posttoday

สั่งกรมชลฯเร่งพร่องน้ำออกสู่ทะเล

30 กันยายน 2559

“กรมชลฯ” เร่งพร่องน้ำทางเหนือลงทะเลรับมือสถานการณ์ฝนยังหนักถึงกลางเดือน ต.ค. เตือนประชาชนเฝ้าระวัง

“กรมชลฯ” เร่งพร่องน้ำทางเหนือลงทะเลรับมือสถานการณ์ฝนยังหนักถึงกลางเดือน ต.ค. เตือนประชาชนเฝ้าระวัง

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้กำชับให้กรมชลประทานเร่งพร่องน้ำในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์และเขื่อนเจ้าพระยา-ชัยนาทอย่างต่อเนื่อง โดยขณะนี้มีน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาประมาณ 1,700 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)/วินาที แม้น้ำในระดับนี้จะไม่เกิดน้ำท่วมเหมือนปี 2554 แน่นอน แต่ในการพร่องน้ำต้องใช้ความระมัดระวังไม่ให้พื้นที่ได้รับผลกระทบขยายวงกว้างขึ้น ส่วนพื้นที่การเกษตรหากมีน้ำท่วมขังให้มีการตั้งเครื่องสูบน้ำเร่งระบายออกช่วยเหลือเกษตรกร 

นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า สถานการณ์น้ำลุ่มเจ้าพระยาล่าสุด มีปริมาณน้ำจากแม่น้ำปิงไหลมาจาก จ.กำแพงเพชร เริ่มลดน้อยลง แต่ยังมีน้ำจากแม่น้ำน่านที่ยังมีปริมาณมากมาสมทบ ทำให้น้ำมารวมที่ จ.นครสวรรค์ ยังอยู่คงที่ระดับ 1,790 ลบ.ม./วินาที  เมื่อรวมน้ำ จ.อุทัยธานี ทำให้น้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยามีอัตราการไหล 2,342 ลบ.ม./วินาที หรือเท่ากับ 202 ล้าน ลบ.ม./วัน

ทั้งนี้ กรมได้จัดการระบายออกสองฝั่งเจ้าพระยาฝั่งตะวันตกเข้าคลองชัยนาท-อยุธยา 127 ลบ.ม./วินาที ฝั่งตะวันออกเข้าคลองชัยนาท-ป่าสัก 217 ลบ.ม./วินาที และปล่อยระบายน้ำลงท้ายเขื่อนเจ้าพระยา 2,000 ลบ.ม./วินาที ทำให้ระดับน้ำท่วมสูงขึ้น 7 จังหวัดท้ายเขื่อน แต่สูงสุดไม่เกิน 50 เซนติเมตร (ซม.)

“ต้องเร่งพร่องน้ำลงทะเลโดยเร็ว เพื่อให้น้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาลดระดับลงเฉลี่ยชั่วโมงละ 1 ซม. จะมีช่องว่างรับน้ำเหนือได้อีกไว้รอรับปริมาณฝนตกชุกช่วงปลายสัปดาห์นี้ต่อเนื่องถึงกลางเดือน ต.ค.” นายสุเทพ กล่าว

นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ด้านเขื่อนป่าสักฯ ที่คาดว่าน้ำอาจเต็มอ่างได้ ในวันที่ 8 ต.ค. 2559 นั้น จำเป็นต้องเพิ่มการระบายน้ำโดยกรมได้ทำหนังสือแจ้งไปยัง จ.อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี และสุพรรณบุรี รวมถึงกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพื่อแจ้งเตือนให้ประชาชนเฝ้าระวัง