posttoday

กรมคุ้มครองสิทธิฯชื่นชมนักกม.ไทยได้เป็นผู้เชี่ยวชาญของยูเอ็น

23 พฤศจิกายน 2559

กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ออกแถลงการณ์ชื่นชม "ศาตราจารย์กิตติคุณวิทิต มันตาภรณ์" ได้รับดำรงตำแหน่งเชี่ยวชาญอิสระด้านการป้องกันความรุนแรงและการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ

กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ออกแถลงการณ์ชื่นชม "ศาตราจารย์กิตติคุณวิทิต มันตาภรณ์" ได้รับดำรงตำแหน่งเชี่ยวชาญอิสระด้านการป้องกันความรุนแรงและการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ

เมื่อวันที่ 23 พ.ย. นางสาวปิติกาญจน์ สิทธิเดช อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เปิดเผยว่า กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ขอแสดงความยินดีและชื่นชมกับ ศาตราจารย์กิตติคุณวิทิต มันตาภรณ์ ในฐานะนักกฎหมายไทยที่ได้รับตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญอิสระด้านการป้องกันความรุนแรงและการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ (Independent Expert on the Protection against Violence and Discrimination based on Sexual Orientation and Gender Identity - SOGI) โดยได้รับการรับรองมติเสียงข้างมากจากที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UNGA)

อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กล่าวว่า ศาสตราจารย์กิตติคุณวิทิต มันตาภรณ์ เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการผลักดัน ให้คำปรึกษา ให้ข้อเสนอแนะและร่วมดำเนินงานอย่างใกล้ชิดกับ  กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพมาโดยตลอด อาทิ การเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการเพื่ออนุวัติการตามอนุสัญญาระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนทุกฉบับที่กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพรับผิดชอบตามสนธิสัญญาระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน

"ประกอบด้วย 1.กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Civil and Political Rights – ICCPR) 2. อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ (International Convention on the Elimination of All forms of Racial Discrimination – CERD) 3. อนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือลงโทษอื่นที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรี" อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิ์  ระบุ

นางสาวปิติกาญจน์ กล่าวอีกว่า  ถัดมา 4.อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการป้องกันบุคคลจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ(International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance – CED)และ5.กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม (International Covenant on Economic Social and Cultural Rights – ICESCR)

นอกจากนี้ ได้ให้เกียรติกับกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในฐานะเป็นวิทยากรในการประชุมทั้งระดับในประเทศและในระดับเวทีโลก เป็นบุคลากรที่เป็นกำลังสำคัญในการจัดทำรายงานประเทศทุกฉบับเกี่ยวกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศไทย รวมทั้งมีส่วนสำคัญในการผลักดันกระบวนการ Universal Periodic Review (UPR)  ซึ่งถือเป็นกระบวนการของรัฐที่จะประเมินทบทวนโดยรัฐกันเอง ผ่านการหารือจากภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาคประชาชน ซี่งทำให้รัฐต้องตระหนักถึงความรับผิดชอบอย่างเต็มที่ต่อการถูกตรวจสอบโดยประเทศสมาชิกสหประชาชาติด้วยกันเพื่อนำไปสู่การปรับปรุงสถานการร์สิทธิมนุษยชนในประเทศให้ดีขึ้น และที่สำคัญยังเป็นคณะผู้แทนไทยในการรายงานหรือชี้แจงข้อมูลแก่คณะกรรมการต่าง ๆ ขององค์การสหประชาชาติอีกด้วย

กรมคุ้มครองสิทธิฯชื่นชมนักกม.ไทยได้เป็นผู้เชี่ยวชาญของยูเอ็น