posttoday

เครือข่ายแรงงานจี้รัฐปรับค่าจ้างทุกปี

30 เมษายน 2560

เครือข่ายแรงงาน เรียกร้องรัฐบาลปรับโครงสร้างค่าจ้างตามความจริงและต้องปรับทุกปี เตรียมทำกิจกรรม 3 พันคน ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

เครือข่ายแรงงาน เรียกร้องรัฐบาลปรับโครงสร้างค่าจ้างตามความจริงและต้องปรับทุกปี เตรียมทำกิจกรรม 3 พันคน ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

เมื่อวันที่ 30  เม.ย.  นายชาลี ลอยสูง รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) เปิดเผยว่า 1 พ.ค.เนื่องในวันแรงงานแห่งชาติ คสรท. และเครือข่ายแรงงานต่างๆ ประมาณ 3,000 คน จะมีการจัดกิจกรรมเนื่องในวันแรงงานแห่งชาติ ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และ องค์การสหประชาชาติ โดยจะเริ่มตั้งแต่เวลา 09.00 น. ซึ่งจะมีพิธีเปิดงานที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยจะมีการเปิดข้อเรียกร้อง 10 ข้อ ตามที่เคยได้ไปยื่นหนังสือถึง นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาลไปแล้ว และจะมีกิจกรรมการปรับตัวของลูกจ้างในยุคข้ามผ่าน 3.0 สู่ยุค 4.0 จากนั้นจะเคลื่อนขบวนไปยังองค์การสหประชาติ เพื่อปิดกิจกรรม

"สาเหตุที่ไม่เข้าร่วมกับสภาองค์การลูกจ้างและสหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจแห่งประเทศไทย ที่จัดงานร่วมกับกระทรวงแรงงาน โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานนั้น เพราะมองว่า กิจกรรมดังกล่าวเป็นของภาครัฐ แม้ทางสภาองค์การลูกจ้างจะร่วมด้วย แต่ก็ได้รับงบประมาณจากภาครัฐถึง 4.9 ล้านบาท การจะเคลื่อนไหวอาจไม่เต็มที่ ทาง คสรท.จึงมองว่า วันแรงงานควรเป็นวันที่ลูกจ้างผู้ใช้แรงงานร่วมกันทำมากกว่า"

ขณะที่การเรียกร้องเรื่องขอปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ได้เสนอว่ารัฐต้องกำหนดค่าจ้างแรงงานที่เป็นธรรมให้ครอบคลุมกับผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน เช่น กำหนดให้มีโครงสร้างค่าจ้าง และ ปรับค่าจ้างทุกปี เพราะหากเรียกร้องให้ปรับค่าแรงขั้นต่ำ ยังไม่ทันจะปรับ เมื่อมีข่าวเรียกร้อง ผู้ประกอบการธุรกิจ ต่างก็ปรับราคาสินค้าอุปโภค บริโภค โดยมักอ้างว่า รัฐจะมีการปรับค่าแรง ทั้งๆที่รัฐยังไม่ได้ปรับ ดังนั้น คิดว่าควรปรับโครงสร้างค่าจ้างตามความเป็นจริง และปรับค่าจ้างทุกปีจะดีกว่า

สำหรับ 10 ข้อเรียกร้องของเครือข่ายแรงงานในปีนี้ ประกอบด้วย

1.รัฐต้องจัดให้มีรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าที่มีคุณภาพให้ประชาชนทุกคนได้เข้าถึงอย่างเท่าเทียมโดยไม่เลือกปฎิบัติ อาทิ ด้านสาธารณสุข ประชาชนทุกคนเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพและไม่มีค่าใช้จ่าย

2.รัฐต้องกำหนดค่าจ้างแรงงานที่เป็นธรรมให้ครอบคลุมผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน อาทิ กำหนดให้มีโครงสร้างค่าจ้าง และปรับค่าจ้างทุกปี

3.รัฐต้องให้สัตยาอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัวกัน และอนุสัญญาฯฉบับที่ 98 ว่าด้วยการปฎิบัติตามหลักการแห่งสิทธิในการรวมตัวและการร่วมเจรจาต่อรอง เพื่อสร้างหลักประกันในการรวมตัวและการเจรจาต่อรอง และอนุสัญญาฯ ฉบับที่ 183 ว่าด้วยการคุ้มครองความเป็นมารดา (ตามรัฐธรรมนูญ หมวด 3 มาตรา 48)

4.รัฐต้องปฎิรูปรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้เกิดการพัฒนาศักยภาพรัฐวิสาหกิจ ในการให้บริการที่ดีมีคุณภาพเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน อาทิ จัดตั้งกองทุนพัฒนารัฐวิสาหกิจ

5.รัฐต้องยกเลิกนโยบายที่ว่าด้วยการลดสวัสดิการพนักงานรัฐวิสาหกิจและครอบครัว

6.รัฐต้องปฎิรูประบบประกันสังคม เช่น จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม ในสัดส่วนที่เท่ากัน ระหว่างรัฐนายจ้าง ลูกจ้าง ตามหลักการของพรบ. ประกับสังคมพ.ศ.2533 และนำเงินส่งสมทบที่รัฐบาลค้างจ่ายให้เต็มตามจำนวน เพิ่มสิทธิประโยชน์ ผู้ประกันตนมาตรา 40 ให้เท่ากับมาตรา33 เป็นต้น

7.รัฐต้องดูแลให้มีการปฎิบัติตามและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด กรณีที่นายจ้างไม่จ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย เช่น การปิดกิจการ หรือยุบเลิกกิจการในทุกรูปแบบ (ตามรัฐธรรมหมวด 5 มาตรา 53)

8.รัฐต้องจัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงจากการลงทุนโดยให้นายจ้างจ่ายเงินเข้ากองทุนเพื่อเป็นหลักประกันในการคุ้มครองสิทธิแรงงาน เมื่อมีการยกเลิกหรือเลิกกิจการไม่ว่ากรณีใดก็ตาม

9.รัฐต้องเร่งรัดให้มีการพัฒนากลไกการเข้าถึงสิทธิ การบังคับใช้พ.ร.บ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวคล้อมในการทำงาน พ.ศ.2554 อย่างจริงจัง

10.รัฐต้องจัดสรรเงินงบให้กับสถาบันความปลอดภัยฯ เพื่อใช้ในการบริหารจัดการเรื่องความปลอดภัยให้มีประสิทธิภาพ