posttoday

ตร.ขานรับพร้อมย้ายสังกัด "ยุติธรรม"

19 พฤษภาคม 2560

ตำรวจ ขานรับสังกัด ‘ยุติธรรม’ พร้อมยึดประชาชนเป็นที่ตั้ง ปัดล็อคสเปค ผบ.ตร.

ตำรวจ ขานรับสังกัด ‘ยุติธรรม’ พร้อมยึดประชาชนเป็นที่ตั้ง ปัดล็อคสเปค ผบ.ตร.

เมื่อวันที่ 19  พ.ค. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.) พล.ต.ต.ทรงพล วัธนะชัย ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 6 ในฐานะรองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวถึงกรณีที่ คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อศึกษาแผนการปฏิรูปกิจการตำรวจ ในคณะกรรมการประสานงานระหว่างสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.)  โดยพล.ต.ท.บุญเรือง ผลพานิชย์ ประธานคณะอนุกรรมการ เสนอรายงานการปฏิรูปตำรวจ เตรียมนำเข้าที่ประชุมวิป3ฝ่าย ให้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงยุติธรรม  ขณะที่การแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) มีหลักเกณฑ์ต้องผ่านงานสอบสวนอย่างน้อย 2 ปี และร่วมรับผิดชอบสำนวนสอบสวนไม่น้อยกว่า 70 คดี และปรับปรุงเงินเดือนตำรวจให้เพียงพอต่อดำรงชีพ ว่า เป็นแนวคิดที่ผ่านการศึกษามาแล้วว่าตำรวจในอนาคตควรจะเป็นแบบใด ซึ่งมีการนำเสนอผ่านสื่อมวลชนไปแล้ว

"ทั้งนี้ทั้งนั้นเราในฐานะผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ ในฐานะเป็นตำรวจ ก็พร้อมเสมอ เมื่อคณะรัฐบาลมีความเห็นว่าจะให้เราปฏิบัติหน้าที่ในรูปแบบใด เราก็ยังคงเป็นผู้รักษากฎหมายเช่นเดิม รูปแบบไหนเราก็ยินดีน้อมรับหมด ไม่มีปัญหาอยู่แล้ว" รองโฆษกตร.กล่าว และว่าอำนาจหน้าที่ตำรวจก็ยังเป็นเช่นเดิมตามที่กฎหมายกำหนด จะมีอะไรกระทบหรือ ไม่มีอะไรกระทบเลย การดำเนินการใดๆคำนึงถึงความยุติธรรมอยู่แล้ว แม้กระทรวงยุติธรรมจะมีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ อยู่   แต่อำนาจการสอบสวนแตกต่างกันคดีในอำนาจสอบสวนของตำรวจ ตำรวจก็ดำเนินการ  อะไรที่เป็นคดีพิเศษ ดีเอสไอก็ดำเนินการไป ไม่มีปัญหาเลย

เมื่อถามว่าการไปสังกัดกระทรวงยุติธรรม ข้อดีหรือข้อเสียมากกว่ากัน รองโฆษกตร.กล่าวว่าเอาประชาชนเป็นตัวตั้งดีกว่า ถ้าบอกว่าประชาชนได้ประโยชน์มากกว่า แบบนี้ ถูกต้องเลย ส่วนจะระบุว่าเป็นแนวคิดที่ดีหรือไม่ต้องขึ้นอยู่กับผู้บังคับบัญชา เราทำอยู่แบบทุกวันนี้เราก็ว่าดี แต่ในเมื่อผู้บังคับบัญชาเห็นว่าควรปรับ เราก็รับได้หมด อันนี้เป็นนโยบายรัฐบาลก็ต้องดำเนินการไปในส่วนไหน รูปแบบจะออกมาอย่างไร ตำรวจรับได้หมด มั่นใจว่าไม่มีแรงต้าน ก็ไม่เห็นมีใครออกมาต้าน

รองโฆษกตร.กล่าวว่า ที่ตนมาพูดก็ในฐานะรองโฆษกตร.ไม่ใช่ความเห็นส่วนตัว แต่ในฐานะสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อผู้บริหารเห็นควรอย่างไรเราก็ต้องดำเนินการโดยเชื่อว่าไม่ว่าจะอยู่ตรงไหนประชาชนก็ได้ประโยชน์อยู่แล้ว แต่เมื่อมีการพิจารณาแล้วว่าวันนี้ ตร.ควรขึ้นกับกระทรวงยุติธรรมก็ถือเป็นนโยบายที่ต้องปฏิบัติตาม และตนไม่ขอออกความเห็นในประเด็นแนวคิดที่ให้กลับไปสังกัดกระทรวงอีกครั้ง หลังจากเคยอยู่สังกัดมหาดไทย ออกมาเป็นหน่วยขึ้นตรงสำนักนายกรัฐมนตรี แล้วจะกลับไปสังกัดกระทรวงยุติธรรมอีก อย่างไรก็ตามตำรวจก็ทำงานไปตามปกติ และไม่ซ้ำซ้อนกับดีเอสไอแน่นอน

เมื่อถามว่าเป็นเรื่องศักดิ์ศรีองค์กรหรือไม่  เหตุใดตำรวจจึงเป็นหน่วยที่ถูกซัดไปซัดมา ของรองโฆษกตร.กล่าวว่า เราไม่คิดอย่างนั้น เราเอาประชาชนเป็นที่ตั้ง และแนวคิดนี้มาจากไหน กลุ่มอดีตข้าราชการตำรวจกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือไม่หรือเป็นรูปแบบของประเทศใดหรือไม่ ตนไม่ทราบ ต้องไปถามผู้เสนอแนวคิด ซึ่งแนวคิดนี้ก็มาจากแนวคิดที่คณะปฏิรูปของตร.เสนอไปด้วย แต่ไม่แน่ใจว่าประเด็นการไปสังกัดกระทรวงยุติธรรมเป็นแนวคิดที่ชุดปฏิรูปของตร.เสนอไปหรือไม่ ย้ำว่าเมื่อนโยบายเป็นอย่างไรเราต้องทำอย่างนั้น ตำรวจอยู่ที่ไหนก็ยังเป็นตำรวจ และไม่ขอย้อนถึงแนวคิดในอดีต ขอให้พูดตรงนี้ว่าผู้บริหารเห็นควร เหมาะสมให้ตำรวจอยู่ตรงไหนก็ต้องรับตามนั้น และไม่สามารถตอบได้ว่าวิป 3 ฝ่ายจะเห็นด้วยหรือไม่

"นโยบายเป็นอย่างไร เราดำเนินการได้หมด ไม่ต้องกังวลแทนตำรวจ เรามีหน้าที่รักษากฎหมาย จะอยู่กับใคร ใครมาเป็นผู้บังคับบัญชาเรารับได้หมด ตำรวจแต่ละคนก็มีสิทธิแสดงความคิดเห็นต่อเรื่องนี้ได้ ไม่ต้องห่วงตำรวจ ตำรวจอยู่ไหนก็ได้ เรายังเป็นเสาหลักการอำนวยความยุติธรรม เป็นต้นธารความยุติธรรมอยู่ และเชื่อมั่นว่าจะประสานงาน ร่วมมือกับดีเอสไอได้ อย่าไปตั้งข้อสังเกตุอะไรเลย อย่าไปพูดถึงข้อดีในอนาคตเลย เป็นนโยบายก็น้อมรับ เรื่องนี้ไม่มีการกดดัน  " พล.ต.ต.ทรงพล กล่าวและว่า ไม่ขอออกความเห็นว่าเป็นการตั้งธงไว้หรือไม่ ส่วนการกำหนดให้ผบ.ตร.ต้องผ่านการทำสำนวนคดีมาก่อน 2ปี 70สำนวน ก็เป็นหลักการ ต้องถามว่าถ้ามีประสบการณ์รอบรู้มันดีหรือไม่ ถ้าดีก็ดี อย่าไปคิดว่ามาจากสมมติฐานว่าผบ.ตร.ที่ผ่านมาไม่มีประสบการณ์การสอบสวน  และเชื่อว่านี่ไม่ใช่การล็อคสเปค ผบ.ตร.ในอนาคตแต่อย่างใด