posttoday

สธ.เตือนเที่ยวป่ากางเต็นท์หน้าหนาวระวัง“ตัวไรอ่อน”

31 ธันวาคม 2559

โฆษก สธ.เตือนเที่ยวป่ากางเต็นท์หน้าหนาวระวัง“ตัวไรอ่อน” กัดเสี่ยงโรคไข้รากสาดใหญ่

โฆษก สธ.เตือนเที่ยวป่ากางเต็นท์หน้าหนาวระวัง“ตัวไรอ่อน” กัดเสี่ยงโรคไข้รากสาดใหญ่

นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในช่วงฤดูหนาวประชาชนนิยมเที่ยวภูเขา ป่า ขอให้ระวังถูกตัวไรอ่อนกัด ติดโรคไข้รากสาดใหญ่หรือโรคสครับไทฟัส (Scrub typhus) ตัวไรอ่อนจะมีเชื้อริกเกตเซีย (Rickettsia orientalis) บริเวณที่ชอบโดนกัดคือในร่มผ้า เช่น ลำตัว เอว รักแร้ ขาหนีบ หลังถูกกัดประมาณ 10-12 วัน จะมีไข้สูง หนาวสั่น เหงื่อออก ปวดศีรษะมากโดยเฉพาะขมับและหน้าผาก คลื่นไส้ อาเจียน หูอื้อ ปวดเมื่อยตามร่างกาย อ่อนเพลีย ตัว ตาแดง ผิวหนังผู้ป่วยที่ถูกไรอ่อนกัดจะพบแผลคล้ายถูกบุหรี่จี้ ลักษณะเป็นรอยบุ๋มสีดำ เป็นลักษณะเฉพาะของโรคนี้ บางรายอาจหายได้เอง แต่บางรายอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น ปอดอักเสบ สมองอักเสบ ทำให้เสียชีวิตได้

นายแพทย์เกียรติภูมิกล่าวต่อว่า ในการป้องกันไม่ให้ไรอ่อนกัด ผู้ที่จะไปเดินเที่ยวและพักค้างแรมในป่า ควรใช้ยาทากันแมลงกัด ที่แขน ขา ใส่เสื้อแขนยาวปิดคอ เหน็บปลายเสื้อเข้าในกางเกง ใส่รองเท้า ถุงเท้าหุ้มปลายขากางเกงไว้ ในการเลือกที่ตั้งเต็นท์พักในป่า ควรทำบริเวณที่พักให้โล่งเตียน หลีกเลี่ยงการนั่ง นอนบริเวณพุ่มไม้ ใต้ต้นไม้ใหญ่ที่แสงแดดส่องไม่ถึง ป่าละเมาะ หรือหญ้าขึ้นรก และเมื่อกลับมาถึงที่พัก รีบอาบน้ำฟอกตัวด้วยสบู่ให้สะอาดทันทีหลังกลับมาจากการเข้าไปในแหล่งอาศัยของไรอ่อน รีบนำเสื้อผ้าไปต้ม หรือแช่ผงซักฟอกทันที เพื่อทำลายไรอ่อนที่อาจติดมากับเสื้อผ้าได้  หากภายใน 2 สัปดาห์หลังออกจากป่ามีอาการป่วยตามอาการข้างต้น ควรรีบไปพบแพทย์ทันที แจ้งประวัติการเข้าไปในป่าเพื่อการวินิจฉัยโรคที่ถูกต้อง โดยแพทย์จะรักษาด้วยการให้รับประทานยาปฏิชีวนะ

จากข้อมูลการเฝ้าระวังสถานการณ์โรคสครับไทฟัส โดยสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่ 1 มกราคม 2559 – 20 ธันวาคม 2559 ทั่วประเทศ มีรายงานผู้ป่วย 6,668 ราย เสียชีวิต 2 ราย ภาคเหนือมีผู้ป่วยมากที่สุด 4,172 ราย รองลงมาคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1,499 ราย โรคนี้สามารถพบผู้ป่วยได้ตลอดปี มักพบในกลุ่มชาวสวน ชาวไร่ นักล่าสัตว์ นักท่องป่า ทหาร และผู้ที่ออกไปตั้งค่ายในป่า จะพบมากในช่วงฤดูฝน และฤดูหนาว โดยตัวไรแก่จะชอบอาศัยอยู่บนหญ้าและวางไข่บนพื้นดิน เมื่อฟักเป็นตัวอ่อน ไรอ่อนจะกระโดดเกาะสัตว์ เช่น หนู กระแต กระจ้อน หรือคนที่เดินผ่านไปมา เพื่อดูดน้ำเหลืองเป็นอาหาร หากประชาชนมีข้อสงสัย สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422