posttoday

ยาเสพติดพันธุ์ใหม่ สีสวย-กลิ่นอโรมา

24 สิงหาคม 2553

ปัจจุบันยาเสพติดทะลักเข้าประเทศเหมือนกับสายน้ำ แม้ว่าเจ้าหน้าที่จะพยายามสกัดกั้น แต่พวกผลิตพวกค้าก็ลักลอบขนกันสารพัดวิธี เพื่อหลบซ่อนเจ้าหน้าที่ก็ต้องไล่ตามจับกันอย่างไม่จบไม่สิ้น

ปัจจุบันยาเสพติดทะลักเข้าประเทศเหมือนกับสายน้ำ แม้ว่าเจ้าหน้าที่จะพยายามสกัดกั้น แต่พวกผลิตพวกค้าก็ลักลอบขนกันสารพัดวิธี เพื่อหลบซ่อนเจ้าหน้าที่ก็ต้องไล่ตามจับกันอย่างไม่จบไม่สิ้น

โดย...ธนก บังผล

ยาเสพติดพันธุ์ใหม่ สีสวย-กลิ่นอโรมา

ปัจจุบันมีทั้ง “ยาบ้า” และ “ยาไอซ์” ที่กำลังได้รับความนิยม กำลังมอมเมาเยาวชนให้เพี้ยนหลุดโลกไปเรื่อยๆ

ล่าสุดสำนักยาและวัตถุเสพติด กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขก็ออกมายืนยันพบสารเสพติดชนิดใหม่ชื่อว่า “ยาเม็ดปาร์ตี้” เข้ามาระบาดในไทยอีกแล้ว มีการพัฒนาสีให้สวยงาม รูปร่างแปลกตา และกลิ่นหอม

โดยให้ชื่อภาษาอังกฤษเก๋ไก๋สไลเดอร์ว่า Party Pills หรือ Herbal Highs, Pep Pills หรือ Dance Pills

นันทนา สิทธิชัย ผู้อำนวยการสำนักยาและวัตถุเสพติด เล่าว่า ตำรวจได้พบว่ามียาชนิดนี้เข้ามายังประเทศไทยเป็นครั้งแรกในพื้นที่ จ.ชลบุรี จากเดิมที่นำเอายามาผสมกันใส่ในแคปซูล ตบตาเสมือนว่าเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร

“ยาตัวนี้มีชื่อเรียกทางวิทยาศาสตร์ว่าพิเพอราซีน (Piperazines) ซึ่งเป็นยาขับพยาธิ สารในกลุ่มนี้มีหลายตัว แต่ที่พบมากคือ BZP หรือ เบนซิลพิเพอราซีน (Benzylpiperazine) และ TFMPP หรือ ไตรฟลูออโรเมทิลฟีนิลพิเพอราซีน (1[3(trifluoromethyl) phenyl] piperazine)”

BZP นี้ใช้เป็นยาฆ่าพยาธิในประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อปี ค.ศ.2000 มีการพบว่ายาตัวนี้ถูกนำมาใช้ในทางที่ผิด คือ BZP จะมีฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลางคล้ายยาบ้ายาอี

ทำให้เกิดอาการเคลิ้มฝัน และมีผลต่อระบบหลอดเลือดและหัวใจ ต่อมาได้ระบาดไปยังประเทศนิวซีแลนด์และยุโรป จนกระทั่งปีที่แล้วเราพบที่ จ.ชลบุรี 8,000 แคปซูล ขณะนี้ได้เข้ามาที่ นนทบุรี และกรุงเทพฯ แล้ว

ส่วน TFMPP จะมีฤทธิ์ทำให้ประสาทหลอนคล้ายยาอี ดังนั้นผู้เสพจึงมักใช้สารสองชนิดร่วมกันเพื่อเสริมฤทธิ์กัน

สำหรับอาการของผู้ใช้ยาชนิดนี้จะมีผลข้างเคียงต่อร่างกาย ทำให้ใจสั่น ความดันโลหิตสูง สับสน นอนไม่หลับ และจากการศึกษาในหนูทดลอง พบว่า เมื่อมีการใช้ยาในระดับที่มาก จะทำให้เกิดอาการชัก
ถ้าไปเที่ยวในไนต์คลับแล้วใช้ร่วมกับยาเสพติดชนิดอื่นหรือแอลกอฮอล์ ก็ทำให้เกิดอันตรายถึงเสียชีวิตได้

นันทนา บอกว่า เมื่อปี 2552 จนถึงขณะนี้ เจอผู้เสพและค้ายาดังกล่าวแล้ว 5 คดี ครั้งแรกและครั้งที่ 2 ที่ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ครั้งที่ 3 ที่กรุงเทพฯ ครั้งที่ 4 ที่ จ.นนทบุรี และครั้งที่ 5 เกิดที่ จ.ชลบุรี โดยที่ จ.ชลบุรี ผู้ต้องหาเป็นชาวต่างชาติ

ยาเสพติดพันธุ์ใหม่ สีสวย-กลิ่นอโรมา

เมื่อตรวจสอบย้อนหลังพบยาชนิดนี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ 1011 ก.ค. 2552 ลักษณะของกลางเป็นแคปซูลสีฟ้าขาว จำนวน 8,000 แคปซูลผลการตรวจพบว่าเป็น TFMPP และ BZP

ครั้งที่ 2 พบเมื่อวันที่ 12 พ.ย. 2552 ที่ จ.ชลบุรี เช่นกัน แต่ลักษณะของกลางเป็นยาเม็ดกลมแบนสีส้มอ่อน จำนวน 2 เม็ด ตรวจพบว่าเป็น TFMPP และ BZP

ครั้งที่ 3 พบวันที่ 27 ม.ค. 2553 ที่กรุงเทพฯ ลักษณะของกลางเป็นยาเม็ดกลมแบนสีแดงสัญลักษณ์รูปหัวใจ จำนวน 4 เม็ด สารที่พบคือ TFMPP

ครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 6 พ.ค. 2553 จ.นนทบุรี ของกลางเป็นยาเม็ดกลมแบนสีชมพู สัญลักษณ์ “อดิดาส” จำนวน 1 เม็ด ตรวจพบว่าเป็น TFMPP และ BZP

และครั้งที่ 5 พบวันที่ 8 พ.ค. 2553 ที่ จ.ชลบุรี ของกลางเป็นยาเม็ดกลมแบนสีขาวขุ่น สัญลักษณ์รูปการ์ตูน จำนวน 5 เม็ด สารที่พบคือ TFMPP และ BZP

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาของผู้ผลิตไม่ใช่ผลิตรูปร่างยาให้มีหน้าตาเหมือนขนมมากกว่ายาเสพติดเพื่อหลอกล่อตำรวจเท่านั้น กลิ่นยาบางชนิดก็ไม่เหมือนยาเสพติด แต่กลับกลายเป็นยากลิ่นหอมที่เรียกว่า “อโรมา” ทำให้เจ้าหน้าที่ไม่เฉลียวใจคิดว่าเป็นยาเสพติด

ผู้อำนวยการสำนักยาฯ บอกว่า สาร 2 ตัวนี้ยังไม่มีการควบคุมตามกฎหมาย เพราะเพิ่งมีการพบ ดังนั้นจึงเอาผิดกับผู้ที่ลักลอบนำเข้ามาหรือเสพยังไม่ได้

ยาเสพติดพันธุ์ใหม่ สีสวย-กลิ่นอโรมา

ขณะนี้ถือได้ว่าเริ่มมีการระบาดของยาประเภทนี้แล้ว ได้นำผลตรวจส่งไปให้ทางสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แล้ว เพื่อนำเข้าไปเสนอต่อคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดและวัตถุออกฤทธิ์พิจารณาว่า จะให้สารชนิดนี้อยู่ภายใต้กฎหมายยาเสพติดหรือไม่

 ผู้อำนวยการนันทนา บอกว่า ในประเทศญี่ปุ่นได้บรรจุให้สารทั้งสองชนิดเป็นสารควบคุมภายใต้กฎหมายยาเสพติด ส่วนสหรัฐอเมริกานำเอา BZP เป็นสารควบคุมประเภท 1 ภายใต้กฎหมาย แต่ TFMPP ไม่ได้ควบคุม

สำหรับความหนักเบาของโทษหรือกฎหมายก็ขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศ สารเสพติดชนิดใหม่ที่เพิ่งค้นพบนี้อาจจะยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก แต่ต้องระวังไว้ เพราะพื้นฐานใช้เป็นยา แต่ถ้านำมาสกัดหรือใช้มากๆ ก็จะหลอน ซึ่งนักท่องเที่ยวเอาเข้ามาใช้มากขึ้นตามจังหวัดท่องเที่ยว

ถ้ามีการผลิตก็ถือว่าลักลอบ ประเทศไทยเรายังไม่ได้จัดไว้ว่าจะให้เป็นยาเสพติดประเภทไหน แต่แน่นอนว่าถ้าใช้มากร่วมกับยาอื่นๆ ที่ออกฤทธิ์กระตุ้นประสาทก็อาจเสียชีวิตได้

อีก 10 ปีข้างหน้าก็อาจจะมีกลุ่มยาชนิดอื่นๆ ทะลักเข้ามาอีกมากมาย เฉพาะ “พิเพอราซีน” เข้ามาโดยการลักลอบของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ซึ่งต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

จากการตรวจพบยาเสพติดชนิดใหม่สีสวยกลิ่นอโรมา หน้าตาเป็นรูปตัวการ์ตูนที่ใครๆ คิดว่าเป็นขนม แต่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้ผู้เสพใจสั่นเหมือนยาบ้ายาไอซ์ครั้งนี้ น่าจะทำให้สังคมรับรู้ว่า ภัยจากยาเสพติดพัฒนาไปไกล ถ้าไม่รู้เท่าทันจะตกเป็นทาสได้อย่างง่ายดาย