posttoday

ครูอาสาเกื้อฝันปันความรู้

26 พฤศจิกายน 2559

แม้เราจะเข้าสู่ยุคดิจิทัลโลกความรู้ที่เข้าถึงได้แค่ลัดนิ้วมื้อ แต่ก็ยังมีเด็กนับแสนคนทั่วประเทศไทยที่ไม่สามารถเข้าถึง

โดย...โยโมทาโร่

แม้เราจะเข้าสู่ยุคดิจิทัลโลกความรู้ที่เข้าถึงได้แค่ลัดนิ้วมื้อ แต่ก็ยังมีเด็กนับแสนคนทั่วประเทศไทยที่ไม่สามารถเข้าถึงระบบการศึกษาที่ดี แต่ปัญหาใหญ่ไม่ได้อยู่ที่เทคโนโลยีที่เข้าไปไม่ถึงพวกเขา สาเหตุจริงๆ มาจากไม่มีคุณครูเข้าถึงพวกเขามากพอต่างหาก โครงการครูอาสาเกื้อฝันเด็กจึงตั้งขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้เด็กๆ และเหล่าอาสาสมัครได้เข้ามาร่วมเรียนรู้ร่วมกัน

ฉวีวรรณ ขวัญสุข ผู้ประสานงานมูลนิธิเกื้อฝันเด็กและเจ้าหน้าที่โครงการครูอาสาเกื้อฝันเด็ก (childsdream.org) บอกว่า “ที่มาของโครงการนี้เริ่มต้นมาจากวัตถุประสงค์ของมูลนิธิเกื้อฝันเด็ก ที่จะให้ความช่วยเหลือเรื่องการศึกษาแก่เด็กๆ ชาวเขาทางภาคเหนือ และได้ร่วมมือกับเครือข่ายจิตอาสา (www.volunteerspirit.org) ในการจัดหาอาสาสมัครครูอาสาลงในพื้นที่ของ จ.เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน และจังหวัดอื่นๆ ทางภาคเหนือ

ครูอาสาเกื้อฝันปันความรู้

 

“ปัญหาแรกๆ ที่เราพบในตอนเริ่มโครงการก็คือโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลจะมีหอพักให้กับนักเรียนที่มีบ้านอยู่ห่างจากโรงเรียนเป็นระยะทางไกล เลยเป็นจุดเริ่มต้นที่เราต้องมีการสร้างหอพักให้กับนักเรียน และเมื่อทำงานในพื้นที่นานๆ ปัญหาที่ยิ่งกว่านั้นก็คือถึงจะมีเด็กเข้ามาเรียนในโรงเรียน แต่ก็มีปัญหาเรื่องของการขาดแคลนคุณครู ซึ่งหาครูได้น้อยมากที่จะเข้ามาสอนในโรงเรียนในถิ่นทุรกันดาร

“คุณครูส่วนใหญ่ก็มักจะใช้โรงเรียนเหล่านี้เป็นพื้นที่ในการเข้าบรรจุรับราชการครู เพราะว่าเมื่อบรรจุแล้วต้องใช้เวลาสอนอยู่ประมาณ 2 ปี เมื่อครบ 2 ปีคุณครูเหล่านี้ก็จะขอทำเรื่องย้ายไปเข้าทำงานที่โรงเรียนอื่น ทำให้ช่วงระยะเวลาที่คุณครูย้ายไปทำให้โรงเรียนขาดแคลนคุณครูอย่างมาก

ครูอาสาเกื้อฝันปันความรู้

 

“โครงการของเราเป็นโครงการระยะสั้นทำปีต่อปี ในช่วงเริ่มของโครงการใหม่ๆ นั้นเราเริ่มต้นได้เพียงแค่ 2-3 เดือน แต่หลังจากนั้นมาตั้งแต่รุ่นที่ 4 จนถึงปัจจุบันคือรุ่นที่ 6 เราก็เริ่มปรับปรุงโดยการเฟ้นหาอาสาสมัครในแต่ละปีในช่วงประมาณต้นปีจนถึงกลางปี จากนั้นเมื่อคัดเลือกอาสาสมัครมาได้แล้วเราจะใช้เวลาอบรมอยู่ประมาณ 1-2 เดือน เพื่อเตรียมพร้อมคุณครูอาสาเหล่านี้ ว่าพวกเขาจะต้องไปเจอกับอะไรบ้างแล้วพวกเขาจะต้องสอนอะไรกับเด็กๆ ในแต่ละปีการศึกษาตั้งแต่เดือน พ.ย. ลากยาวไปจนถึงเดือน มี.ค. เพื่อให้ครูอาสาสามารถสอนเด็กๆ ได้อย่างเต็มที่ตลอดทั้งเทอม

“พอเมื่อทำมาได้สักระยะหนึ่งเราก็พบว่าปัญหาเรื่องของการขาดแคลนคุณครูนั้นกลายเป็นเรื่องเล็กไปเลย เมื่อเทียบกับปัญหาในเรื่องของรูปแบบการสอนรูปแบบการสอนแต่เดิมของระบบการศึกษาไทยนั้นใช้ระบบแล็กเชอร์เบส คือระบบที่ให้คุณครูสอนหน้าชั้นแล้วเด็กๆ จดตามที่เรียนที่สอน แต่ว่าระบบการเรียนการสอนของเราที่อบรมกับครูอาสานั้นจะเป็นระบบแอ็กทีฟ เลิร์นนิ่ง ให้เด็กๆ มีส่วนร่วมในการเรียนการสอนและในการปฏิบัติลงมือทำ เพื่อกระตุ้นแรงจูงใจในการเรียนรู้ของเขา แต่ไม่ได้หมายความว่าคุณครูในพื้นที่นั้นสอนไม่ดี เพราะการเรียนการสอนในบางวิชาบางรูปแบบก็เหมาะสมที่จะใช้ในระบบแล็กเชอร์เบส ซึ่งต้องเห็นใจคุณครูในพื้นที่เหล่านี้ด้วย เพราะครู 1 คนนั้นจำเป็นจะต้องสอนทุกวิชา

ครูอาสาเกื้อฝันปันความรู้

 

“นอกจากจะทำหน้าที่การสอนแล้วคุณครูอาจจะต้องทำหน้าที่ธุรการทำหน้าที่อื่นๆ ในโรงเรียน ซึ่งทำให้เวลาของคุณครูนั้นมีน้อยลงไปอีกและไม่สามารถทำงานด้านการเรียนการสอนได้อย่างเต็มที่ ครูอาสาของเราก็อยากเข้าไปช่วยเหลือและชดเชยในเรื่องของระบบการสอนและแบ่งเบาคุณครูหลักในพื้นที่ โดยเฉพาะวิชาทางด้านภาษาไทย ซึ่งเด็กๆ ชาวเขาปัญหาของพวกเขาส่วนมากก็คือไม่สามารถอ่านออกได้เขียนในภาษาไทยได้”

ในแต่ละปีจะมีอาสาสมัครประมาณ 50 คน ซึ่งแต่จะมีคุณครูอาสาลงพื้นที่การสอนอยู่ที่ประมาณ 20 คน กระจายไปตามโรงเรียนต่างๆ ที่ร้องขอมา โดยแบ่งเป็นโรงเรียนละ 2 คน เพื่อจับคู่อยู่ด้วยกันร่วมเป็นเพื่อนกันช่วยกันสอน

ครูอาสาเกื้อฝันปันความรู้

 

ฉวีวรรณ ทิ้งท้ายว่า “ว่างานอาสาสมัครของการเป็นครูนั้นไม่ได้สวยงามเหมือนภาพฝันที่ใครหลายๆ คนอยากจะเข้ามา การเป็นครูอาสาจะต้องเจอกับปัญหาต่างๆ มากมายไม่ว่าจะเป็นปัญหาในเรื่องของการสื่อสารภาษากับเด็กๆ ปัญหาในเรื่องของการทำงานร่วมกับคุณครูในพื้นที่ปัญหาในเรื่องของการเดินทาง ปัญหาเรื่องของการปรับตัวและวัฒนธรรมต่างๆ ที่คุณครูเหล่านี้จะต้องเรียนรู้และปรับตัว ดังนั้นคนที่จะลงมาเป็นอาสานอกจากจะมีเรื่องของจิตอาสาและความเสียสละแล้ว ยังจะต้องมีเรื่องของจิตใจที่เปิดกว้างพร้อมรับการเรียนรู้และการเปลี่ยนแปลงสิ่งใหม่ๆ

“ที่สำคัญคือเมื่อลงในพื้นที่แล้วสิ่งที่พวกเขาจะได้รับก็คือความเป็นครู ความเป็นครูนี้สำคัญมากหลายๆ คนเมื่อลงไปเป็นครูอาสาแล้วเกิดแรงบันดาลใจที่จะเรียนต่อทางด้านการเป็นครูโดยตรง เพื่อจะกลับไปสอนเด็กๆ เหล่านั้น เพราะเด็กๆ ชาวเขาเหล่านี้จะจดจำภาพของคุณว่าเป็นคุณครูของพวกเขา ไม่ว่าคุณไม่ว่าในอนาคตคุณจะทำอาชีพอะไรก็ตามแต่สิ่งที่เด็กๆ ชาวเขาเหล่านี้เก็บเป็นภาพความทรงจำก็คือคุณคือคุณครูของพวกเขาตลอดไป”

ครูอาสาเกื้อฝันปันความรู้