posttoday

"พระเมรุมาศ" คติจักรวาลในงานถวายพระเพลิง

05 กุมภาพันธ์ 2560

จากคติจักรวาลมาสู่การออกแบบงานสถาปัตยกรรมตามคติความเชื่อของพุทธและพราหมณ์ ที่ว่าเขาพระสุเมรุคือศูนย์กลางของจักรวาล

วีระศักร จันทร์ส่งแสง เครือข่ายพุทธิกา http://www.budnet.org

คนไทยที่เกิดในรัชกาลที่ 9 ส่วนใหญ่คงไม่เคยเห็นพระเมรุเอก ซึ่งกำลังจะสร้างที่สนามหลวงในช่วงนี้

ด้วยในการสร้างเมื่อครั้งก่อนเก่าที่แล้วมา ยังไม่มีเทคโนโลยีการบันทึกภาพที่ทันสมัย

มีก็แต่ภาพวาดลายเส้น หรือไม่ก็เป็นภาพที่บันทึกไว้ด้วยตัวอักษร--เป็นเอกสารโบราณที่หลงเหลือมาถึงปัจจุบัน

ดังเช่นที่ปรากฏในหนังสือ อโยธยาศรีรามเทพนครบวรทวารวดี มรดกความทรงจำแห่งสยามประเทศ (ดร.วินัย พงศ์ศรีเพียร บรรณาธิการ) ที่คณะผู้เขียนเรียบเรียงขึ้นจากเอกสารชั้นต้น พรรณนาภูมิสถานพระนครศรีอยุธยา และเอกสารจากหอหลวง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดพิมพ์ออกมาเมื่อสัปดาห์ท้ายเดือน ม.ค. 2560

ในบท “พระนครศรีอยุธยาในฐานะศูนย์กลางแห่งพิธีกรรม” และตอน “ว่าด้วยโบราณราชประเพณี” กล่าวถึงงานพระเมรุมาศไว้ว่า มีการกำหนดแบบอย่างงานพระเมรุออกเป็น เอก โท ตรี

พระเมรุเอกสำหรับพระบรมศพพระเจ้าแผ่นดิน เสายาว 20 วา ขื่อยาว 7 วา ทรงตั้งแต่ฐานบัดถึงยอดตรี 40 วา มียอดปรางค์ใหญ่ 1 ฐานปรางค์ มีชั้นแว่นฟ้ารอบสองชั้น ถัดชั้นแว่นฟ้าลงมามีรูปพรหมพักตร์ประดับยอดฐาน ถัดมามีรูปพนมรอบ ถัดมามีรูปอสูรแบกฐานบัตรรอบฐาน ตามช่วงซุ้มคฤหะกุดาคารน้อยๆ นั้น มีรูปเทพสถิตประจำอยู่ทุกช่วงซุ้ม แลมุขคฤกุดาคารใหญ่เป็นหน้ามุขซ้อนสองชั้นทั้งสี่มุข มุขนั้นมียอดปรางค์ย่อมๆ ตั้งอยู่บนหลังคามุขทั้ง 4 ทิศ ที่เรียกว่าเมรุทิศนั้น ที่ระวางมุขใหญ่ในร่วมมณฑปที่ย่อเก็จนั้น มียอดปรางค์ย่อมๆ ตั้งอยู่ตามระวางมุขนั้นทั้ง 4 ทิศ ที่เรียกว่าเมรุแซก แล้วมีหลังคาใหญ่ซ้อนสองชั้น รองหลังคามุขทิศนั้นๆ เป็นมุขยาวออกมาทั้ง 4 ทิศ...

หนังสือเล่มนี้ยังมีอ้างถึง พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ซึ่งบันทึกภาพพระเมรุมาศที่สร้างถวายสมเด็จพระบรมโกษฐ์ ไว้ว่า

“...เมรุใหญ่สูงปิดทองประดับกระจกยกเป็นลวดลายต่างๆ แล้วมีเพดานรองสามชั้นเป็นหลั่นๆ ลงมาตามที จึ่งมีพระเมรุใหญ่สูงสุดยอด พระสะเดานั้น 55 วา ฝานั้นแผงหุ้มผ้าปิดกระดาษปูพื้นแดงเขียนเป็นชั้นนาค ชั้นครุฑ ชั้นอสูร แลชั้นเทวดา และชั้นอินทร ชั้นพรหม ตามอย่างเขาพระเมรุ  ฝาข้างในเขียนเป็นดอกสุมณฑาทองและมณฑาเงินแกมกัน  และเครื่องพระเมรุนั้นมีบันแลมุข 11 ชั้น เครื่องบนจำหลักปิดทองประดับกระจก...พระเมรุนั้นมีประตู 4 ทิศตั้งรูปกินนร รูปอสูรทั้ง 4 ประตู  พระเมรุใหญ่ปิดทองทึบจนเชิงเสากลางพระเมรุทองก่อเป็นแท่นรับเชิงตะกอน  อันเสาเชิงตะกอนนั้นก็ปิดทองประดับกระจกเป็นที่ตั้งพระบรมโกศ แล้วจึงมีเมรุทิศ 4 เมรุแทรก 4 เป็นแปดทิศ ปิดทองกะจกเป็นลวดลายต่างๆ แล้วจึงมีรูปเทวดาแลรูปวิทยาธร รูปคนธรรพ์แลครุฑกินนร ทั้งรูปคชสีห์ ราชสีห์ และสิงโต ทั้งรูปมังกร เหรานาคาทักกะทอ รูปช้างม้าและเลียงผา สารพัดรูปสัตว์ทั้งปวงต่างๆ นานาครบครัน ตั้งรอบพระเมรุเป็นชั้นกันตามที่ แล้งจึ่งกั้นราชวัติสามชั้น...”

ลักษณะของพระเมรุดังกล่าวเป็นการจำลองภาพเขาพระสุเมรุ ทั้งในด้านความสูงและองค์ประกอบรายรอบ ทิวเขาสัตบริภัณฑ์ ดินแดนของท้าวเทพ อสูร ครุฑ นาค และป่าหิมพานต์อันเป็นที่อยู่ของวิทยาธรและคนธรรพ์ กินนร และสัตว์หิมพานต์ต่างๆ

ส่วนเมรุทิศทั้ง 4 เปรียบเสมือนทวีปทั้ง 4 ที่อยู่รอบเขาพระสุเมรุ อันได้แก่ บุพพวิเทหทวีป อุดรกุรุทวีป อมรโคยานทวีป และชมพูทวีป

จากคติจักรวาลมาสู่การออกแบบงานสถาปัตยกรรมตามคติความเชื่อของพุทธและพราหมณ์ ที่ว่าเขาพระสุเมรุคือศูนย์กลางของจักรวาล เขาไกรลาสที่ประทับของพระอิศวรเป็นส่วนหนึ่งอยู่ในนั้น

การถวายพระเพลิงพระบรมศพ ณ พระเมรุมาศจึงหมายถึงการเสด็จสู่สรวงสวรรค์ของพระมหากษัตริย์ที่สวรรคต  ในงานบำเพ็ญพระราชกุศลพระบรมศพสมเด็จพระบรมโกษฐ์ “...แล้วจึ่งตั้งโรงการเล่นมหรสพทั้งปวง ให้มีโขนหนังละครหุ่นและมอญรำระบำเทพทอง ทั้งมงครุ่มผาลาคุลาตีไม้...” เพราะถือว่างานพระบรมศพมิใช่เรื่องน่าโศกเศร้า และแสดงให้เห็นถึงความไม่เที่ยงของสังขารตามหลักพระพุทธศาสนา  อีกทั้งเป็นการให้ความบันเทิงแก่คนที่เดินทางไกลมาร่วมงาน ให้เห็นว่ากษัตริย์แม้จะสวรรคตไปแล้ว แต่ด้วยพระบารมี ยังสร้างความสุขให้แก่พสกนิกรได้

ในหนังสือ อโยธยาศรีรามเทพนครบวรทวาราวดีฯ ยังแสดงภาพ “พระเมรุเอก” ในการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระมหากษัตริย์ไว้ด้วย เป็นพระเมรุที่มียอดปรางค์ 9 ยอด โดดเด่นอยู่เหนือหน้าพรหมพักตร์

เป็นสถาปัตยกรรมสันนิษฐานที่พอเห็นเค้าโครงร่างได้ชัดเจน ก่อนได้เห็นของจริงอันยิ่งใหญ่ที่ท้องสนามหลวงในราวช่วงปลายปี