posttoday

เหยื่อนายทุนเงินกู้นอกระบบภาคอีสานร้องยธ.ช่วย

09 พฤษภาคม 2560

ชาวอีสาน กว่า 30 คน ร้อง "รองปลัด ยธ." ถูกนายทุนเก็บดอกเบี้ยโหด โดนยึดบ้าน-ที่ดินทำกิน ระบุ บางรายทนไม่ไหวผูกคอตรอมใจตาย

ชาวอีสาน  กว่า 30 คน ร้อง "รองปลัด ยธ." ถูกนายทุนเก็บดอกเบี้ยโหด โดนยึดบ้าน-ที่ดินทำกิน ระบุ บางรายทนไม่ไหวผูกคอตรอมใจตาย

เมื่อวันที่ 9 พ.ค. เวลา 11.30 น. ที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) นายวิทยา ดีมี นำชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนจากนายทุนเงินกู้นอกระบบ ในหลายจังหวัดทางภาคอีสาน กว่า 30 คน เดินทางเข้าพบ พ.ต.อ.ดุษฎี อารยวุฒิ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม เพื่อขอความช่วยเหลือ หลังถูกนายทุนยึดที่ดินทำกินและเรียกเก็บดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด

นายวิทยา กล่าวว่า ชาวบ้านหลายจังหวัดในพื้นที่อีสาน เช่น จ.นครพนม จ.ร้อยเอ็ด จ.สกลนคร และจ.ชัยภูมิ ได้กู้เงินจากนายทุนเงินกู้รายใหญ่ ตั้งแต่ปี 2545 โดยให้เซ็นสัญญาขายฝากที่ดินและเรียกเก็บดอกเบี้ยเกินกฎหมายกำหนด หลังเคยขอความช่วยเหลือศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดและสำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อปี 2558 ต่อมากระทรวงยุติธรรมได้มอบหมายให้ศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้ลงไปตรวจสอบข้อเท็จจริงและให้ความช่วยเหลือชาวบ้าน โดยมีการนัดไกล่เกลี่ยระหว่างนายทุนและลูกหนี้ แต่สามารถช่วยเหลือได้เพียงบางรายเท่านั้นที่มีหลักฐานเอกสารชัดเจน แต่ก็ยังมีชาวบ้านส่วนใหญ่ที่ไม่ได้รับการช่วยเหลือ เนื่องจากไม่มีความรู้และเอกสารเอาไว้ จึงทำให้ชาวบ้านหลายรายถูกยึดบ้านและที่ดินทำกิน ไม่สามารถไถ่ถอนที่ดินทำกินจากนายทุนได้

นายวิทยา กล่าวว่า ส่วนบางชาวบ้านบางรายที่มีเงินพอจะไปไถ่ถอนที่ดินกลับคืนมา แต่ก็ถูกนายทุนบ่ายเบี่ยงและอ้างว่าเดินทางไปต่างประเทศ โดยขอให้จ่ายดอกเบี้ยไปก่อน ซึ่งพฤติการณ์ของนายทุนดังกล่าวไม่ได้ให้ความประนีประนอมกับชาวบ้าน โดยหวังแต่ดอกเบี้ยจากชาวบ้านเพียงอย่างเดียว และไม่เปิดโอกาสให้ชาวบ้านได้นำเงินไปใช้หนี้คืน นอกจากนี้ ยังทำสัญญาขายฝากที่ดินโดยมีการคิดดอกเบี้ยล่วงหน้า 3 เดือน เช่น บางรายกู้เงิน 5 แสนบาท แต่ได้รับเงินจริงเพียง  4.5 แสนบาท หลังจากนั้น ก็จะเรียกเก็บดอกเบี้ยทบต้นต่อไปเรื่อยๆ 

นางบัวสอน ต้นสุวรรณ ชาวบ้าน ต.นามะเขือ อ.ปลาปาก จ.นครพนม กล่าวว่า ตนนำที่ดินไปขายฝากกับนายทุนรายนี้เมื่อปี 2554 ในราคา 1.5 แสนบาท แต่ได้รับเงินจริงเพียง 1.3 แสนบาท ซึ่งเป็นสัญญาปีต่อปี โดยตนได้ส่งดอกเบี้ยทุกเดือน จากนั้น เมื่อปี 2555 จึงขอไถ่ถอนที่ดินคืน แต่นายหน้าอ้างว่านายทุนเดินทางไปต่างประเทศโดยขอให้เก็บเงินไว้ก่อน และให้จ่ายเพียงดอกเบี้ย ซึ่งตนก็จ่ายดอกเบี้ยมาตลอด กระทั่ง ปี 2557 กลับพบว่าเงินที่จ่ายไปทั้งต้นและดอก มีมูลค่า 5.5 แสนบาท จึงรู้สึกไม่สบายใจเพราะหนี้จริงไม่น่ามีจำนวนสูงถึงขนาดนี้ และเกรงว่าหากจ่ายดอกเบี้ยต่อไป โดยไม่สามารถไถ่ถอนที่ดินคืน จะทำให้ที่ดินตกเป็นของนายทุน นอกจากนี้ ที่ผ่านมาในหมู่บ้านของตนได้ตกเป็นเหยื่อของนายทุนรายนี้เป็นจำนวนมาก บางรายทนไม่ได้ก็ผูกคอตาย ตรอมใจจนเสียชีวิต จึงอยากขอให้กระทรวงยุติธรรมเข้าไปให้การช่วยเหลือ เพราะมีหลายรายถูกไล่ที่ ยึดบ้าน และไม่มีที่อยู่ที่ทำกิน

พ.ต.อ.ดุษฎี กล่าวว่า กรณีดังกล่าว กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) โดยศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้ เคยลงพื้นที่ไปรับฟังปัญหาและช่วยเหลือชาวบ้านได้บางส่วน แต่ในชั้นไกล่เกลี่ยและบังคับคดี เป็นเรื่องของจังหวัดที่จะนัดลูกหนี้และเจ้าหนี้มาพูดคุยในชั้นไกล่เกลี่ย อย่างไรก็ตาม หลังรับฟังปัญหาของชาวบ้านแล้ว ตนจะมอบหมายให้ พ.ต.ท.วิชัย สุวรรณประเสริฐ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีพิเศษ ดีเอสไอ ในฐานะเลขานุการศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม กระทรวงยุติธรรม ตรวจสอบอีกครั้ง ว่าผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนมีจำนวนเท่าใด และนายทุนรายนี้เรียกเก็บดอกเบี้ยเกินกฎหมายกำหนดหรือไม่

รองปลัด ยธ. กล่าวต่อว่า ซึ่งตามกฎหมายเก่าการดำเนินการเอาผิดโทษอาจจะไม่หนักเท่ากฎหมายใหม่ นอกจากนี้ ในส่วนของชาวบ้านที่ตกเป็นเหยื่อของนายทุนดังกล่าว ขอให้นำหลักฐาน เช่น ใบเสร็จรับเงิน เอกสารการขายฝาก ฯลฯ มายืนยันข้อเท็จริง ซึ่งทราบจากตัวแทนชาวบ้านว่าเบื้องต้นมีผู้เสียหายกว่า 200 คน