพ.โสภณ เปิดเผยว่า ความคืบหน้าการจัดสรรงบประมาณที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้กระทรวงสาธารณสุข 5,000 ล้านบาท เพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่องของโรงพยาบาล โดยจะดำเนินการจัดสรรงบประมาณแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ 1.ค่าใช้จ่ายผู้ป่วยในและสนับสนุนการดูแลรักษาผู้ป่วยทารกวิกฤต จำนวน 3,300 ล้านบาท ให้กระจายในโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลศูนย์ และโรงพยาบาลทั่วไป 860 แห่ง 2.ค่าตอบแทนบุคลากร รวมทั้งการจ่ายค่าตอบแทนตามผลการปฏิบัติงาน (P4P) 1,000 ล้านบาท ในโรงพยาบาลทุกระดับ และ 3.ชำระต้นทุนการบริการส่วนขาดจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งเป็นบริการที่ทำได้เกินเป้าหมายในปีงบประมาณ 2559 เช่น การดูแลผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง การผ่าตัดตาต้อกระจก ผ่าตัดข้อเข่า การรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ เป็นต้น จำนวน 600 ล้านบาท

นอกจากนี้ ให้ทุกโรงพยาบาลปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารโดยเน้นจัดการ 5 เรื่อง คือ 1.มีแผนใช้จ่ายเงิน 2.การบัญชีมาตรฐาน ตรวจสอบได้ 3.เพิ่มการจัดเก็บรายได้ เพื่อเพิ่มรายรับให้กับโรงพยาบาล เน้นในโรงพยาบาลที่มีห้องพิเศษ หากมีการรอคิวยาวให้เพิ่มจำนวนห้องขึ้น การเปิดคลินิกพิเศษนอกเวลาราชการ คลินิกทันตกรรมนอกเวลา เป็นต้น  4.ลดรายจ่าย เช่น มาตรการประหยัด ค่าสาธารณูปโภคต่างๆ การส่งเสริมสุขภาพเพื่อลดโรคไม่ติดต่อ การเปิดคลินิกหมอครอบครัว และ5.การบริหารพัสดุ

สธ.ยอมรับบุคลากรการแพทย์ทำงานหนักเหตุขาดแคลน วาง4แนวทางแก้

สธ.ยอมรับบุคลากรการแพทย์ทำงานหนักเหตุขาดแคลน วาง4แนวทางแก้

สธ.ยอมรับบุคลากรการแพทย์ทำงานหนักเหตุขาดแคลน วาง4แนวทางแก้