posttoday

สธ.เร่งแก้ปัญหาปมบรรจุพยาบาลจ่อชง"วิษณุ"ตั้งคณะทำงานร่วม

11 พฤษภาคม 2560

“วิษณุ”แนะพยาบาลอ่านคำชี้แจง ก.พ. เผยไม่บรรจุเพิ่มมีเหตุผลมากกว่าแค่ประหยัดงบ ด้าน รมว.สธ. แจง อาจเข้าใจคลาดเคลื่อน เสนอ วิษณุ ตั้งคณะทำงานร่วม

“วิษณุ”แนะพยาบาลอ่านคำชี้แจง ก.พ. เผยไม่บรรจุเพิ่มมีเหตุผลมากกว่าแค่ประหยัดงบ ด้าน รมว.สธ. แจง อาจเข้าใจคลาดเคลื่อน เสนอ วิษณุ ตั้งคณะทำงานร่วม

เมื่อเวลา 11.15 น. วันที่ 11 พ.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีพยาบาลวิชาชีพชั่วคราวขู่ลาออก เนื่องจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ 9 พ.ค.ที่ผ่านมา มีมติไม่อนุมัติบรรจุเข้ารับราชการ 10,992 อัตราว่า ทราบว่าทางสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) จะชี้แจงหรืออาจชี้แจงไปแล้ว เพราะเรื่องนี้คณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ(คปร.) พิจารณาอย่างละเอียดหลายครั้ง ได้ผ่อนให้ไปจำนวนมากแล้วหลายอัตรา ขึ้นอยู่กับกระทรวงสาธารณสุขจะเอาอัตราเหล่านั้นไปจัดสรรอย่างไร บางคนอาจสมประโยชน์และที่ไม่สมประโยชน์ เป็นเรื่องของทางกระทรวงฯ สิ่งที่ ก.พ. ออกคำชี้แจงไปถือว่าชัดเจนแล้ว อยากให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้อ่าน

เมื่อถามว่าเหตุผลที่ไม่เปิดบรรจุเนื่องจากต้องการประหยัดงบประมาณใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า มีอะไรมากกว่านั้น ถ้าจะตอบว่าไม่เกี่ยวกับการประหยัดก็ไม่ใช่ เพราะต้องประหยัด แต่ไม่ใช่เหตุผลใหญ่ มีอีกหลายเหตุ ถ้าเอาตามอัตราที่แต่ละกระทรวงเรียกร้องให้บรรจุ ต้องเพิ่มอัตรากำลังอีกเป็นแสนคน ขณะที่ข้าราชการทั่วประเทศ ตลอด 10-20 ปี ที่ผ่านมา ตั้งแต่รัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร ทำปฏิรูประบบราชการสามารถตรึงอัตรากำลังไว้ได้ที่ประมาณ 4 แสนคน ถือว่าน่าพอใจ

เมื่อถามว่า จะมีผลกระทบหรือไม่ เพราะพยาบาลกลุ่มนี้ขู่ลาออกหากไม่ได้รับการบรรจุ นายวิษณุ กล่าวว่า ขอให้ฟังคำชี้แจงของก.พ. มีอะไรให้ทางกระทรวงเจรจาบอกความจำเป็น แต่อัตราที่ก.พ.ให้ไปก็เป็นจำนวนหมื่นแล้ว

ด้าน นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข. และ ดร.กฤษดา แสวงดี อุปนายกสภาการพยาบาล ชี้แจงกรณีครม.อนุมัติอัตราข้าราชการตั้งใหม่ให้ สธ.ตามมติ คปร.  (คณะกรรมการกำหนดเป้าหมาย และนโยบายกำลังพลภาครัฐ )ในตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพ 450 อัตราเพื่อบรรจุ โครงการผลิตพยาบาลเพื่อจังหวัดชายแดน ให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล พื้นที่ชายแดน แต่ไม่อนุมัติอัตราข้าราชการพยาบาลวิชาชีพตั้งใหม่ 10,992 อัตรา และให้ สธ.นำตำแหน่งว่างมาบริหาร รองรับบรรจุพยาบาลตามจำเป็น ว่า เรื่องนี้คงเป็นความเข้าใจไม่ตรงกัน และคาดเคลื่อน ซึ่งนายกรัฐมนตรีเองก็มีความห่วงใยในเรื่อง ได้เขียนโน้ตมาสอบถามในที่ประชุม ครม. ด้วย  ตัวเอง ยืนยันว่าทุกฝ่ายเห็นความสำคัญกับบุคลากรพยาบาล ในฐานะที่เป็นวิชาชีพที่มีจำนวนมากที่สุด ถึง 100,000 คน  ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขทบทวนดูข้อมูล ก็พบว่า การขออัตรากำลังครั้งนี้ จำนวน 10,992 อัตรา เป็นการขออัตรากำลัง 3 ปี  ไม่ใช่ปีเดียวบรรจุทันที 10,000 คน  ซึ่งปัญหาเช่นนี้มีเกิดขึ้นเกือบทุกปี เพื่อยุติปัญหา และข้อสงสัย สร้างความเข้าใจตรงกัน จึงมีแนวคิด เสนอให้จัดตั้งคณะกรรมการทำงานร่วม ระหว่าง กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) คณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังพลภาครัฐ. (ครป.) คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (กพ.) และมหาวิยาลัย มาศึกษาอัตรากำลังที่เหมาะสม ตำแหน่งข้าราชการที่แท้จริง โดยจะนำปรึกษานายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี  เพราะสำหรับกระทรวงสาธารณสุข ถือว่า ทำงานด้านการให้บริการ ต้องมีอัตรากำลังหมุนเวียน

นพ.โสภณ กล่าวว่า  ปัจจุบันจำนวนพยาบาลในกระทรวงฯมี 100,855 คน เป็นข้าราชการ 87,252 คน เป็นพนักงานราชการ 260 คน และพนักงานกระทรวงสาธารณสุข 6,538 คน และลูกจ้างชั่วคราว 6,805 คน ทั้งนี้ ปี 2559 บรรจุไปแล้ว 1,700 ตำแหน่ง และในปี 2560 มีจำนวนที่คำนวณตำแหน่งว่างแล้ว 2,621 ตำแหน่ง โดยมี 1,200 ตำแหน่งจะได้บรรจุภายใน 1-2 เดือน ซึ่งได้กระจายให้เขตตรวจราชการ   ดำเนินการแล้ว และอีก 600 ตำแหน่งได้บรรจุภายในเดือนกันยายน 2560 ขณะเดียวกันในเดือนตุลาคมจะมีพยาบาลเกษียณอายุราชการอีก 800 ตำแหน่ง ซึ่งก็จะว่างและสามารถบรรจุเพิ่มได้อีก

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ รองปลัดสธ. กล่าวว่า สำหรับอัตราตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพที่จะขอบรรจุเป็นข้าราชการจำนวน  10,992 ตำแหน่ง เป็นการคิดคำนวณ 3 ปีตั้งแต่ปี 2561-2563  ซึ่งเมื่อมีการจัดสรรเรื่องตำแหน่งว่างต่างๆ แล้ว โดยเฉพาะก็น่าจะลดลงไม่มาก จะอยู่ที่ตัวเลข 9,000-10,000 ตำแหน่งในกรอบระยะเวลา 3 ปี เฉลี่ยปีละประมาณ 3 พันตำแหน่ง  โดยเป็นตัวเลขที่คิดคำนวณแล้วว่า  หากได้จำนวนนี้ในแต่ละปี จะสามารถแก้ปัญหาพยาบาลวิชาชีพไม่เพียงพอในระบบได้ และในปี 2564 ก็อาจไม่ต้องขอตำแหน่งในส่วนนี้เพิ่มเติมอีก

ดร.กฤษดา  กล่าวว่า เรื่องที่บุคลากรมีการขู่ว่าจะลาออกภายใน 30 กันยายน 2560 นั้น ทางสภาการพยาบาลจะทำการคัดลอกสำเนาการประชุมครม. รวมถึงรายละเอียดการประชุมที่นายกรัฐมนตรีแสดงความห่วงใยเอาไว้ และอาจทำหนังสือเวียนแจ้งให้พยาบาลวิชาชีพทั่วประเทศทราบ  สำหรับการลาออกของพยาบาลจากโรงพยาบาลรัฐไปเอกชนนั้น มีอัตราเพิ่มขึ้นทุกปี ประมาณร้อยละ 20 ของพยาบาลจบใหม่ที่ทำงานไม่เกิน 3 ปี  โดยตัวเลขของปี 2559 มีพยาบาลลาออก 800 คน จาก 4,000 คน