posttoday

รถรับส่งนักเรียน ใส่ใจป้องกันอันตราย

17 กันยายน 2559

รถรับส่งนักเรียนถือเป็นยานพาหนะที่เห็นบนท้องถนนอยู่เป็นประจำ หลายคนมองผ่าน หรืออีกหลายคนก็จ้องมอง

โดย...ไซเรน

รถรับส่งนักเรียนถือเป็นยานพาหนะที่เห็นบนท้องถนนอยู่เป็นประจำ หลายคนมองผ่าน หรืออีกหลายคนก็จ้องมองดูเด็กนักเรียนที่แออัดยัดเยียดปานปลากระป๋องอยู่ภายในรถ

ทำให้หวนนึกถึงความปลอดภัยของเหล่าเด็กๆ ที่อยู่ภายใน โดยเฉพาะสังคมเมืองที่พ่อแม่ผู้ปกครองต้องออกทำงานเพื่อหาเงินเลี้ยงดูครอบครัว ขณะเดียวกันก็ต้องฝากบุตรหลานไว้กับคนขับรถรับส่งที่คอยเทียวรับเทียวส่งจากบ้านพักสู่โรงเรียน

แต่แน่นอนว่ารถรับส่งนักเรียนบางคันก็ต้องการจำนวนนักเรียนที่มากเข้าไว้ เพื่อให้คุ้มต่อการขับรถรับส่งแต่ละเที่ยวในแต่ละวัน เพื่อเม็ดเงินจากผู้ปกครอง จนหลงลืมคิดและพิจารณาถึงความปลอดภัยของเหล่าเด็กนักเรียน

ภายในรถตู้รับส่งนักเรียนแออัดไปด้วยเด็กเล็ก เด็กโต บางคนได้นั่งที่เบาะเก้าอี้ผู้โดยสาร ขณะที่อีกหลายคนต้องยืน และต่างพากันหยอกล้อกับเพื่อนฝูงในรถ

ไม่อยากนึกภาพหากเกิดอุบัติเหตุทางท้องถนนขึ้นมา เด็กพวกนี้จะต้องได้รับบาดเจ็บ เพราะระบบความปลอดภัยในรถแทบจะเป็นศูนย์

และแน่นอนว่าตามระเบียบข้อบังคับกฎหมายแล้ว รถทุกคันจะต้องทำประกันภัยทั้งรถยนต์ และหากเป็นรถโดยสารก็ต้องมีประกันภัยให้กับผู้โดยสารด้วย

และแน่นอนอีกเช่นกันว่า ไม่ใช่รถรับส่งนักเรียนทุกคันที่จะปฏิบัติตาม

ทำให้เห็นภาพบ่อยครั้งตามข่าวคราวในสื่อต่างๆ เมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้นมา เด็กนักเรียนที่บาดเจ็บ หรือบางรายรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต ต่างไม่ได้รับการเยียวยาอย่างถูกต้อง

นั่นเป็นเพราะคนขับรถ หรือผู้ประกอบการเองเพิกเฉยต่อการใส่ใจในชีวิต และความปลอดภัยของเด็กๆ เหล่านั้น

สำนักงานตำรวจแห่งชาติเสนอเรื่องดังกล่าวเอาไว้ และฝากแพร่หลายออกไปให้ช่วยกันสังเกตรถรับส่งนักเรียน และที่สำคัญคือผู้ปกครองจะต้องรู้ข้อมูลเหล่านี้ก่อนจะวางใจให้รับส่งบุตรหลานอันเป็นที่รัก

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจกันว่า รถนักเรียนถือว่าเป็นรถโดยสารแม้ว่าจะมีสภาพเป็นรถกระบะ รถตู้ รถบัส รถสองแถวก็ตาม เพราะคำว่า รถโดยสาร คือ รถที่รับค่าจ้างจากผู้ที่ใช้บริการ

และสิ่งที่ต้องสังเกตอันเป็นข้อพื้นฐาน คือ

1.ตรวจสอบว่าผ่านการขออนุญาตจากขนส่งจังหวัดหรือเปล่า มีเอกสารไหม หรือมีสติ๊กเกอร์ “รถนักเรียน” ติดหรือไม่

2.มีการจัดทำ พ.ร.บ.ภาคบังคับ และภาคสมัครใจของรถกระบะนักเรียนหรือไม่

3.หากจัดทำประกันภาคสมัครใจ จัดทำประเภทไหน คุ้มครองผู้โดยสารกี่คน (ให้ดูว่าคุ้มครองต่อผู้โดยสาร และบุคคลภายนอก)

4.มีการจัดทำอนุสัญญาเพิ่มเติม (อุบัติเหตุส่วนบุคคล : PA ) หรือไม่ คุ้มครองกี่คน คนละกี่บาท จ่ายให้กับคนขับ-ผู้โดยสาร (นักเรียน) ที่เสียชีวิต ลดไม่ได้แม้แต่บาทเดียว

5.ตรวจสอบว่าโรงเรียนจัดทำประกันอุบัติเหตุให้นักเรียนหรือไม่ หากทำต้องจ่ายตามความคุ้มครอง

6.ตรวจสอบว่ามีการรับส่งนักเรียนในจำนวนที่มากเกินไปหรือไม่

7.ศึกษาพฤติกรรมของคนขับรถให้ดีว่าขับรถอันตรายหรือไม่

ทั้ง 7 ข้อถือเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องใส่ใจ เพราะบุตรหลาน หรือเหล่าเด็กๆ ทั้งหลายคืออนาคตที่สำคัญของชาติ ในอนาคตพวกเขาเหล่านั้นอาจเติบใหญ่ทำเรื่องดีๆ และพัฒนาชาติ สังคม ให้เกิดความน่าอยู่มากยิ่งขึ้น

อย่าปล่อยให้อุบัติเหตุอันไร้ค่ามาพรากสิ่งสำคัญที่สุดไปได้