posttoday

กลุ่มรักษ์เชียงของร้องกสม.ตรวจสอบระเบิดแก่งแม่น้ำโขง

05 มกราคม 2560

กลุ่มรักษ์เชียงของยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติตรวจสอบระเบิดแก่งแม่น้ำโขง ชี้กระทบหนัก 7 ด้าน

กลุ่มรักษ์เชียงของยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติตรวจสอบระเบิดแก่งแม่น้ำโขง ชี้กระทบหนัก 7 ด้าน

เมื่อวันที่ 5 ม.ค. นางเตือนใจ ดีเทศน์ ประธานคณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)และคณะได้เดินทางมารับหนังสือจากกลุ่มรักษ์เชียงของ ที่โฮงเฮียนแม่น้ำโขง อ.เชียงของ จ.เชียงราย เพื่อขอให้ตรวจสอบโครงการแผนพัฒนาการเดินเรือระหว่างประเทศในแม่น้ำล้านช้าง – แม่น้ำโขง ค.ศ. 2015 – 2025

นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ กล่าวว่า จากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 27 ธ.ค. 2559 ซึ่งคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแผนพัฒนาการเดินเรือระหว่างประเทศในแม่น้ำล้านช้าง – แม่น้ำโขง ค.ศ. 2015 – 2025 เพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางในการพัฒนาการขนส่งทางน้ำระหว่างประเทศในแม่น้ำล้านช้าง – แม่น้ำโขงและการดำเนินงานเบื้องต้น (งานศึกษาสำรวจออกแบบ) รวมทั้งเห็นชอบให้กรมเจ้าท่าเป็นหน่วยงานปฏิบัติและประสานงาน ในฐานะประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ ซึ่งทำงานติดตามสถานการณ์แม่น้ำโขงมาโดยตลอด ขอเรียกร้องให้กสม.ตรวจสอบแผนพัฒนาการเดินเรือระหว่างประเทศในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง รวมถึงการเปิดเผยข้อมูลรายละเอียดโครงการดังกล่าวให้ชาวบ้านได้รับทราบข้อมูล 

นายนิวัฒน์ กล่าวว่า ขณะนี้ชาวบ้านได้เกิดความกังวลถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการดังกล่าว เนื่องจากโครงการปรับปรุงร่องน้ำเพื่อการเดินเรือพาณิชย์ที่ผลักดันโดยจีนมาตลอด 2 ทศวรรษที่ผ่านมา  มีวัตถุประสงค์จะทำให้แม่น้ำโขงกลายเป็นคลองส่งน้ำ เพื่อให้เรือสินค้าขนาด 500 ตันสามารถเดินทางขนส่งสินค้าได้จากท่าเรือซือเหมา มณฑลยูนนาน ลงมาผ่านไทยไปจนถึงหลวงพระบาง ประเทศลาว

"เป็นที่สังเกตว่าข้อตกลงว่าด้วยการเดินเรือเสรีที่ร่วมลงนามโดย 4 ประเทศน้ำโขงตอนบน ได้แก่ จีน พม่า ลาว และไทย ว่าด้วยการเดินเรือระหว่าง 4 ประเทศเท่านั้น ไม่ได้ระบุครอบคลุมถึงการปรับปรุงร่องน้ำหรือระเบิดแก่งแต่อย่างใด แต่หลังจากการลงนามของ 4 ประเทศ ทีมดำเนินการระเบิดแก่งของจีนก็เริ่มปฏิบัติการในพื้นที่พรมแดนจีน-พม่า และพรมแดนลาว-พม่า โดยอ้างว่าการบูรณะร่องน้ำดังกล่าวกระทำโดยถูกต้องตามหลักสากล แต่สุดท้ายก็ติดขัดที่บริเวณพรมแดนไทย-ลาว ที่ จ.เชียงราย จึงนำมาสู่การผลักดันที่กำลังเกิดขึ้นอยู่นี้ นอกจากนี้ โครงการดังกล่าวจะดำเนินการบนแม่น้ำโขงสายประธาน  ซึ่งประเทศ ลาว และ ไทย เป็นประเทศสมาชิกในคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง หรือ MRC ที่จะต้องปฏิบัติตามขั้นตอนของข้อตกลงแม่น้ำโขงว่าด้วยกระบวนการ PNPCA แต่ไม่ปรากฏว่า มติครม.ดังกล่าวจะได้กล่าวถึงไว้แต่อย่างได้

กลุ่มรักษ์เชียงของร้องกสม.ตรวจสอบระเบิดแก่งแม่น้ำโขง

ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ กล่าวต่อว่า กลุ่มรักษ์เชียงของเห็นว่าโครงการนี้จะเป็นการละเมิดสิทธิชุมชนและสร้างผลกระทบรุนแรงต่อชุมชนริมฝั่งดังนี้ 1. ทำลายแก่งคอนผีหลง ซึ่งเป็นแก่งขนาดใหญ่บนแม่น้ำโขงบริเวณพรมแดนไทย-ลาว ที่จ. เชียงราย มีความยาว 1.6 กิโลเมตร และแก่งอื่น ๆ ในแม่น้ำโขง แก่งแม่น้ำโขง เป็นมรดกทางธรรมชาติอันทรงคุณค่า มีระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์และสลับซับซ้อน มีความสำคัญต่อวงจรชีวิตและเป็นแหล่งอาศัยและวางไข่ของ ปลาและ นก อีกทั้งยังเป็นพื้นที่หาปลาของชุมชนริมฝั่งแม่น้ำโขง

2.ทำลายแหล่งพืชพรรณบนแก่ง ริมฝั่งน้ำ และหาดแม่น้ำโขง พืชพรรณหลากชนิดบนแก่งหินและริมน้ำโขงมีความสำคัญต่อการชะลอการไหลหลากของแม่น้ำโขง และเป็นอาหารสำคัญของปลาชนิดกินพืช 3. เกิดการพังทลายของชายฝั่ง และทำลายการเดินเรือของประชาชนริมฝั่งโขงทั้งไทยและลาว การระเบิดแก่งในแม่น้ำโขงออก จะทำให้เกิดกระแสน้ำที่ไหลแรงและเร็วมากขึ้น อาจจะทำให้เกิดการกัดเซาะริมตลิ่ง ซึ่งจะทำให้แม่น้ำกว้างขึ้นอีกด้วย อันจะส่งผลให้การเดินเรือสัญจรและการทำประมงของชาวบ้านในเขตอำเภอเชียงแสน เชียงของ และเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย อันเป็นอุปสรรคในการเดินเรือริมฝั่งและข้ามฝั่งของประชาชนสองฝั่งโขง อีกทั้ง จากการระเบิดแก่งและมีการเดินเรือ ขนาด 500 ตัน โครงการดังกล่าวได้มีข้อกำหนดห้ามมิให้ประชาชนทั่วไปทำการที่กีดขวางการเดินเรือพาณิชย์ อาทิ ห้ามวางอวนจับปลาในแม่น้ำโขง ซึ่งจะทำให้ชาวบ้านสองฝั่งโขงประสบปัญหาในการประกอบอาชีพประมงเป็นอย่างมาก

4.การค้าขายชายแดนมีการเจริญเติบโตและรวดเร็วมากขึ้นอยู่แล้ว จากการขนส่งโดยถนนเอเชียหมายเลข 13และสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 4 เชียงของ –ห้วยทราย ซึ่งเป็นเส้นทางสำคัญในการขนส่งสินค้าชายแดนระหว่างจีนและไทย อีกทั้ง ปัจจุบันก็ยังคงมีเรือขนส่งสินค้าจากมณฑลยูนานถึงท่าเรือเชียงแสนได้ตลอดปี ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อทั้งสองประเทศอยู่แล้ว การขนส่งและเดินเรือสินค้าขนาด 500 ตันในอนาคตจะเป็นประโยชน์ของจีนเพียงประเทศเดียว แต่ต้องแลกกับทำลายระบบนิเวศสำคัญของแม่น้ำโขง จึงไม่มีความคุ้มค่าแต่อย่างใด

5. การเสี่ยงต่อการสูญเสียดินแดน เนื่องจากการปักปันเขตแดน ไทย-ลาว ตามสนธิสัญญาฝรั่งเศส ใช้ร่องน้ำลึกเป็นตัวชี้วัด หากมีการระเบิดแก่ง ปรับปรุงร่องน้ำ ก็จะทำให้ไทยสูญเสียดินแดนเป็นบริเวณกว้าง ซึ่งเหตุผลข้อนี้เอง ที่ก่อนหน้านี้ในปี 2546 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ชะลอโครงการและให้มีการศึกษาผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมและเสนอให้กระทรวงกลาโหมจัดทำข้อตกลงกับประเทศลาวให้แล้วเสร็จในปี 2546 และทำให้โครงการยุติมาจนปัจจุบันหากปล่อยให้เกิดการระเบิดแก่งขึ้นได้ตามโครงการดังกล่าว ซึ่งโครงการนี้อาจจะกลายเป็นโครงการที่เปิดโอกาสให้ประเทศเพื่อนบ้านมาละเมิดอธิปไตยของไทยได้

6.ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย กำหนดว่า โครงการที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงดินแดนจะต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา แต่ปรากฏว่า มติครม.ดังกล่าว ยังมิได้ผ่านความเห็นของจากรัฐสภาแต่อย่างใด อันเป็นการละเมิดกฎหมายภายในประเทศ 7.โครงการนี้เป็นโครงการที่ตั้งอยู่บนแม่น้ำนานาชาติ ซึ่งมีกฎหมายระหว่างประเทศคุ้มครองการดำเนินโครงการที่ส่งผลกระทบต่อประเทศเพื่อนบ้าน การลงนามร่วมกันของ 4 ประเทศ โดยไม่ได้ปรึกษาหารือกับกัมพูชา และเวียดนาม  ซึ่งจะได้รับผลกระทบจากโครงการเช่นเดียวกัน เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องชอบธรรม อีกทั้งยังขัดต่อทั้งข้อตกลงแม่น้ำโขง ว่าด้วย กระบวนการ PNPCA และ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยการบริหารจัดการแม่น้ำนานาชาติอีกด้วย

ด้านนางเตือนใจกล่าวว่า ครั้งก่อนเคยมีโครงการระเบิดแก่งในแม่น้ำโขงมาแล้ว แต่เมื่อวุฒิสภาในยุคนั้นได้ตรวจสอบและสามารถยุติโครงการไปได้ แต่เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาครม.กลับมีมติอนุญาตให้เดินหน้าโครงการนี้อีกโดยไม่ได้มีการสอบถามจากประชาชนเจ้าของพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ และไม่มีการให้ข้อมูลใดๆจึงถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิของชุมชน เพราะโครงการดังกล่าวส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชาวบ้าน ทั้งในเรื่องระบบนิเวศที่ถูกทำลายและผลกระทบจากการปล่อยให้เรือขนาดใหญ่ 500 ตันแล่นผ่านซึ่งจะทำให้เรือกสวนไล่นาได้รับความเสียหาย

“หลังจากเรื่องเข้าสู่กสม.แล้ว อนุกรรมการฯจะเร่งรัดเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาตรวจสอบและชี้แจง เพื่อจัดทำเป็นรายงานข้อเสนอแนะส่งให้ครม.ต่อไป”นางเตือนใจกล่าว

กลุ่มรักษ์เชียงของร้องกสม.ตรวจสอบระเบิดแก่งแม่น้ำโขง