posttoday

ทช.จ่อฟันไกด์พานักท่องเที่ยวดำน้ำรบกวนฉลามวาฬ

22 มีนาคม 2560

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเร่งหาไกด์ทำผิดกม.พานักท่องเที่ยวดำน้ำรบกวนฉลามวาฬกลางอ่าวไทย

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเร่งหาไกด์ทำผิดกม.พานักดำน้ำรบกวนฉลามวาฬกลางอ่าวไทย

น.ส.สุทธิลักษณ์ ระวิวรรณ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยถึงกรณีผู้ใช้เฟซบุ๊ก สื่ออาสา ฅนค้นข่าว ได้เผยแพร่คลิปวีดีโอฉลามวาฬว่ายน้ำเล่นกับนักท่องเที่ยวที่เกาะเต่า จ.สุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 20 มีนาคม2560 ว่า กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้ดำเนินการตรวจสอบพบว่าคลิปที่ปรากฎนั้นเป็นคลิปจริง ซึ่งในช่วงเดือนมีนาคมของทุกปี มีรายงานการพบฉลามวาฬได้ในพื้นที่เกาะชายฝั่งของจ.ชุมพร และสุราษฏร์ธานี เช่น เกาะเวียง และหมู่เกาะง่าม จ.ชุมพร เกาะเต่า และพื้นที่ใกล้เคียง รวมทั้งเกาะเต่า บริเวณจุดดำน้ำหินขาว พีวี และสันตะกูด ซึ่งปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวนิยมมาดำน้ำบริเวณดังกล่าวเป็นจำนวนมาก

“โดยปกติแม้ฉลามวาฬจะไม่มีพฤติกรรมก้าวร้าว แต่การกระทำของนักท่องเที่ยวเป็นการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากเป็นการรบกวนความเป็นอยู่ในธรรมชาติของฉลามวาฬ และเพื่อความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวเอง นักท่องเที่ยวไม่ควรเข้าใกล้หรือสัมผัสตัวฉลามวาฬ เพราะอาจทำให้มันตกใจจนทำอันตรายกับนักดำน้ำได้” น.ส.สุทธิลักษณ์ กล่าว

อธิบดีทช. กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ได้มอบหมายให้สำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 4 เข้าพื้นที่เพื่อให้คำแนะนำข้อควรปฏิบัติในการชมวาฬอย่างถูกวิธีต่อเรือนำเที่ยวในพื้นที่เกาะเต่า จ.สุราษฏร์ธานี และเกาะเวียง เกาะง่าม จ.ชุมพร รวมทั้งติดตามตรวจสอบสืบหามัคคุเทศก์หรือบริษัทที่พานักท่องเที่ยวไปทำกิจกรรมดังกล่าว เพื่อตักเตือนและป้องปรามไม่ให้กระทำการที่เป็นอันตรายต่อฉลามวาฬซึ่งเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ และร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเป็นหลักฐานต่อไป สำหรับภัยคุกคามในปัจจุบันของฉลามวาฬนั้นเกิดจากหลายสาเหตุ อาทิ การติดเครื่องมือประมงโดยบังเอิญ การได้รับบาดเจ็บจากการชนกับเรือหรือใบพัดเรือ และการถูกรบกวนจากนักท่องเที่ยวที่ขาดจิตสำนึกหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ซึ่งกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับข้อควรปฏิบัติเมื่อพบสัตว์ทะเลหายากผ่านทางเว็ปไซต์ของกรม เช่น ข้อควรปฏิบัติในการชมโลมาและวาฬ ข้อปฏิบัติที่ดีเมื่อพบสัตว์ทะเลหายาก เป็นต้น ทั้งนี้สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้จาก www.dmcr.go.th อย่างไรก็ตามการเสนอให้ฉลามวาฬเป็นสัตว์สงวนชนิดใหม่ ลำดับที่ 18 ของไทย ตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 จะช่วยยกระดับความสำคัญของฉลามวาฬ และทำให้เกิดมาตรการต่างๆ ในการดูแลและช่วยเหลือฉลามวาฬ ได้มากขึ้น ขณะนี้ขั้นตอนอยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อออกประกาศในพระราชกฤษฎีกา

เครดิตภาพ/กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง