posttoday

โพลล์ เผย นร. ม.ปลาย หนุนเปลี่ยนระบบสอบเข้ามหาวิทยาลัย

17 กันยายน 2559

กรุงเทพโพลล์ เผย ผลสำรวจ นักเรียน ม.ปลาย ส่วนใหญ่ เห็นด้วยเปลี่ยนระบบสอบเข้ามหาวิทยาลัย แต่ไม่แน่ใจ นำไปสู่การพัฒนาระบบการศึกษาได้จริง

กรุงเทพโพลล์ เผย ผลสำรวจ นักเรียน ม.ปลาย ส่วนใหญ่ เห็นด้วยเปลี่ยนระบบสอบเข้ามหาวิทยาลัย  แต่ไม่แน่ใจ นำไปสู่การพัฒนาระบบการศึกษาได้จริง

กรุงเทพโพลล์ โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ  จึงสำรวจความคิดเห็นของนักเรียน ม.ปลาย เรื่อง “นักเรียน ม.ปลายคิดอย่างไร กับการเปลี่ยนรูปแบบการคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย ปี 2561” โดยเก็บข้อมูลจากเยาวชนที่เรียนอยู่ชั้น ม.4 – ม.6 ในกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,218 คน พบว่า นักเรียนส่วนใหญ่ ร้อยละ 89.2 ทราบแล้วว่า มีการเปลี่ยนรูปแบบการคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย ปีการศึกษา 2561 แทนระบบแอดมิชชั่น ขณะที่ร้อยละ 10.8 ยังไม่ทราบ

โดยนักเรียน ม.ปลายร้อยละ 71.8 เห็นด้วยว่า สามารถลดความเหลื่อมล้ำและความไม่เท่าเทียมในการสอบระหว่างนักเรียนที่มีฐานะทางบ้านดีกับนักเรียนที่มีฐานะทางบ้านด้อยกว่าได้ รองลงมาร้อยละ 66.1 เห็นด้วยว่า สามารถแก้ปัญหาเรื่องการเสียค่าใช้จ่ายในการสอบหลายครั้ง และร้อยละ 63.0 เห็นด้วยว่าสามารถแก้ปัญหาเด็กเก่งสอบตรงติดหลายที่ทำให้ไปกันที่ของเด็กคนอื่นๆ

ทั้งนี้นักเรียนส่วนใหญ่ร้อยละ 53.5 ระบุว่าการปรับเปลี่ยนรูปแบบดังกล่าวมีผลต่อการเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัย เพราะทำให้ต้องวางแผนการอ่านหนังสือใหม่ทั้งหมด ไม่รู้แนวข้อสอบ ขณะที่ ร้อยละ 46.5 ระบุว่าไม่ส่งผลกระทบ เพราะมีเวลาเตรียมตัวทันอยู่แล้ว ทุกคนจะได้เท่าเทียมกัน ไม่ต้องสอบหลายครั้ง

ส่วนเรื่องที่กังวลมากที่สุดเมื่อเปลี่ยนรูปแบบการสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยนั้น ร้อยละ 47.0 ระบุว่าไม่มีโอกาสสอบแก้ตัวเพราะสอบเพียงครั้งเดียว รองลงมาร้อยละ 25.5 ระบุว่าโอกาส/ตัวเลือกในการสอบติดมหาวิทยาลัยของรัฐน้อยลง และ ร้อยละ 12.9 ระบุว่าไม่ทราบสูตร/เกณฑ์การคิดคะแนนสอบของแต่ละมหาวิทยาลัย 

เมื่อถามถึงหลักเกณฑ์ที่ใช้เลือกมหาวิทยาลัยที่จะศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาของรัฐ นักเรียนส่วนใหญ่ร้อยละ 66.7 ระบุว่า เลือกคณะที่ชอบ

และอยากเรียนเป็นหลัก รองลงมาร้อยละ 20.4 ระบุว่าเลือกสถาบันที่ชอบเป็นหลัก และร้อยละ 6.5 ระบุว่า เลือกคณะใดก็ได้ที่มีคะแนนถึง
 
สำหรับความเห็นต่อการคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยด้วยระบบใหม่ ในปีการศึกษา 2561 ว่าจะนำไปสู่การพัฒนาระบบการเรียนการสอนของไทยได้หรือไม่ นั้น  ร้อยละ 28.6 คิดว่าได้ ขณะที่ร้อยละ23.2 คิดว่าไม่ได้ และมีถึงร้อยละ 48.2 ระบุว่าไม่แน่ใจ 

ทั้งนี้เรื่องที่คิดว่าการศึกษาไทยควรแก้ไขอย่างเร่งด่วนที่สุดคือควรลดเนื้อหาที่ไม่จำเป็น ลดทฤษฎี เพิ่มการปฏิบัติและการนำไปใช้ได้จริง(ร้อยละ 23.2) รองลงมาคือ ประสิทธิภาพในการสอนผู้สอน การใช้สื่อและเทคนิคในการสอนของครูเพื่อสื่อให้นักเรียนเข้าใจ (ร้อยละ 17.5) และควรสอบเท่าที่จำเป็น ออกข้อสอบถูกต้องมีมาตรฐาน ไม่ควรเกินจากหลักสูตรที่เรียน (ร้อยละ 17.2)