posttoday

Zebra Walk ทำไมต้องม้าลาย?

01 ตุลาคม 2559

ช่วงเช้าของวันที่ 22 ก.ย.ที่ผ่านมา ผู้คนที่สัญจรผ่านหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ถนนพระรามหนึ่ง

โดย...สมแขก ภาพ... Zebra Project

ช่วงเช้าของวันที่ 22 ก.ย.ที่ผ่านมา ผู้คนที่สัญจรผ่านหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ถนนพระรามหนึ่ง ตลาดโบ๊เบ๊ หลานหลวง และอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน จะเห็นกลุ่มคนในชุดม้าลายเดินปล่อยลูกโป่ง สำหรับกิจกรรม Zebra Walk โดยศิลปินกลุ่มผู้จัดโครงการ Zebra Project ซึ่งมีสมาชิก 5 คน ประกอบด้วย จุมพล อภิสุข จิตติมา ผลเสวก ภัทรี ฉิมนอก สาธิต รักษาศรี และสมพงษ์ ทวี

จุมพล อภิสุข ศิลปินผู้ก่อตั้งเทศกาลศิลปะแสดงสดนานาชาติเอเชียโทเปีย เปิดเผยว่า การรวมกลุ่มของพวกตนมีเจตนารมณ์เพื่อแสดงสัญลักษณ์สันติภาพสู่สาธารณะ ให้ผู้รับชมมีอิสระในการตีความ และให้ความหมายการแสดงได้ด้วยตนเอง เพราะศิลปะเป็นสื่อเย็นที่ต้องใช้เวลาการรับรู้

“โดยส่วนตัวพวกเราไม่ได้วางคำตอบ หรือให้ความหมายของโครงการที่พวกเราทำชัดเจนนัก แต่กิจกรรมครั้งนี้เป็นกิจกรรมที่สะท้อนความเป็นเอกภาพของศิลปิน ซึ่งทางกลุ่มเลือกใช้แนวคิดการต้านคอร์รัปชั่นและการติดสินบนด้วยการนำม้าลายมาเป็นสัญลักษณ์ในการแสดง และมีองค์ประกอบอื่นร่วม โดย ซีบร้า วอล์ก เป็นกิจกรรมต่อเนื่องใน ซีบร้า โปรเจกต์ ที่ดำเนินมาตั้งแต่ต้นปี และอาจจะดำเนินต่อไปตามโอกาสที่ศิลปินสะดวกและมีทุนในการจัดกิจกรรม”

จุมพล กล่าวเพิ่มเติมว่า ทางกลุ่มไม่ได้วางแผนรายละเอียด แค่จะสวมชุดม้าลายและเดินรณรงค์ไปเรื่อยๆ ตามเส้นทางเท่านั้น เชื่อว่าคนไทยหลายกลุ่มจะตีความจากกิจกรรมได้เอง ทั้งนี้เหตุผลที่เลือกวันที่ 22 ก.ย. อันเนื่องมาจากเครือข่ายศิลปินทั่วโลกนัดกันเพื่อแสดงสดกลางวันของวัน Autumnal Equinox (วันศารทวิษุวัต) ซึ่งมีช่วงเวลากลางวันและกลางคืนยาวนานเท่ากัน

กลุ่มศิลปินแสดงสดใน 30 ประเทศทั่วโลก เช่น อังกฤษ นิวซีแลนด์ จีน อินเดีย สโลวาเกีย โรมาเนีย นอร์เวย์ ฯลฯ จึงนัดกันจัดกิจกรรมพร้อมกันในวันดังกล่าวตามแนวคิดของแต่ละกลุ่ม เพื่อถ่ายทอดผลงานศิลปะแสดงสดออกสู่สาธารณะ และกลุ่มซีบร้า โปรเจกต์ เป็นหนึ่งในสมาชิกศิลปินที่เลือกเสนอการต้านโกงด้วยสัญลักษณ์ม้าลาย ซึ่งเคยแสดงที่โปแลนด์แล้วมีกระแสตอบรับอย่างดี โดยหลังจากผ่านกิจกรรมครั้งนี้แล้ว แต่ละกลุ่มจะส่งผลงานไปรวมกันเพื่อนำเสนออีกครั้งที่ประเทศเยอรมนีและอังกฤษ ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นในช่วงเดือน ต.ค. 2559

ภัทรี ฉิมนอก หนึ่งในสมาชิกกลุ่ม กล่าวว่า ระหว่างทางมีผู้คนมากมายออกมาทักทาย รวมทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ตรวจความเรียบร้อยในแต่ละจุด โดยส่วนมากคนจะออกมาถ่ายรูปแล้วก็ถามว่ามาทำอะไรกัน และมักรับรู้ว่าทางกลุ่มสวมชุดม้าลาย แต่ก็ยังคงตั้งคำถามตามความคิดของตัวเอง ส่วนทางทีมก็มีแวะตอบคำถามบ้าง แต่บางช่วงก็ไม่ได้อธิบาย เพราะทุกคนเป็นผู้แสดงศิลปะ อยากให้ผู้ชมจินตนาการ ตั้งคำถาม หรือหาคำตอบเองมากกว่า และกิจกรรมวันนี้ถือว่าสำเร็จลุล่วง เพราะไม่ใช่แค่ทางกลุ่มเดินเท้ามาถึงเป้าหมายเท่านั้น แต่ยังได้แสดงออกให้คนที่พบเห็นมีส่วนร่วม นี่คือเจตนา คุณค่าของศิลปะแสดงสด คือปล่อยให้คนคิดอย่างอิสระ

Zebra Walk ทำไมต้องม้าลาย?

 

“พอเดินมาถึงจุดคนเยอะๆ บางคนมีการทักทาย แล้วเดาคำตอบเองไปต่างๆ นานา ขำคนหนึ่ง เข้ามาถามเราว่า ทำอะไร แต่เราไม่ทันได้ตอบ เดินออกมาก็ได้ยินคนเขาคุยเอง เดาว่า เรามารณรงค์ให้คนใช้เส้นทางม้าลายข้ามถนนหรือเปล่า บางคนก็บอกว่า เราใส่ชุดขาว ดำ ลูกโป่ง มีดำ มีขาว ต้องแปลว่า ความดี ความชั่วแน่ๆ เดินทำไมกันนะ คือแค่นี้แหละ เราพอใจแล้วนะ

ศิลปะสื่อได้เท่านี้ เราไม่อธิบายความอะไรมากนัก เพราะคนเขาจะได้มีพื้นที่คิดเอง แค่คนตั้งคำถามกับเราพอแล้ว จริงๆ ถึงแม้พวกเราเองวางไว้ว่า ม้าลายคือตัวแทนการติดสินบนของพวกไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ แต่พอถึงเวลาแสดงจริงๆ เราต้องไม่ไปตอบคำถามนั้นทั้งหมด เว้นแต่ใครเข้ามาถามเราจริงๆ แล้วมีเวลาคุย เราก็บอก แต่เราเองอยากให้คนดูมีอิสระในการรับรู้ เขารับรู้อีกแบบ เรารู้อีกแบบ ไม่ถือว่าผิด พวกเราไม่ได้มาประชาสัมพันธ์ แต่เราทำงานศิลปะ” ภัทรี กล่าว

สำหรับการเดินเท้าชุดซีบร้า วอล์ก เป็นกิจกรรมของศิลปินไทย ที่จะส่งไปร่วมนำเสนอที่ประเทศอังกฤษ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งผลงานศิลปะแสดงสด ที่ศิลปินทั่วโลกจาก 30 ประเทศจัดแสดงสดขึ้น เนื่องในวัน Autumnal Equinox ที่มีช่วงเวลากลางวัน กลางคืนยาวนานเท่ากัน อนึ่งสามารถอ่านที่มาของกลุ่มในการจัดทำ Zebra Project เพิ่มเติมได้ที่ http://transbordernews.in.th/home/?p=13467