posttoday

แห่งโรงบ่มอารมณ์สุข

25 กุมภาพันธ์ 2560

ชาวจิตอาสาเชื่อว่าคุ้นเคยดีกับเพจเฟซบุ๊ก "โรงบ่มอารมณ์สุข" และถ้าเคยเข้าร่วม ก็คงทราบดีว่า เจ้าของโรงบ่มแห่งนี้คือ

โดย...วันพรรษา อภิรัฐนานนท์ ภาพ : โรงบ่มอารมณ์สุข

ชาวจิตอาสาเชื่อว่าคุ้นเคยดีกับเพจเฟซบุ๊ก "โรงบ่มอารมณ์สุข" และถ้าเคยเข้าร่วม ก็คงทราบดีว่า เจ้าของโรงบ่มแห่งนี้คือ "นุ้งนิ้ง" จิระพงค์ รอดภาษา ผู้เริ่มต้นงานจิตอาสาของตัวเองมาก่อนที่คำว่า "จิตอาสา" จะเป็นที่แพร่หลายในปัจจุบันเสียอีก ไปรู้จักเขากันดีกว่า

 ทุกอย่างที่อาสา ทำเพื่อความดีและความสุข นุ้งนิ้งบอกว่า คงเป็นผลพวงจากการเป็นเด็กกิจกรรม สมัยก่อนย้อนไปเมื่อกว่า 10 ปี คำว่าจิตอาสาไม่มีรูปแบบงานอาสาให้ยึดเท่าไร มีแต่องค์กรต่างๆ ที่ก่อตั้งขึ้นแล้วไปดำเนินการกับกลุ่มเป้าหมาย คนนอกองค์กรไม่มีส่วนร่วม ส่วนใหญ่เน้นให้บริจาคมากกว่า

 จิตอาสาที่คนนอกเข้าไปร่วมดำเนินการด้วย ได้เริ่มเห็นชัดเจนหลังเกิดเหตุสึนามิในไทย หลายโครงการที่นุ้งนิ้งได้เข้าร่วม ดีใจและรู้สึกสนใจที่เราสามารถเรียนรู้การทำงานกับกลุ่มเป้าหมายได้ โครงการแรกคือบ้านดิน เครือข่ายจิตอาสาที่ได้ไปร่วมอยู่นาน จากนั้นสองปีจึงค่อยๆ คิด ค่อยๆ ทำในแบบของตัวเอง

แห่งโรงบ่มอารมณ์สุข

 

 “อยากทำในแบบของเรา ด้วยความรู้สึกอยากทำ ก็เชิญชวนผ่านเอ็มเอสเอ็ม คุยผ่านโปรแกรมแชตและประชาสัมพันธ์ในเว็บไซต์ชื่อวอลันเทียร์สปิริต ใช้สื่อบอกต่อ ลงมือทำด้วยความรู้สึกอยากทำ”

 ทำแล้วเหมือนต้องมนต์ นุ้งนิ้งเล่าว่า เมื่อนับหนึ่งแล้วก็มีสองสามสี่ตามมา จนถึงทุกวันนี้ก็กว่าร้อยโครงการเข้าไปแล้ว สำหรับนุ้งนิ้งการลงมือทำสำคัญที่สุดเพราะทำให้เห็นภาพว่าเราสามารถทำอะไรได้ ทำแล้วจะเห็นภาพชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ เหมือนมนต์อย่างที่บอก คือมีกิ่งก้าน แตกแขนงของการแบ่งปันต่อไป

 โครงการแรกที่ทำเองคือการสร้างห้องสมุดดิน ที่ อ.แกลง จ.ระยอง กลุ่มรักเขาชะเมา ไม่ได้คิดว่าจะมีครั้งต่อไป หากคนก็ชวนๆ กันมาช่วยมากขึ้น จนถึงปัจจุบันได้ต่อยอดไปยังความสนใจด้านอื่น ทั้งคน สัตว์ สิ่งแวดล้อม เด็ก การศึกษา ภัยหนาว ต่อมาเฟซบุ๊กแพร่หลาย ก็ได้ใช้เป็นเครื่องมือหลักในการเผยแผ่แนวคิดและประชาสัมพันธ์โครงการ เพื่อนชวนเพื่อน สมาชิกที่มาส่วนใหญ่เวียนกันมาตามสะดวก และมาจากหลายส่วนหลายภาคหลายวัย

 “รู้สึกดีทุกครั้งที่ได้ลงมือทำ มันไม่มีมากขึ้นหรือน้อยลง ทำแล้วดี อืม! ดีจัง รู้สึกสุขใจอิ่มใจ ไม่ได้ตื่นเต้นหรือปรุงสุขให้มันเกินงาม แค่ดีก็ดี ดีจัง มองภาพว่าสิ่งที่เกิดขึ้นก็ดีแล้ว ไม่ได้มองว่า มีคนมาเยอะ ไม่ได้พองโตเป็นผู้ยิ่งใหญ่ ไม่ใช่อย่างนั้น คนที่มาร่วมกัน มีเสียงหัวเราะ มีคนยิ้มได้ จุดประสงค์ของเราก็แค่อยากมีพื้นที่ที่มีรอยยิ้ม 360 องศารอบตัว”

แห่งโรงบ่มอารมณ์สุข

 

 นุ้งนิ้งบอกว่า เขาแค่อยากมีความสุข ชื่อโรงบ่มอารมณ์สุขก็มาจากเหตุนี้ คือเหตุของอารมณ์สุขที่ได้บ่มเพาะในจิตใจตน ไม่ได้มองภาพกว้างว่าโลกนี้ต้องเต็มไปด้วยความสุข แค่ ณ ปัจจุบัน 360 องศารอบตัวมีรอยยิ้ม มีเรื่องราวดีๆ มาแบ่งปัน ทุกคนมีน้ำใจ โลกหรือสังคมจะเปลี่ยนไหมไม่สำคัญ สำคัญว่าตัวเราได้เปลี่ยนให้คนรอบตัวมีรอยยิ้ม และเราก็ยิ้มด้วย

ตัวตนจริงๆ ของนุ้งนิ้ง เชื่อว่า หลายคนคงอยากรู้ เขาอายุ 30 ปีเศษ เป็นนักวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ในหน่วยงานราชการแห่งหนึ่ง วันจันทร์ถึงวันศุกร์ ทำมาหากิน ส่วนวันเสาร์ถึงวันอาทิตย์ ทำมาหาใจ (ฮา) ถือเป็นช่วงเวลาแห่งความสุขจิตอาสาที่ได้เลี้ยงจิตใจตัวเอง นี่คือรูปแบบความสุขที่ไม่เบียดเบียนตัวเองและไม่สร้างความเดือดร้อนให้ใคร

 แรงบันดาลใจของจิตอาสาผู้นี้คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ครั้งหนึ่งเมื่อสิบปีก่อน ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ ขณะทำงานจิตอาสา เพียงเสี้ยวพระพักตร์ที่หันมาทางเขาในชั่วระยะเวลาสั้นๆ แต่ก็เหมือนจะ "คอนเฟิร์ม" สิ่งที่อยู่ในจิตใจของนุ้งนิ้งว่า สิ่งที่เขาทำอยู่นั้น มาถูกทางและถูกต้องแล้ว เป็นความอบอุ่นที่แผ่ซ่านมาด้วยพระบารมี เป็นเสี้ยววินาทีที่นุ้งนิ้งกล่าวว่า จะอยู่กับเขาไปจนชั่วชีวิต

 สำหรับงานจิตอาสาครั้งถัดไป กำหนดในเดือน มี.ค. โรงบ่มฯ ทุกโครงการจะมีชื่อโครงการและมีชื่อตอนกำกับ ครั้งนี้ก็เช่นกัน โครงการชื่อครูอาสา 500 ลี้ เทอมพิเศษชวนน้องไปแบ่งปัน ชื่อตอน "ล่องแม่ปิง อิงเหนือเขื่อน ปิดเทอมใหญ่หัวใจให้กัน" โรงเรียนเป้าหมาย 2 แห่ง คือ ร.ร.บ้านก้อจัดสรร อ.ลี้ จ.ลำพูน และ ร.ร.อุ้มวาบ อ.สามเงา จ.ตาก เดือน พ.ค.จะชวนไปปลูกป่าที่น่าน โครงการชื่อ ฌ เฌอ เพื่อเธอเสมอดาว ชื่อตอน "ปลูกน่านนานๆ ไปเขาจะเป็นป่า" ที่ดอยเสมอดาว จ.น่าน

 “ใครว่างไปด้วยกันนะครับ”