posttoday

สุดเศร้า!อ.จุฬาฯเผยปะการังที่เพาะไว้ใต้ทะเลเกาะจานถูกขโมย

21 มีนาคม 2560

ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยปะการังโต๊ะที่เพาะไว้ใต้ท้องทะเลเกาะจาน จ.ชลบุรี ถูกมือดีฉกหายเกือบหมด

ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยปะการังโต๊ะที่เพาะไว้ใต้ท้องทะเลเกาะจาน จ.ชลบุรี ถูกมือดีฉกหายเกือบหมด

เมื่อวันที่ 21 มี.ค.ดร.สุชนา ชวนิชย์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก "Suchana Apple Chavanich" ว่า ปะการังที่ได้นำไปปล่อยไว้ที่เกาะจาน จ.ชลบุรี ซึ่งเป็นเขตทหารเรือนั้นสูญหายไปเกือบทั้งหมด พร้อมกับตั้งข้อสังเกตถึงการหายไปของปะการังว่าเป็นฝีมือของมนุษย์  โดยระบุข้อความดังนี้

""ปะการังหาย !!!! ตามหาด่วน !!!.

ช่วงวันหยุดที่ผ่านมา เปิ้ลได้ไปดำน้ำที่เกาะจาน ชลบุรี ซึ่งเป็นเขตทหารเรือ เพื่อตรวจเช็คปะการังโต๊ะที่เราเพาะฟักแบบอาศัยเพศ และนำไปปล่อยตั้งแต่เค้าอายุประมาณ 2 ปี ซึ่งตอนนี้เค้าก็อายุประมาณ 7 ปี ขนาดประมาณ 15 ซม.ได้ ผลปรากฎว่า ตอนลงไปใต้น้ำ ตกใจมากกับภาพที่เห็น ปะการังโต๊ะที่สวยงามที่เคยเห็นสามสิบกว่ากอ มันหายเกือบหมด !!!

ตอนแรกนึกว่าถูกพายุพัด ปะการังอาจจะแตก แต่ไม่ใช่ เราไม่เห็นแม้แต่เศษปะการัง และแท่นโครงสร้างที่เราเอาปะการังไปปลูกนั้น มีแต่เชือกที่คล้องอยู่ เชือกมาจากไหน ? แล้วปะการังหายไปไหน ? อ่านได้จากข้างล่างค่ะ #เสียใจมาก. #ช่วยตามหาปะการังโต๊ะให้ด้วย

1. ปะการังโต๊ะไม่ได้แตกหัก เพราะไม่เห็นเศษเลย น่าจะมีคนเอาไป เพราะเวลาเราเอาปะการังไปปลูกที่เกาะจาน เราใช้ท่อที่มีปะการังเกาะสวมลงไปในรูของโครงสร้าง ซึ่งแน่นทีเดียว แต่ถ้าจะดึงมันออกมาก็อาจจะได้ แต่ต้องใช้พลังนิดหนึ่ง แต่ถ้าปะการังหลุดตามธรรมชาติ คงเป็นไปไม่ได้แน่ๆ และช่วงห้าปีที่ผ่านมาไม่เคยมีเหตุการณ์ปะการังหลุด ปะการังอยู่ติดดีมาตลอด

2. แล้วปะการังไปไหน ? เปิ้ลดำน้ำที่นี่มา 15 ปี ร่วมกับ ทหารเรือ หน่วย นสร. เราสำรวจปะการัง เพาะปะการังเพื่อการอนุรักษ์ เราไม่เคยเห็น หรือพบน้อยมากที่จะมีเรือดำน้ำ เรือท่องเที่ยว เรือประมง มาที่เกาะจานนี้ แต่ช่วงปีที่ผ่านมา เห็นเรือเหล่านี้เข้ามาใช้ประโยชน์

วันก่อนเห็นอย่างน้อย 4-5 ลำที่เข้ามาใช้พื้นที่ขณะที่เราดำน้ำ จริงๆ อาจจะมีมากกว่านี้ เค้าเข้ามาใช้ได้อย่างไร ? เป็นเขตทหารเรือ เขตอนุรักษ์ แล้วการที่เค้าเข้ามาได้รับการอนุญาตหรือไม่ ซึ่งโอกาสที่ปะการังโต๊ะที่มีขนาดพอเหมาะไม่ใหญ่ไม่เล็ก ก็อาจจะถูกเก็บไปได้.... ซึ่งก็ถูกเก็บไปจริงๆ

3. ไม่ใช่ปะการังโต๊ะที่เราเอาไปปลูกที่หาย เรามีกิจกรรมรักษ์แสมสารปีละ 2 ครั้ง นักดำน้ำจิตอาสา นักดำน้ำชมรมอนุรักษ์ ก็เอาปะการังเราไปปลูกที่เกาะจานด้วย เกือบห้าสิบหกสิบต้น หรือมากกว่านี้ โครงการฟื้นฟูปะการังกับกรมเจ้าท่าเมื่อหลายปีก่อน ก็มีปะการังโต๊ะนำไปปลูกที่นั้นด้วย แต่เมื่อวันก่อน พบว่าปะการังเหล่านั้นก็หายไปจากทะเล หายได้อย่างไร ? หายแบบไร้วี่แวว ? ถ้าปะการังโต๊ะถูกพัดแตกหัก มันก็จะหล่นอยู่ใกล้ๆ ไม่ไปไหน แต่นี้ไม่เห็นแม้แต่ร่องรอยเลย

4. แท่นโครงสร้างที่เคยมีปะการังโต๊ะ แต่ตอนนี้ไม่มีแล้ว มีแต่เชือกที่ผูกกับโครงสร้าง แสดงให้เห็นว่ามีเรือเข้ามาใช้พื้นที่นี่และใช้โครงสร้างของเราในการผูกเรือจอด

เปิ้ลเห็นอย่างนี้หมดกำลังใจเลยค่ะ นักดำน้ำที่เคยมาช่วยเราปลูกอนุรักษ์ปะการังถ้าเห็นสภาพแบบนี้ก็คงหมดกำลังใจเหมือนกันค่ะ  เป็นเขตทหารเรือ เขตอนุรักษ์ แต่กล้าเข้ามาเก็บปะการัง คนที่เก็บไปจะด้วยเพราะอยากเก็บไว้ดูสวยงามหรือเพื่อการค้า ทราบไหมว่าเค้าเพาะปะการังเพื่อการอนุรักษ์ทำมาเป็น 10 ปี แต่คุณเล่นเก็บไปเกือบหมด ทั้งๆที่รู้ว่าเป็นเขตทหารเรือ เขตอนุรักษ์ .....ฝากผู้ดูแลพื้นที่ด้วยค่ะ การจัดการเรือที่เข้ามาใช้พื้นที่เป็นสิ่งสำคัญ. ต้องให้แน่ใจว่าเข้ามาแล้วไม่ไปทำลายทรัพยากรธรรมชาติ . ตอนนี้ปะการังก็เหลือน้อยเต็มที ถ้าจัดการไม่ดี ไม่อนุรักษ์ ต่อไปปะการังตัวอื่นๆก็คงหายไปจากบริเวณนั้นเหมือนกันค่ะ... ฝากเพื่อนๆของเปิ้ลตามหาว่าปะการังโต๊ะของเราว่าไปอยู่แห่งหนใดด้วยนะคะ ขอบคุณค่ะ"

ขณะที่ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า เหตุการณ์นี้คือการทำร้ายทะเลอย่างร้ายแรง และไม่ใช่เพียงแค่ทะเล ยังหมายถึงคนที่ทำงานให้ทะเล เมื่อปะการังที่ได้เพาะฟักและนำมาติดไว้ที่แท่นโครงสร้างที่เกาะจาน ชลบุรี ปะการังอายุ 7 ปี จำนวนมากกว่า 30 กอ กลับหายไปหมด

ดร.ธรณ์ บอกต่อว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นน่าจะเกิดจากฝีมือของมนุษย์ โดยปะการังเหล่านี้คืองานวิจัยยาวนาน ความพยายามศึกษาสายพันธุ์ที่ทนน้ำร้อน ไม่ฟอกขาวเมื่อเกิดปรากฏการณ์เอลนิโญ่ และที่ผ่านมาพวกเธอก็ทนมาได้ตลอด เป็นอีกความหวังของการศึกษาวิจัยเพื่อช่วยทะเลไทย  อยากเรียกร้องให้หน่วยงานในพื้นที่ ทำการตรวจสอบในเรื่องนี้โดยเร่งด่วน และยกระดับการดูแลรักษาทรัพยากร เพราะขนาดปะการังของนักวิจัยยังไม่เหลือ แล้วเราจะเหลือความหวังอะไร.