posttoday

อดีตอธิการมข.หนุนปฏิรูปแพทยสภา เป็นที่พึ่งให้ประชาชน

13 กันยายน 2559

อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น ชี้ แพทยสภาต้องปฏิรูป เปิดช่องคนนอกเข้าร่วม ทำตัวเป็นองค์กรวิชาชีพ เป็นที่พึ่งให้ประชาชนจริงๆ

อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น ชี้ แพทยสภาต้องปฏิรูป เปิดช่องคนนอกเข้าร่วม ทำตัวเป็นองค์กรวิชาชีพ เป็นที่พึ่งให้ประชาชนจริงๆ

ศ.นพ.วันชัย วัฒนศัพท์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น และ อดีตผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า เปิดเผยว่า แพทยสภาจำเป็นต้องมีการปฏิรูปอย่างจริงจัง โดยควรเปิดให้ภาคประชาชนเข้าไปเป็นกรรมการ รวมทั้งทำตัวให้เป็นองค์กรวิชาชีพที่เป็นกลางอย่างแท้จริง เป็นที่พึ่งของประชาชน ไม่ใช่ทำตัวเป็น Labour Union (สหภาพแรงงาน) คอยปกป้องฝ่ายเดียวกัน

ศ.นพ.วันชัย กล่าวอีกว่า ถ้าแพทยสภาไม่เป็นกลางและไม่ฟังเสียงญาติคนไข้ คนไข้และญาติก็จะไม่พึ่งแพทยสภา แต่จะไปพึ่งศาลแทน ขณะที่การพิจารณาข้อร้องเรียนของแพทยสภาที่ผ่านมา มีหลายครั้งที่คณะอนุกรรมการลงมติว่าหมอผิด แต่คณะกรรมการชุดใหญ่กลับบอกว่าไม่ผิด

“ทำไมอนุกรรมการตัดสินว่าหมอผิด เขาดูอย่างละเอียดว่ามีเหตุผลหลักการอะไรอย่างไร แต่กรรมการชุดใหญ่คือบรรดาผู้ที่มาเป็นโดยตำแหน่งหรือมาโดยการเลือกตั้ง ซึ่งในการเลือกตั้งก็พูดหาเสียงในทำนองว่าจะดูแลกลุ่มหมอ ผมว่ามันเหมือน สส.หรือเปล่า แบบนี้ไม่ถูก ผมเสนอว่าแพทยสภาต้องเป็นองค์กรวิชาชีพที่เป็นกลาง ไม่ใช่เป็น Labour Union แบบนั้นมันเหมือนเราลดตัวเองลง” ศ.นพ.วันชัย กล่าว

ศ.นพ.วันชัย กล่าวอีกว่า การปฏิรูปแพทยสภาควรมีการเปิดให้ภาคประชาชนเข้าไปนั่งเป็นกรรมการด้วย เพราะเมื่อจะตัดสินอะไรก็ตามต้องฟังเสียงภาคประชาชน ซึ่งในต่างประเทศ เช่น อังกฤษ นิวซีแลนด์ ฯลฯ ก็มีคนนอกเข้าไปนั่งเป็นกรรมการแพทย์สภา ขณะเดียวกัน ควรเปลี่ยนมุมมองกรณีจะตัดสินอะไรก็ตาม ต้องหันหน้ามาพูดคุยกัน ไม่ใช่มาเอาแพ้เอาชนะกัน อย่ามองว่าคนไข้/ญาติคนไข้ตั้งป้อมฟ้องหมอ เพราะหากคิดอย่างนั้นจะทำให้เกิด defensive medicine (การแพทย์เชิงป้องกันตนเอง)

“อย่าไปกลัวว่าหมอจะถูกฟ้อง ถ้าหมอรู้จักสื่อสารดีๆ กับคนไข้/ญาติคนไข้ ใครจะมาฟ้อง แต่เพราะหมอเราไม่ได้สนใจเรื่องการสื่อสาร ถ้าจะปฏิรูปจริงๆ ต้องปฏิรูปกระบวนการสื่อสารของหมอและเจ้าหน้าที่ที่ให้บริการด้วย เพราะมีงานวิจัยของสหรัฐว่าหมอที่ถูกฟ้อง 96% เป็นเพราะพฤติกรรมบริการ ส่วนการรักษาที่ไม่ได้มาตรฐานมีแค่ 4% แต่ทั้งหมด ถ้ารักษาผิดพลาดไปแล้ว แต่สื่อสารกับคนไข้อย่างดี เขาไม่ฟ้องหรอก คนที่ฟ้องหมอคือเขาต้องเหลืออดเหลือทนแล้ว ตรงนี้ผมว่าคนที่มาทำงานแพทยสภาต้องเปลี่ยนแนวคิด" ศ.นพ.วันชัย กล่าว