posttoday

ชุมทางดนตรีคนเมือง ณ ศาลายา

21 มกราคม 2560

เมื่อพูดถึงรสชาติดนตรีแสนอร่อยและต้องใช้ความลุ่มลึกในการฟังพอสมควร ซึ่งแตกต่างจากดนตรีป๊อปตามสมัยนิยมอยู่ประมาณหนึ่ง

โดย...โสภิตา สว่างเลิศกุล

เมื่อพูดถึงรสชาติดนตรีแสนอร่อยและต้องใช้ความลุ่มลึกในการฟังพอสมควร ซึ่งแตกต่างจากดนตรีป๊อปตามสมัยนิยมอยู่ประมาณหนึ่ง โดยเฉพาะคอนเสิร์ตที่มีอย่างต่อเนื่องทั้งปี คอดนตรีที่อยู่ในกรุงเทพฯ และเขตปริมณฑล มีไม่น้อยที่รู้จักมักคุ้นกับคอนเสิร์ตดนตรีคลาสสิกตามฤดูกาลของคณะดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กันอย่างแน่นอน

 การแสดงคอนเสิร์ตของ Thailand Philharmonic Orchestra ถือว่าเป็นคอนเสิร์ตที่จัดขึ้นทุกวันสุดสัปดาห์ ศุกร์และเสาร์ เป็นประจำ ซึ่งเป็นที่นิยมและรู้กันของชาวต่างชาติที่อยู่ในเมืองหลวง ซึ่งชมชอบมาชมคอนเสิร์ตดนตรีคลาสสิก โดยมีวาทยกรหรือคอนดักเตอร์ที่มีชื่อเสียงในระดับโลกมาอำนวยเพลง ที่หอประชุมมหิดลสิทธาคาร มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา

 หลายๆ คน อาจจะร้อง วู้! แบบขัดๆ อารมณ์ อยู่ไกลตั้งศาลายา รถไฟฟ้าทั้งบนดินและใต้ดินก็ไม่มี ฝ่ารถติดกว่าจะออกจากเมืองไปถึง ก็หมดอารมณ์ดูซะแล้ว การจราจรเป็นจลาจลในเมืองหลวงทำให้ทุกคนขยาดอยู่พอควร แต่จริงๆ แล้วไม่วุ่นวายและยุ่งยากขนาดนั้นในการเดินทาง เพราะมีการจัดเส้นทางพิเศษ จากสถานีบีทีเอสบางหว้า รอบพิเศษวันศุกร์และวันเสาร์ที่มีการแสดงคอนเสิร์ต Thailand Philharmonic Orchestra โดยวันศุกร์ รถคันสุดท้ายจะออกจากศาลายาหลังจากจบการแสดง 15 นาที ส่วนวันเสาร์ รถจะออกจากสถานีรถไฟฟ้าบางหว้า (ประตูทางออกที่ 1-2) เวลา 14.30 น., 15.00 น., 15.20 น. และรถจะออกจากศาลายาหลังจากจบการแสดง 15 นาที ใช้ทางออกที่ 1-2 และเดินไปอีกประมาณ 20 เมตร ถึงป้ายรถประจำทาง

 เรียกว่าเดินทางไม่ติดขัด ฉลุยมากๆ ที่หยิบยกมาพูดถึง เพราะจะมีเทศกาลดนตรีแจ๊ซนานาชาติ (Thailand International Jazz Conference - TIJC) ครั้งที่ 9 ซึ่งเป็นเวทีการแสดงดนตรีแจ๊ซคุณภาพระดับอาเซียน นำทัพศิลปินแจ๊ซชื่อดัง พร้อมทั้งมือกีตาร์ระดับโลก ระหว่างวันที่ 27-29 ม.ค. 2560 ณ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา

 โดย รศ.ดร.สุกรี เจริญสุข คณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล และประธานจัดงานครั้งนี้ กล่าวว่า นับเป็นการก้าวสู่ปีที่ 9 ของเทศกาลดนตรีแจ๊ซนานาชาติในการมอบความสุขที่มีทั้งมาตรฐาน และคุณภาพ เป็นหน้าเป็นตาให้กับประเทศ ในด้านศิลปะทางดนตรี TIJC ให้ความสำคัญทั้งศิลปะการดนตรีในเชิงลึก และความบันเทิงแก่ผู้ฟังการจัดงานในครั้งนี้ได้เติมความสนุกให้เข้มข้นยิ่งขึ้น เนื่องจากในปี 2559 ประเทศไทยได้พบกับเหตุการณ์ที่เศร้าโศกเสียใจมาอย่างหนักจึงอยากสร้างความสุขผ่านเวทีแห่งนี้ เพื่อเป็นแรงใจเป็นกำลังใจให้คนไทย

 “เราคือที่แรกในอาเซียนที่ให้ความสนใจกับเรื่องของ Jazz และ Education สำหรับปีนี้เราได้รับความสนับสนุนส่งเสริมศาสตร์ด้านดนตรีจากสถานทูตต่างๆด้วย อาทิ สถานทูตอเมริกาประจำประเทศไทย สนับสนุนวง Donald Harrison Quarter สถานทูตอิสราเอล ให้การสนับสนุน Shai Maestro ส่วนสถานทูตเม็กซิโก สนับสนุน Magos Herrera ผมขอยืนยันว่า ‘คุณภาพ’ คือหัวใจสำคัญที่ทำให้ TIJC ยืนหยัดมาถึงทุกวันนี้” รศ.ดร.สุกรี กล่าว

ชุมทางดนตรีคนเมือง ณ ศาลายา

 

 ด้าน ดริน พันธุมโกมล หัวหน้าสาขาวิชาดนตรีแจ๊ซ กล่าวถึงศิลปินที่มาร่วมขึ้นเวทีในครั้งนี้ว่า ต้องยอมรับว่าถึงยุคของคนรุ่นใหม่ นักดนตรีที่มาร่วมงานปีนี้เมื่อเทียบกับปีผ่านๆ มาถือว่าอายุยังน้อยแต่ผ่านประสบการณ์การเล่นกับนักดนตรีชั้นนำมากมายอย่าง Julian Lage ในวัย 28 ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในนักกีตาร์แจ๊ซที่มีผู้ติดตามฟังมากที่สุด ไม่ต่างอะไรกับป๊อป สตาร์ คนหนึ่ง

 ส่วน นพดล ถิรธราดล ผู้จัดการโครงการ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปีที่ผ่านมา มีการแสดงระหว่าง TPO (Thailand Philharmonic Orchestra) กับนักดนตรีแจ๊ซ เป็นครั้งแรกไม่ใช่เรื่องง่ายที่วงซิมโฟนีขนาดใหญ่มีนักดนตรีเกือบ 80 ชีวิต มาแสดงร่วมกับแจ๊ซ ซึ่งได้รับการตอบรับจากผู้ชมเป็นจำนวนมากในปีนี้จึงไม่พลาดที่จะนำมือแซ็กโซโฟนนักดนตรีแจ๊ซในตำนานจากนิวออร์ลีนส์Donald Harrison ซึ่งเขียนเพลงขึ้นมาเพื่อการนี้โดยเฉพาะ ที่จะบรรเลงร่วมกับ TPO

 “TIJC ยังเป็นเทศกาลแจ๊ซ Conference ที่มีศิลปินแถวหน้าของโลกมาถ่ายทอดความรู้กับ Jazz Camp ซึ่งมีการกำหนดหัวข้อชัดเจน คนที่จะมาเข้าแคมป์จะได้เรียนรู้ในเรื่องต่างๆ เกี่ยวกับแจ๊ซ ซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี เราได้รับความร่วมมือกับคนในวงการทั้งในและต่างประเทศด้วยดีมาโดยตลอด และมีเวทีให้นักดนตรีแจ๊ซได้มาปล่อยของ อย่างปีนี้วง Bigband มีมากถึง 50 วง รวมแล้วปีนี้มีวงมาบรรเลงกันมากถึง 60 กว่าวง นักดนตรีเกือบ 1,000 ชีวิต“ นพดล กล่าวปิดท้าย

 สำหรับแฟนเพลงที่รอคอยความสนุกกับศิลปินไทยก็จะได้เห็นนักร้องเสียงนุ่ม โรแมนติก ที่จัดเต็มเพื่องานนี้โดยเฉพาะอย่าง นภ พรชำนิ และกีตาร์ไอดอล แจ็ค-ธรรมรัตน์ ดวงศิริ ที่ได้รับรางวัลทั้งในและต่างประเทศมากมาย พร้อมด้วยวงดนตรีที่ประกอบด้วยคณาจารย์ด้านดนตรีแจ๊ซที่มีชื่อเสียงจากมหาวิทยาลัยต่างๆ อย่าง Silpakorn University Jazz Orchestra, RSU University Jazz Orchestra และวงจากคณะผู้จัดงาน Pomelo Town

 ติดตามความเคลื่อนไหว เทศกาลดนตรีแจ๊ซนานาชาติ ครั้งที่ 9 ได้ที่ www.#jc.net และ  facebook.com/#jc.net ซื้อบัตรร่วมงาน TIJC ได้ที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 02-849-6565/6 ต่อ 6603, 6604, 6609 หรือ www.msticket.music.mahidol.ac.th