posttoday

สูงวัยอย่างสง่า ชราอย่างมีคุณภาพ

01 เมษายน 2560

ในอีก 10 ปีข้างหน้า คนวัยทำงานจะลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว สัดส่วนประชากรของไทยราว 67 ล้านคนจะมีผู้สูงอายุมากขึ้น

โดย...สมแขก ภาพ : สสส.

 ในอีก 10 ปีข้างหน้า คนวัยทำงานจะลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว สัดส่วนประชากรของไทยราว 67 ล้านคนจะมีผู้สูงอายุมากขึ้น กลุ่มคนที่หารายได้มีน้อยลง เท่ากับว่ารัฐจะเก็บภาษีได้น้อยลงไปด้วย

 ขณะที่ในมิติของสังคม ช่องว่างระหว่างวัยก็จะเป็นปัญหาสำคัญ เมื่อคนนิยมอยู่เป็นโสด ผู้สูงอายุจะถูกส่งไปดูแลในสถานบริการมากขึ้นและเต็มไปด้วยโรครุมเร้า

 จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คาดการณ์และประมาณประชากรในปี 2583 ว่า จำนวนผู้สูงอายุในช่วงวัย 60-69 ปี จะเพิ่มสูงขึ้น 14% ช่วงวัย 70-79 ปี เพิ่มขึ้น 12% และช่วงอายุ 80-89 ปี เพิ่มขึ้น 6.1%

 เมื่อจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นนอกจากการเตรียมพร้อมสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุแล้ว การพัฒนาผู้สูงอายุให้มีศักยภาพสามารถพึ่งพิงตนเองได้ก็ถือเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรละเลยเช่นกัน

 ทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยให้ผู้สูงอายุได้พัฒนาเพื่อเป็นผู้สูงอายุที่มีศักยภาพ (Active Ageing) คือ “โรงเรียนผู้สูงอายุ” ซึ่งเป็นสถานที่ผู้สูงอายุสามารถมีสุขภาวะที่ดีทั้งกาย จิต ปัญญา สังคม

 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) จัดเวทีแลกเปลี่ยน “การขับเคลื่อนผลักดันนโยบายโรงเรียนผู้สูงอายุสู่ชุมชน” เพื่อให้โรงเรียนผู้สูงอายุขับเคลื่อนไปอย่างมีประสิทธิภาพ มีหลักประกันที่มั่นคง ประสบความสำเร็จและสร้างคุณประโยชน์ให้แก่สังคมนำไปสู่การพึ่งพิงตนเองให้ได้นานที่สุด

 พญ.ลัดดา ดำริการเลิศ เลขาธิการมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) กล่าวถึงแนวทางพัฒนาผู้สูงอายุให้มีศักยภาพว่า ต้องทำให้ผู้สูงอายุสามารถพึ่งพาตนเองได้ มีคุณค่าและทรัพย์สิน ซึ่งผู้สูงอายุจะต้องได้รับการพัฒนาและการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถปรับตัวเข้าสู่สถานภาพใหม่ของการเป็นผู้สูงอายุ

 ปัจจุบันกลไกที่ทำให้ผู้สูงอายุรวมตัวกันได้ มีเพียงชมรมผู้สูงอายุที่มีอยู่กว่า 2 หมื่นชมรม บางส่วนมีความเข้มแข็งสามารถต่อยอดกิจกรรมเป็นโรงเรียนผู้สูงอายุที่มีกิจกรรมถ่ายทอดความรู้และการเรียนรู้ เพื่อยกระดับการเป็นผู้สูงอายุที่มีศักยภาพ

สูงวัยอย่างสง่า ชราอย่างมีคุณภาพ ภรณี ภู่ประเสริฐ

 “กิจกรรมในโรงเรียนผู้สูงอายุส่วนใหญ่เป็นกิจกรรมนันทนาการ แต่ต้องมีลักษณะการต่อยอดองค์ความรู้เช่น เรียนรู้การดูแลสุขภาพ การพัฒนาจิตใจ การมีสังคมเพื่อให้มีสุขภาพจิตที่ดี มีงานอดิเรกที่สร้างรายได้ หรือการสร้างคุณค่าตนเองสู่สังคม และสร้างความภาคถูมิใจในการทำงานให้เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะได้ ซึ่งโรงเรียนผู้สูงอายุจะเป็นกลไกที่ช่วยพัฒนาผู้สูงอายุเหล่านี้ได้ ฉะนั้นโรงเรียนผู้สูงอายุควรมีกิจกรรมที่จะพัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุให้มากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังเป็นแหล่งเรียนรู้และถ่ายทอดภูมิปัญญาของชุมชนที่ดีอีกด้วย” เลขาธิการ มส.ผส. กล่าวเพิ่มเติม

 ด้าน ศ.ศศิพัฒน์ ยอดเพชร นักวิจัย คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  กล่าวถึงแนวทางขับเคลื่อนโรงเรียนผู้สูงอายุให้มีประสิทธิภาพว่า จากกระแสโรงเรียนผู้สูงอายุที่เกิดขึ้นทำให้เมื่อมีกิจกรรมเกี่ยวกับผู้สูงอายุจะถูกเปลี่ยนให้เป็นโรงเรียนผู้สูงอายุ แต่มีหน่วยงานเพียงไม่กี่แห่งที่จัดทำหลักสูตร วิธีการถ่ายทอดความรู้ และการจัดห้องเรียนอย่างเหมาะสมกับการเป็นโรงเรียนผู้สูงอายุ

 ดังนั้น การจัดทำโครงสร้างหลักสูตรให้เป็นแนวทางเดียวกันคือ สิ่งที่ผู้สูงอายุต้องรู้ 50% คือความรู้ที่สำคัญต่อการดำเนินชีวิต สิ่งที่ผู้สูงอายุควรรู้ 30% คือ ความต่างของบริบทพื้นที่และวิถีการดำเนินชีวิต ควรมีการเสริมความรู้ที่แตกต่างกัน และสิ่งที่ผู้สูงอายุอยากรู้ 20% คือความรู้ที่สำคัญต่อการดำเนินชีวิต ซึ่งเป็นการกำหนดทิศทางของหลักสูตรคือการเรียนรู้เพื่อปฏิบัติได้จริง เรียนรู้เพื่ออยู่ร่วมกัน และเรียนรู้เพื่อชีวิต เพื่อเสริมทักษะให้ผู้สูงอายุสามารถดูแลตนเองได้ มีสุขภาวะทางกายและจิตใจที่ดี เกิดการพัฒนาความสามารถทางสังคม ควบคุมตนเองได้ ทำสิ่งที่ปรารถนาตามศักยภาพของตน ทำประโยชน์ให้สังคมและสามารถสร้างอาชีพเสริมได้

 ขณะที่ ภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ (สำนัก 9) สสส. กล่าวว่า การเข้าไปสนับสนุนโรงเรียนผู้สูงอายุ เป็นทางเลือกหนึ่งของกิจกรรมเพื่อสังคมและสุขภาพการดูแลตนเองของผู้สูงอายุ ปัจจุบันภาครัฐมีบทบาทในการสนับสนุนและโรงเรียนแต่ละแห่งมีการปรับให้มีความสอดคล้องตามบริบทของแต่ละพื้นที่ ซึ่งองค์ความรู้ในแต่ละพื้นที่มีอยู่แล้ว สสส.ช่วยรวบรวมให้เป็นระบบมากขึ้นและช่วยเติมสิ่งที่จำเป็นต้องรู้จากหลายๆ พื้นที่เพื่อให้เลือกเรียนได้ง่ายขึ้น อีกทั้งโรงเรียนผู้สูงอายุยังเป็นกิจกรรมที่จะนำไปสู่การมีสุขภาวะที่ดี