posttoday

แอมเนสตี้ฯชงแก้พรบ.คอมฯชี้ละเมิดสิทธิ-เสรีภาพ

12 ตุลาคม 2559

แอมเนสตี้ฯ จัดเสวนาชงแก้ พ.ร.บ.คอมฯ ละเมิดสิทธิและเสรีภาพ พร้อมนำความเห็นเสนอ สนช.

แอมเนสตี้ฯ จัดเสวนาชงแก้ พ.ร.บ.คอมฯ ละเมิดสิทธิและเสรีภาพ พร้อมนำความเห็นเสนอ สนช.

เมื่อวันที่ 12 ต.ค. เวลา 13.00 น. ได้มีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น “ชีวิตออนไลน์ไปทางไหนดี” โดยมูลนิธิเพื่ออินเตอร์เน็ตและวัฒนธรรมพลเมือง ร่วมกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย และโครงการอินเทร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน ซึ่งนางปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ฯ ได้กล่าวเปิดงานในครั้งนี้ว่า การพูดคุยเสวนาในครั้งนี้ เป็นการพูดถึงเรื่องที่ใกล้ตัว เพราะในปัจจุบันอินเทอร์เน็ตเป็นเหมือนส่วนหนึ่งในการดำเนินชีวิตของคนหลายๆคน แล้วเมื่อมี พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ฉบับใหม่นี้ จะนำไปสู่การจำกัดสิทธิและเสรีภาพการของคนที่ใช้อินเทอร์เน็ต ดังนั้นการเสวนาครั้งนี้จะไม่ได้เป็นการพูดคุยกันทั่วไป แต่จะรวบรวมความคิดเห็นวันนี้เสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อีกด้วย

ทั้งนี้ได้มีการเล่าประสบการณ์จากผู้ที่ถูกฟ้องร้องและได้รับผลกระทบจาก พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(1) ระบุว่า “ผู้ใดนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดรือบางส่วน หรือ ข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน”

นางสาวนริศราวัลถ์ แก้วนพรัตน์ หลานสาวของ พลทหารวิเชียร เผือกสม ที่ถูกทำโทษจนเสียชีวิตในค่ายทหารจังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า ตนถูกฟ้องร้องฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาด้วยเอกสารและนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนหรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ จากกรณีโพสต์และแชร์ขอความเป็นธรรมให้กับพลทหารวิเชียร ซึ่งในความเป็นจริงแล้วตนนำเนื้อหามาจากสื่อที่มีข้อเท็จจริง และทีสำคัญตนไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการดำเนินคดีในครั้งนี้ จากเหตุการณ์นี้ทำให้นำมาคิดต่อว่าควรมีการแก้ปัญหาความเลื่อมล้ำตรงนี้ เพื่อที่จะไม่ให้เกิดกับใครอีก

ขณะที่อานดี้ ฮอลล์ นักวิจัยด้านสิทธิแรงงาน กล่าวว่า ตนโดนยื่นฟ้องคดี พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯและฟ้องเรียกค่าเสียหายในคดีแพ่ง จากโรงงานผลไม้กระป๋อง ในกรณีที่มีการเผยแพร่เนื้อหาของงานวิจัย เรื่อง การจ้างแรงงานเด็กอายุตำกว่า 15 ปี ด้วยค่าจ้างที่ต่ำกว่ากฎหมายกำหนด ซึ่งในควาามเป็นจริงนั้น ตนไม่ได้เป็นคนเผยแพร่งานวิจัยชิ้นนี้ และงานวิจัยนี้ไม่สมควรถูกฟ้องร้อง เพราะเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้แรงงาน และผู้บริโภคอย่างมาก โดยการกระทำเช่นนี้ถือเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก และควรเป็นเรื่องที่มีการแก้ไขอย่างจริงจังในประเทศไทย เพราะในต่างประเทศถือเป็นเรื่องที่สำคัญมาก

ด้านนายอานนท์ ชวาลาวัณย์ ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ หรือ iLaw กล่าวว่า ความผิดตามมาตรา 14(1) มีหลายลักษณะ ดังนี้ 1. ความผิดต่อระบบ เช่น การแฝงตัวเข้ามาทำลายระบบคอมผิวเตอร์ 2.การหลอกหลวง ฉ้แโกง เช่น การปลอมหน้าเว็บไซต์ และ 3.การหมิ่นประมาท ซึ่งข้อนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะมีความซ้ำซ้อนกับกฎหมายเดิมที่อยู่แล้วตามประมวลกฎหมายอาญา แต่การหมิ่นประมาท ตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์นั้นมีอัตราโทษที่สูงกว่า คือ โทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท และยังเป็นคดีที่ไม่สามารถยอมความได้ จากเดิมตามประมวลกฎหมายอาญานั้น สามารถตกลงชดใช้ค่าเสียหาย แล้วคดีความก็จบกันไปได้ ซึ่งถือว่าเป็นภาระของผู้ถูกล่าวหา ทั้งนี้แม้เป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงออกโดยสุจริตหรือเพื่อประโยชน์สาธาณะ ก็ไม่สามารถอ้างเหตุผลเหล่านี้ในการสู้คดีได้ และในปัจจุบันมีแนวโน้มการฟ้องร้องหมิ่นประมาทด้วยมาตรา 14(1) มากขึ้น

นอกจากนี้ยังมีการเสวนาถึง พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ จากผู้ที่เกี่ยวข้อง หรือมีความรู้ในเรื่องดังกล่าว ว่าควรมีการปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับนี้อย่างไร เพื่อให้เหมาะสมกับสิทธิเสรีภาพของผู้ใช้อินเทอร์เน็ต และภารกิจของผู้ให้บริการ

ด้านนายอัครวิทย์ จงสวัสดิ์วรกุล ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมาย DTAC กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นตัวแทนของผู้ที่ให้บริการได้รับผลกระทบจากมาตรา 15 ที่เกี่ยวกับความรับผิดชอบของผู้ให้บริการนั้นกระทบกับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต เนื่องจากใช้คำเป็นวงกว้าง โดยในความจริงนั้นควรมีการแยกประเภท เพราะผู้ให้บริการเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เป็นเหมือนท่อที่ส่งข้อมูลอินเทอร์เน็ตเท่านั้น แต่ในกฎหมายผู้ให้บริการต้องรับโทษเท่าผู้กระทำผิด ซึ่งถ้ามองในกระบวนกฎหมายอาญาเป็นเพียงแค่ผู้สนับสนุน ไม่ควรรับโทษเท่าผู้กระทำผิด เว้นแต่ผู้ให้บริการมีส่วนในการเข้าไปจัดทำข้อมูล โดยนี่ถือว่าเป็นความไม่ชัดเจนของมาตรา 15 ใน พ.ร.บ. ฉบับนี้ นอกจากนี้มาตรา 15 ยังมีความทับซ้อนกับมาตรา 20 ในเรื่องของการระงับหรือลบข้อมูลซึ่งอาจผิดกฎหมาย โดยในมาตรา 20 นั้นต้องยื่นคำร้องต่อศาล และรอคำสั่งเพื่อระงับหรือลบข้อมูล แต่ในมาตรา 15 สามารถสั่งให้ระงับข้อมูลได้ทันที โดยไม่ต้องรอคำสั่งศาล ดังนั้นถ้าเกิดกรณีแบบนี้ขึ้นแล้ว ใครจะยื่นฟ้องร้องด้วยมาตรา 20 ต้องตอบคำถามนี้ให้ได้

ทั้งนี้นายคณาธิป ทองรวีวงศ์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเซนต์จอห์น กล่าวว่า มาตรา 18 และ 19 ที่เกี่ยวกับอำนาจในการสือสวนและสอบสวนนั้น เป็นการให้พนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งได้รับอนุมัติจากรัฐมนตรี สามารถเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับการกระทำความผิดได้ ถือเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล แต่การกระทำเช่นนี้ตามหลักสากลนั้นสามารถปฏิบัติได้ โดยต้องมีกฎหมายมารองรับ และต้องมีความชัดเจนว่าจะใช้ในกรณีหรือฐานความผิดใด ไม่เช่นนั้นจะกว้างเกินไป ซึ่งผิดหลักของสากล