posttoday

เตือนสื่องดวิจารณ์คดีครูจอมทรัพย์หวั่นละเมิดอำนาจศาล

17 มกราคม 2560

โฆษกอัยการสูงสุดแถลงเตือนอย่าวิจารณ์คดีครูจอมทรัพย์ เหตุยังอยู่ระหว่างขั้นตอนสืบพยาน ควรรอให้กระบวนการพิจารณาของศาลให้เสร็จสิ้นก่อน

โฆษกอัยการสูงสุดแถลงเตือนอย่าวิจารณ์คดีครูจอมทรัพย์ เหตุยังอยู่ระหว่างขั้นตอนสืบพยาน ควรรอให้กระบวนการพิจารณาของศาลให้เสร็จสิ้นก่อน

จากกรณีที่นางจอมทรัพย์ แสนเมืองโคตร อายุ 54 ปี อดีตข้าราชการครูที่เพิ่งพ้นโทษจำคุก 3 ปี 2 เดือน คดีขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2548 ที่อ.เรณูนคร จ.นครพนม ได้ยื่นคำร้องต่อศาลอุทธรณ์ภาค 4 เพื่อให้มีการรื้อฟื้นคดี จนกลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง

ล่าสุดเมื่อวันที่ 17 ม.ค. เรือโทสมนึก เสียงก้อง โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด พร้อมนายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกฯ ร่วมกันแถลงว่า ขณะนี้คำพิพากษาศาลฎีกายังมีผลที่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งมีผลผูกพันตัวจำเลย ฉะนั้นการวิพากษ์วิจารณ์ของสื่อมวลชน และสื่อในโซเชียลเน็ตเวิร์กต้องกระทำด้วยความระมัดระวัง เพราะขณะนี้คดีในส่วนที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีคำสั่งให้ศาลจังหวัดนครพนมซึ่งเป็นศาลชั้นต้น ดำเนินการสืบพยานตามคำร้องของนางจอมทรัพย์ ผู้ร้อง และอัยการผู้คัดค้าน อยู่ในกระบวนการพิจารณาชั้นศาล

เรือโทสมนึก กล่าวว่า เมื่อศาลจังหวัดนครพนมดำเนินการสืบพยานฝ่ายผู้ร้องและฝ่ายผู้คัดค้านเสร็จสิ้นแล้ว ต้องส่งสำนวนการสืบพยานให้ศาลฎีกามีคำสั่งว่า จะยกคำร้องขอรื้อฟื้นคดี หรือจะยกคำพิพากษาเดิมของศาลฎีกาที่ลงโทษจำคุกไว้ ซึ่งเป็นไปตามขั้นตอน พ.ร.บ.การรื้อฟื้นคดี พ.ศ.2526 มาตรา 23 ดังนั้นเมื่อคดียังอยู่ในระหว่างการดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย จึงไม่อาจวิพากษ์วิจารณ์เพราะอาจเป็นการก้าวล่วงและละเมิดการพิจารณาคดีของศาลได้

ขณะที่นายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสนง.อัยการสูงสุด กล่าวว่า ประเด็นที่อยากเผยแพร่ผ่านสื่อมวลชน คือ คำพิพากษาศาลฎีกายังมีผลผูกพันและชอบด้วยกฎหมาย และกระบวนการรื้อฟื้นคดียังอยู่ระหว่างการดำเนินการของศาล ไม่ควรวิพากษ์วิจารณ์ก้าวล่วง และยังไม่ควรเรียกนางจอมทรัพย์ว่าเป็นแพะในคดี รวมทั้งยังไม่มีสิทธิได้รับค่าเยียวยาผู้เสียหายในคดีอาญา เพราะต้องรอการสืบพยานและคำพิพากษาในส่วนของการขอรื้อฟื้นคดีของศาลฎีกาให้ถึงที่สุดเสียก่อน ซึ่งคดีนี้พนักงานสอบสวนได้รวบรวมพยานหลักฐานได้ละเอียดครบถ้วน สมบูรณ์ และดำเนินการถูกต้องตามกฎหมายแล้ว

ทั้งนี้ กระบวนการยุติธรรมทั้งระบบต้องร่วมกันตรวจสอบเพื่อเป็นหลักประกันในสิทธิเสรีภาพของประชาชน กระบวนการรื้อฟื้นคดีจึงมีขึ้นเพื่อร่วมกันค้นหาความจริง แต่ควรคำนึงว่าอย่าเพิ่งด่วนสรุปว่าคดีจะออกมาเป็นเช่นไร ขอให้รอกระบวนการพิจารณาของศาลให้เสร็จสิ้นก่อน