posttoday

กรมชลฯเผยน้ำในเขื่อนมีพอใช้ตลอดฤดูแเล้งนี้

24 กุมภาพันธ์ 2560

กรมชลประทานเผยน้ำในเขื่อนทั่วประเทศมีปริมาณพอใช้ฤดูแล้งนี้ ขณะที่สภาพอากาศมีความชื้นเหมาะทำฝนหลวงให้กับพื้นที่การเกษตร

กรมชลประทานเผยน้ำในเขื่อนทั่วประเทศมีปริมาณพอใช้ฤดูแล้งนี้ ขณะที่สภาพอากาศมีความชื้นเหมาะทำฝนหลวงให้กับพื้นที่การเกษตร

นายสัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในเขื่อนทั่วประเทศ ว่ามีปริมาณเพียงพอใช้ตลอดฤดูแล้งนี้และยังได้กันน้ำไว้ 3 เดือนถึงเดือน ก.ค.- ส.ค.หากเกิดกรณีฤดูฝนมาล่าช้า ซึ่งตามปกติฤดูฝนจะมาต้นเดือนพ.ค. ขณะนี้มีปริมาณน้ำใช้ได้การ 34 เขื่อนหลักมีประมาณ 21,456 ล้านลูกบาศ์กเมตร(ลบ.ม.)  มากกว่าปี 2559  ประมาณ 8,178 ล้านลบ.ม.  สำหรับพื้นที่เพาะปลูกลุ่มเจ้าพระยา22 จ.  พบว่ามีการปลูกข้าวนาปรังแล้ว  7.28 ล้านไร่ จากเป้าหมายที่วางไว้  2.6  ล้านไร่ และจากแผนข้าวครบวงจนที่จะให้ปลูกไม่เกิน 4 ล้านไร่ 

สำหรับปริมาณน้ำใช้การได้ 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา มีปริมาณ 7,071 ล้านลบ.ม. มากกว่าปีที่แล้ว 4,021 ล้านลบ.ม. ได้วางแผนการใช้น้ำไว้ทั้งหมดแล้ว และแม้ว่าจะมีการปลูกข้าวเกินแผนที่กำหนดแต่การใช้น้ำยังไม่เกินแผนการเพาะปลูกที่กรมชลประทานได้วางไว้ ซึ่งจะไม่ระบายไม่เกิน  50  ล้านลบ.ม.ต่อวัน

สำหรับพื้นที่นอกเขตชลประทาน และพื้นที่แล้งซ้ำซาก กรมชลฯได้ประสานหับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เตรียมรถขนน้ำ ไว้ 100 กว่าคันพร้อมเครื่องสูบน้ำ 200-300 เครื่อง ไว้ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อช่วยเหลือประชาชนป้องกันปัญหาขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้ โดยประสานงานกับ กระทรวงมหาดไทย กรมทรัพยากรน้ำ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เข้าแก้ไขในพื้นที่ตลอดเวลา ตามนโยบายของพล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรฯ ให้ดูแลเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยง105 อำเภอ 34 จ.  เป็นพื้นที่เฝ้าระวังเกิดภัยแล้งเป็นประจำทุกปี เช่น พะเยา จันทรบุรี เชียงใหม่ พื้นที่ภาคตะวันตก อู่ทอง- ท่าล้อ ได้จัดรอบเวรส่งน้ำ ใช้เครื่องสูบน้ำไปช่วย จากลุ่มน้ำแม่กลอง และพื้นที่ลุ่มน้ำยม

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า หน่วยเคลื่อนที่เร็ว ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดนครสวรรค์ ขออนุมัติขึ้นบินเพื่อปฏิบัติการ เมื่อเวลา 13.30น.เพื่อดำเนินภาระกิจที่ 1  ขั้นตอนโจมตี ด้วยสารฝนหลวงสูตร 1 จำนวน 700 กิโลกรัม และ สูตร 4 จำนวน 700 กิโลกรัม ที่ระดับความสูง 7,000/5,000 ฟุต  พิกัด 130/110 nm. บริเวณเขื่อนลำตะคอง-เขื่อนลำพระเพลิง จ.นครราชสีมา

ภารกิจที่ 2  ขั้นตอนโจมตี ด้วยสารฝนหลวงสูตร 1 จำนวน 1,000 กิโลกรัม และ สูตร 4 จำนวน 1,000 กิโลกรัม ที่ระดับความสูง 8,000/6,000 ฟุต  พิกัด 120/145 nm. บริเวณเขื่อนลำแซะ-เขื่อนลำมูลบน จ.นครราชสีมา หลังจากที่ตรวจพบว่าสภาพอากาศเอื้ออำนวยเพื่อเพิ่มความชื้นในดินของพื้นที่ภาคกลางตอนบนและภาคกลางตอนล่างและภาคตะวันออกเฉียงเหนือพื้นที่เป้าหมายคือ เขื่อนลำแซะ  เขื่อนลำมูลบน และพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา

โดยช่วงนี้มีสภาพความชื้นเหมาะสมทำฝนหลวง ได้เพิ่มหน่วยปฏิบัติการเป็น 7 หน่วยปฏิบัติการ และวันที่ 3  มี.ค. จะมีหน่วยปฏิบัติการ รวม 9 หน่วยปฏิบัติการ ในภาคเหนือ 2 หน่วยปฏิบัติการ คือ เชียงใหม่ และ พิษณุโลก ภาคอีสาน 2 หน่วยปฏิบัติการ คือ บุรีรัมย์ และ อุดรธานี ภาคกลาง 2 หน่วยปฏิบัติการ คือ นครสวรรค์ และ ลพบุรี ภาคตะวันออก 1 หน่วยปฏิบัติการ คือ จันทบุรี ภาคใต้ 2 หน่วยปฏิบัติการ คือ สงขลา และ ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งจะปฏิบัติการฝนหลวงต่อเนื่องจนถึงเดือนต.ค.แก้ไขสถานการณ์ภัยแล้ง โดยกำหนดพื้นที่เป้าหมายทำฝนหลวงให้กับพื้นที่ทำเกษตรช่วงหน้าแล้ง สร้างความชุ่มชื้นป่าต้นน้ำทั่วประเทศ เติมน้ำเขื่อน และช่วยเหลือบรรเทาปัญหาหมอกควันไฟป่าภาคเหนือ ป่าพรุในพื้นที่ภาคใต้