posttoday

สผ.เร่งชงแผนลดก๊าซเรือนกระจกในอนาคตให้ได้ 25 %

27 มกราคม 2560

เลขาธิการ สผ. เร่งนำเสนอแผนลดก๊าซเรือนกระจกในอนาคตให้ได้ 25 %

เลขาธิการ สผ. เร่งนำเสนอแผนลดก๊าซเรือนกระจกในอนาคตให้ได้ 25 %

นางรวีวรรณ ภูริเดช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) เปิดเผยว่า ได้ร่วมกับ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ และ Global Green Growth Institute (GGGI) ได้ร่วมกันจัดทำร่างแผนที่นำทางการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ โดยกำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย เริ่มจากหลัง ปี2563 ถึง  2573 ให้ได้ 20-25% จากกรณีดำเนินการปกติของภาคส่วนต่างๆ  รวมทั้ง เพื่อสร้างความเข้าใจแก่ทุกภาคส่วนในการมีส่วนร่วมลดก๊าซเรือนกระจก

นางรวีวรรณ กล่าวว่า การดำเนินการลดก๊าซเรือนกระจกตามเป้าหมายดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินการตามความตกลงปารีส ซึ่งประเทศไทยได้ให้สัตยาบันเมื่อวันที่ 21 ก.ย. 2559 โดยร่าง  แผนที่นำทางฯ ประกอบด้วย 3 สาขาหลัก ได้แก่ สาขาพลังงานและขนส่ง สาขาการจัดการของเสีย และสาขากระบวนการทางอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป็นสาขาที่แผนหลักของหน่วยงานมีความพร้อมและมีศักยภาพในการดำเนินงานที่สามารถสนับสนุนการลดก๊าซเรือนกระจกได้

อย่างไรก็ตาม กำหนดศักยภาพการลดก๊าซเรือนกระจก ในปี 2573 จากทั้ง 3 สาขา ที่ 20.8% เมื่อเทียบกับ กรณีดำเนินการปกติ หรือประมาณ 115.6 ล้าน ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า โดยแบ่งเป็นสาขาพลังงานและขนส่ง ประกอบด้วยมาตรการหลัก เช่น การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้า การใช้พลังงานทดแทน และการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน เป็นต้น คิดเป็นศักยภาพการลดก๊าซเรือนกระจก 20.4 % เมื่อเทียบกับกรณีดำเนินการปกติ หรือประมาณ 113 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า สาขาการจัดการของเสีย ประกอบด้วยมาตรการหลัก อาทิ การจัดการขยะ และการจัดการน้ำเสีย คิดเป็นศักยภาพการลดก๊าซเรือนกระจก 0.3 % เมื่อเทียบกับ กรณีดำเนินการปกติ หรือประมาณ 2 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

นอกจากนี้ ในส่วนของแผนสาขากระบวนการทางอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ ประกอบด้วยมาตรการหลัก คือ การปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรม คิดเป็นศักยภาพการลดก๊าซเรือนกระจก 0.1 %หรือประมาณ 0.6 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า โดยข้อเสนอศักยภาพและมาตรการการลดก๊าซเรือนกระจกตาม ร่างแผนที่นำทางฯ นี้ หน่วยงานสามารถใช้เป็นกรอบการดำเนินงานเพื่อประกอบการวางแผนการทำงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้ต่อไป