posttoday

สวทช.ร่วมเอกชนเปิดตัวนวัตกรรมไล่ยุง-ผลิตภัณฑ์ความงามจากธรรมชาติ

30 พฤศจิกายน 2559

สวทช.ร่วมกับเอกชนพัฒนานวัตกรรมน้ำยาไล่ยุงจากธรรมชาติและผลิตภัณฑ์ความงามจากสารสกัดข้าวไรส์เบอร์รี่

สวทช.ร่วมกับเอกชนพัฒนานวัตกรรมน้ำยาไล่ยุงจากธรรมชาติและผลิตภัณฑ์ความงามจากสารสกัดข้าวไรส์เบอร์รี่

เมื่อวันที่ 30 พ.ย. สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดงานแถลงข่าว Biotechnology Lab to Market ตอน เทคโนโลยีชีวภาพสู่นวัตกรรมไล่ยุง และผลิตภัณฑ์ความงาม โดยโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) ที่ลานอเนกประสงค์ชั้น 1 อาคารนวัตกรรม 2 (INC2) ทาวเวอร์ C อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี

นายณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า สวทช. โดย ITAP ดำเนินงานเพื่อพัฒนาศักยภาพของ SMEs ให้มีขีดความสามารถทางเทคโนโลยีสูงขึ้น ด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมให้เหมาะสมกับความต้องการ ของภาคอุตสาหกรรม ซึ่งผลงานทั้ง 2 ชิ้นที่จัดแสดงในวันนี้ เป็นการทำงานร่วมกันของนักวิจัยสวทช. มหาวิทยาลัย และเอกชน โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนา SMEs ให้เข้มแข็งนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ซึ่งจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และยกระดับการแข่งขันของประเทศ 

สำหรับการร่วมกันพัฒนานวัตกรรมสูตรน้ำไล่ยุงชนิดไมโครแคปซูล ภายใต้โครงการพัฒนานวัตกรรม Polymer assisted a sustained and release (PASAR: พาซ่าร์) เกิด่จากความร่วมมือกันระหว่างบริษัท บาริแคร์ จำกัดและนักวิจัยภาครัฐ ได้แก่ สวทช. , มหาวิทยาลัยนเรศวร และศูนย์วิจัยค้นคว้าและพัฒนายา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภายใต้ทุนสนับสนุนงานวิจัยจาก ITAP และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA)

นายสรวง สมานหมู่ นักวิจัยห้องปฏิบัติการเคมีอินทรีย์ชีวภาพ ไบโอเทค สวทช. กล่าวว่า จุดเริ่มต้นเกิดจากนายชัยรัฐ หอณรงค์ศิริ ประธานกรรมการบริษัท บาริแคร์ จำกัด มีความสนใจในการทำให้น้ำมันหอมระเหยที่ใช้เป็นผลิตภัณฑ์ไล่ยุงระเหยช้าลง ทั้งนี้ นวัตกรรมสูตรน้ำไล่ยุงใช้กระบวนการไมโครเอนแคปซูเลชั่นของสารสกัดจากธรรมชาติ ช่วยในการกักเก็บน้ำมันหอมระเหยเพื่อให้สามารถปล่อยสารสกัดในน้ำมันสารระเหยออกอย่างช้าๆ และถือว่าเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการไล่ยุง

ด้านนางปลื้มจิตต์ โรจนพันธุ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยค้นคว้าและพัฒนายา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ทางศูนย์วิจัยฯได้รับความไว้วางใจให้ทดสอบความเป็นพิษต่อเซลล์ผิว พบว่าน้ำยาตัวอย่างที่เก็บออกมาจากเครื่องสร้างไอน้ำ ซึ่งมีประสิทธิภาพในการไล่ยุง ไม่พบความเป็นพิษต่อเซลล์จึงเหมาะสมสำหรับในการป้องกันและช่วยควบคุมการแพร่ระบาดของโรคที่มียุงเป็นพาหะ ทั้งนี้ ก็ต้องยอมรับว่าเครื่องมือในศูนย์วิจัยฯมีความพร้อมในระดับหนึ่ง แต่ยังไม่เพียงพอ และคิดว่าถ้าเรามีอุปกรณ์ที่พร้อมมากกว่านี้จะสามารถพัฒนาและต่อยอดงานวิจัยได้มากขึ้น

นายชัยรัฐ หอณรงค์ศิริ ประธานกรรมการบริษัท บาริแคร์ จำกัด กล่าวว่า เริ่มแรกตนรู้สึกว่าช่วงนี้มีการแพร่ระบาดของโรคที่มียุงเป็นพาหะมากขึ้น จึงอยากหาวิธีป้องกันแต่ไม่ฆ่า โดยไปปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญจนได้นวัตกรรมน้ำยาไล่ยุง ซึ่งนอกจาก จะเป็นสารสกัดจากธรรมชาติแล้วยังมีการเติมสารในกลุ่มไพรีทรอยด์ เพื่อใช้เพิ่มประสิทธิภาพในการไล่ยุง และนำไปใส่เครื่องสร้างไอน้ำขนาดอนุภาคระดับนาโน ซึ่งมีรัศมีวงกว้างในการไล่ยุง  15 ตารางฟุต เหมาะสำหรับการป้องยุงในสถานที่โล่งแจ้ง

ส่วนการพัฒนานวัตกรรมสารสกัดโปรตีนจากข้าวไรซ์เบอร์รี่ เป็นผลิตภัณฑ์ความงามครีมมาร์คหน้า และสบู่จากสารสกัดข้าวที่ช่วยฟื้นฟูสภาพผิวและเพิ่มความกระจ่างใสแก่ผิวหน้า เกิดจากการร่วมมือกันระหว่างบริษัท แอควาเทค จำกัด ภายใต้การทำการตลาดของบริษัท เบลลิส บิวตี้ จำกัด ร่วมกับสวทช. และITAP

นายสมชัย เจียจิตต์สวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญโครงการ กล่าวว่า นวัตกรรมนี้มีจุดเริ่มต้นมาจากที่ตนได้ลงพื้นที่ในชุมชนแล้วพบว่า คนในชุมชนเดือดร้อนจากราคาข้าวตกต่ำ จึงมีแนวคิดในการต่อยอดเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับข้าวไทย โดยเหตุผลที่เลือกข้าวไรส์เบอร์รี่ เนื่่องจากอุดมไปด้วยสารแอนโทไซยานิน ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่สูง และโปรตีนที่สกัดจากข้าวไรซ์เบอร์รี่นั้นจะช่วยทำให้ผิวหน้าชุ่มชื่น

ด้านนายสรวง กล่าวว่า อนาคตอยากเห็นการต่อยอดนวัตกรรมการสกัดสารจากข้าวไรซ์เบอร์รี่เป็นผลิตภัณฑ์อย่างอื่น และมีการสร้างเรื่องราวของงานวิจัยสารสกัดข้าวอย่างจริงจังเหมือนกับโสมของประเทศเกาหลี ซึ่งถ้าหากโครงการสามารถทำได้แบบโสม นับว่าเป็นเรื่องน่ายินดี ชาวต่างชาติที่เข้ามาจะได้รู้สึกชื่นชมข้าวไทยที่ไม่เพียงแต่ใช้กินเป็นอาหารเท่านั้น แต่ยังมีคุณประโยชน์ด้านอื่นๆอีกมากมาย อีกทั้ง ในอนาคตอาจจะมีการนำข้าวที่เหลือจากการสกัดนำมาแปรรูปเป็นอาหารเสริมด้วย

นางศิณัฐมณฑ์ รัฐวราพงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เบลลิส บิวตี้ จำกัด กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์จากสารสกัดข้าวไรส์เบอร์รี่ภายใต้แบรนด์สินค้าเบลลิส มี 2 ชนิด ได้แก่ ครีมมาร์คหน้า เพิ่มความกระจ่างใส และลดริ้วรอย และสบู่ฟื้นฟูสภาพผิว ซึ่งเร็วๆนี้บริษัทจะมีการออกผลิตภัณฑ์เพิ่มเติม ทั้งนี้ ยังสนใจในส่วนของน้ำมันรำข้าว ซึ่งยังอยู่ในขั้นตอนที่กำลังวิจัยร่วมกับทีมคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าทำอย่างไรให้สารแอนโทไซยานินละลายในน้ำมันรำข้าว

สวทช.ร่วมเอกชนเปิดตัวนวัตกรรมไล่ยุง-ผลิตภัณฑ์ความงามจากธรรมชาติ