posttoday

สรพ.หนุนรพ.ทำHAลดเหลื่อมล้ำการรักษา

14 มีนาคม 2560

สรพ.หนุนโรงพยาบาลทั่วประเทศเข้าสู่กระบวนการคุณภาพตามมาตรฐาน HA เพื่อประโยชน์สูงสุดของคนไข้ ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้ารับการรักษาด้วยมาตรฐานเดียวกัน

สรพ.หนุนโรงพยาบาลทั่วประเทศเข้าสู่กระบวนการคุณภาพตามมาตรฐาน HA เพื่อประโยชน์สูงสุดของคนไข้ ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้ารับการรักษาด้วยมาตรฐานเดียวกัน

นพ.อนุวัฒน์ ศุภชุติกุล ผู้อำนวยการสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ สรพ. กล่าวถึงการพัฒนาคุณภาพสถานพยาบาล ว่า ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุ  สิ่งหนึ่งที่จะตามมาคือความเจ็บป่วย และงบประมาณในการดูแลจำนวนมหาศาล ด้วยเหตุนี้รัฐบาลจึงต้องการผลักดันให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดี แต่การจะมีสุขภาพที่ดีนั้นปัจจัยหนึ่งก็คือสถานพยาบาล หรือโรงพยาบาลต้องได้มาตราฐาน เพราะมีความซับซ้อนและความเสี่ยงสูง และมีความไม่แน่นอนทั้งคนไข้ที่เข้ามารักษา รวมถึงผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น ถ้าไม่มีระบบที่ดี หรือการทบทวนข้อผิดพลาดเพื่อปรับปรุงแก้ไขอยู่เสมอ ก็จะทำให้ผลลัพธ์ที่ไม่ต้องการเกิดขึ้นกับผู้ป่วย และสร้างความเสียหายให้กับหน่วยงานทางการแพทย์

ทั้งนี้โรงพยาบาลจะต้องเปิดใจถึงปัญหาเพื่อแก้ไข และกล้าเปิดเผยว่า เขาเป็นโรงพยาบาลมีคุณภาพ ซึ่งจะเข้ามาควบคุมดูแลในเรื่องของด้านการบริหารองค์กร ว่าระบบการบริหารต่าง ๆ ด้านการสนับสนุนทรัพยากร การที่มีบุคคลากรที่มีคุณภาพ เรียกได้ว่าเป็นการทำงานที่ใช้ผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง ไม่ว่าจะทำอะไรต้องนึกถึงผู้ป่วยก่อนเสมอ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับประโยชน์จริงๆ จากการรักษาไม่ก่อให้เกิดปัญหาแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นจึงต้องมีการพัฒนา ด้วยการรับรองกระบวนการคุณภาพตามมาตรฐาน หรือ  HA (Hospital Accreditation)  ซึ่งเป็นเสมือนกระบวนการส่องกระจกให้โรงพยาบาลได้ย้อนดูตนเองว่ามีผลงานเป็นอย่างไร มีวิธีการทำงานดีหรือไม่  เพื่อปรับปรุงการทำงานให้ได้มาตราฐานที่ดียิ่งขึ้น ด้วยความระมัดระวัง และคิดว่าว่าการทำงานของโรงพยาบาลยังดีอยู่หรือไม่ เพื่อเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม

ปัจจุบันได้มีการรับรอง HA กับโรงพยาบาล 780 แห่งทั่วประเทศ และยังมีที่กำลังดำเนินการให้อยู่ในขั้นมาตรฐาน HA อีก 195 แห่ง นับได้ว่าคิดเป็น 72 เปอร์เซ็นของโรงพยาบาลทั้งหมด นอกจากนี้ยังมีมาตราฐานความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านให้กับแต่ละโรงพยาบาล เมื่อมีความเชี่ยวชาญที่แตกต่างกัน การส่งต่อผู้ป่วยก็จะทำให้มั่นใจมากยิ่งขึ้นว่าควรส่งไปที่ใดให้เหมาะสมกับโรคที่คนไข้เป็น เพื่อการรักษาที่ดีที่สุด และเชื่อมโยงกระบวนการทำงานแบบองค์รวม ดังนั้น เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ที่มีสัญลักษณ์ HA ก็ทำให้มั่นใจได้ว่า โรงพยาบาลนี้ปลอดภัย ได้มาตราฐานทั้งในเรื่องของระบบงาน และการรักษา  เพื่อประโยชน์สูงสุดของคนไข้ ทั้งนี้ยังเป็นการตอบสนองนโยบายของทางภาครัฐในเรื่องของการลดความเหลื่อมล้ำในการเข้ารับการรักษาระหว่างโรงพยาบาลในต่างจังหวัดกับพื้นที่กรุงเทพ เพราะทุกที่จะใช้มาตราฐานเดียวกันเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงโรงพยาบาลที่มีคุณภาพ

นางสาวสารี อ๋องสมหวัง ประธานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า การที่ผู้ป่วยทราบว่าโรงพยาบาลที่กำลังจะเข้าไปรับการรักษานั้นได้ผ่านการรับรองคุณภาพตามมาตรฐาน HA จากสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) คนไข้จะมีความเชื่อมั่นในระบบการรักษามากกว่าโรงพยาบาลที่ยังไม่ผ่านการรับรอง  แต่ขณะเดียวกันปัจจุบันมาตรฐานของ สรพ.ยังมีหลายระดับ และคนไข้ไม่ได้รับการบริการที่เท่าเทียมกัน จึงอยากให้ สรพ.ปรับเกณฑ์มาตรฐานใหม่  โดยกำหนดให้โรงพยาบาลที่ผ่านการรับรอง HA ทุกแห่งยึดเอาเกณฑ์มาตรฐานการบริหารจัดการเรื่องร้องเรียนจากผู้ป่วยและผู้ใช้บริการที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม  ความจริงใจในการช่วยเหลือและแก้ปัญหา เพื่อเป็นตัวชี้วัดคุณภาพก่อนรับรองสถานพยาบาล  เพราะตนเชื่อว่าวิธีการนี้จะช่วยสะท้อนเรื่องคุณภาพของโรงพยาบาล ตลอดจนเจ้าหน้าที่ และบุคลากร ว่ามีความใส่ใจผู้ป่วยและผู้ใช้บริการน้อยพียงใด

“เราอยากเห็นโรงพยาบาลที่ให้บริการด้วยความเสมอภาคและปฏิบัติต่อผู้ป่วยด้วยความเท่าเทียมและใช้มาตรฐานเดียวกัน โดยไม่แยกเป็นสิทธิประกันสุขภาพ ประกันสังคม ข้าราชการ หรือ จ่ายเอง  ด้วยท่าทีที่เป็นมิตร ยอมรับคำวิจารณ์และปรับปรุงแก้ไขอยู่เสมอ เพื่อให้เกิดคุณภาพที่แท้จริง”ปธ.มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคกล่าว

ขณะที่ผู้อำนวยการโรงพยาบาลต้นแบบเขาสุกิม จ.จันทบุรี  นพ.สฤษดิ์เดช เจริญชัย กล่าวถึงการเข้าสู่มาตรฐาน HA ว่า โรงพยาบาลต้องมีองค์ประกอบไปด้วย  3 ส่วน คือ โรงพยาบาลต้องมีระบบงานที่มีคุณภาพเป็นมาตรฐาน บริการคุณภาพเป็นสากล เพราะมาตรฐานสถานพยาบาลของสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล ถือว่าได้รับรองจากต่างประเทศ มีคุณภาพเทียบเท่าสากล สำหรับส่วนที่ 2 นั้น คนไข้หรือผู้รับบริการ ต้องได้รับการบริการจนพึงพอใจ  ความเสี่ยงจากการรักษาลดลง ซึ่งในทางเศรษฐศาสตร์เมื่อผู้ป่วยใช้เวลารักษาตัวในโรงพยาบาลน้อย อัตราการสิ้นเปลืองทรัพยากรและค่าใช้จ่ายก็ลดลงตามมาด้วย ทำให้ผู้ป่วยหายจากโรคภัยกลับไปทำงานสร้างรายได้ให้ครอบครัวและนายจ้าง อีกทั้งยังสร้างผลลัพธ์ด้านบวกให้สังคม

ส่วนสุดท้ายคือ เจ้าหน้าที่และบุคลากรในโรงพยาบาล แม้งานจะหนักขึ้น แต่ก็ได้รางวัลเป็นคำขอบคุณและชื่นชมในความเสียสละและทุ่มเทการบริการและการรักษาคนไข้ ซึ่งทางโรงพยาบาลเขาสุกิม ได้ตระหนักและทำมาโดยตลอด จนกลายเป็นโรงพยาบาลเป็นต้นแบบ ที่มีหลายหน่วยงานเดินทางมาศึกษาดูงานของโรงพยาบาลอยู่เสมอ

เมื่อระบบการให้บริการของโรงพยาบาลที่มีมาตรฐานและการรับรอง HA ทำได้ครอบคลุมสถานพยาบาลและโรงพยาบาลทั่วประเทศเมื่อไหร  จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการรักษาและการให้บริการเพื่อให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงระบบการรักษาที่มีประสิทธิภาพและเพิ่มคุณภาพชีวิตของประชากรไทย ให้เข้าสู่สังคมสูงวัยด้วยสุขภาพกายใจที่แข็งแรงและมีอายุยืน