posttoday

ปศุสัตว์ยืนยันไม่มีโรคพิษสุนัขบ้าสายพันธุ์ใหม่

08 กันยายน 2559

อธิบดีกรมปศุสัตว์ยืนยันไม่มีโรคพิษสุนัขบ้าสายพันธุ์ใหม่ วอนประชาชนมีความรับผิดชอบในการเลี้ยงสัตว์ร่วมลดจำนวนสุนัขจรจัด

อธิบดีกรมปศุสัตว์ยืนยันไม่มีโรคพิษสุนัขบ้าสายพันธุ์ใหม่ วอนประชาชนมีความรับผิดชอบในการเลี้ยงสัตว์ร่วมลดจำนวนสุนัขจรจัด

นายสัตวแพทย์อยุทธ์ หรินทรานนท์  อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่าจากข่าวการตรวจพบโรคพิษสุนัขบ้าในผู้ป่วย ที่พักอาศัยในบริเวณเขตบางนา กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีประวัติโดนสุนัขจรจัดกัด แต่ไม่ได้ไปพบแพทย์เพื่อการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าหลังสัมผัสโรคนั้น เพื่อเป็นการเตือนภัยกรมปศุสัตว์ขอให้ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้า หรือที่ชาวบ้านทั่วๆ ไปนิยมเรียกว่า เรียก "โรคกลัวน้ำ" เป็นโรคติดเชื้อของระบบประสาทส่วนกลางที่มีอันตรายร้ายแรงถึงชีวิต พบเกิดในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ทุกชนิด และยังติดต่อมาสู่มนุษย์ได้ สัตว์พาหะนำโรคที่สำคัญที่สุดสู่มนุษย์ในบ้านเรา คือ สุนัข รองลงมาคือแมว

นายสัตวแพทย์อยุทธ์ กล่าวว่า ในปัจจุบันโรคพิษสุนัขบ้ายังไม่มีสายพันธุ์ใหม่ โดยโรคนี้มีระยะฟักตัวที่ไม่แน่นอน และค่อนข้างนาน ซึ่งในระยะฟักตัวนี้ผู้ป่วยที่ติดเชื้อจะไม่แสดงอาการใด ดังนั้นไม่ควรชะล่าใจรีบไปพบแพทย์ และฉีดวัคซีนป้องกันโรคหลังสัมผัส และเนื่องจากพาหะนำโรคของประเทศไทยคือสุนัข และแมว จึงขอวิงวอนให้ประชาชนร่วมลดจำนวนสุนัขจรจัด โดยการไม่ปล่อยสุนัข และแมว ในที่สาธารณะ และมีความรับผิดชอบในการเลี้ยงสัตว์ พาสัตว์ในครอบครองไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าทุกๆปี ทั้งนี้ขอความร่วมมือให้ประชาชนร่วมเป็นเครือข่ายในการแจ้งข่าวหากพบสัตว์แสดงอาการป่วย หรือตายผิดปกติ ผ่านทางหมายเลขโทรศัพท์ 0-2653-4412 หรือผ่านทางเวปไซต์ www.thairabies.net

ทั้งนี้ในปี 2559 นี้มีรายงานการพบโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ถึง 352 ตัวอย่าง โดยในกรุงเทพมหานครพบจำนวน 14 ตัวอย่าง ซึ่งสูงสุดในพื้นที่เขตลาดกระบังส่วนในพื้นที่เขตบางนามีพบรายงานจำนวน 1 ตัวอย่าง อย่างไรก็ดีโรคพิษสุนัขบ้านี้สามารถป้องกันได้ทั้งคน และในสัตว์ โดยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า โดยข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก ( WHO) และองค์การโรคระบาดสัตว์ (OIE) ระบุว่า การฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในสุนัขได้ครอบคลุมร้อยละ 70 จะสามารถป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในคนได้ แต่เนื่องจากในประเทศไทยมีสุนัขจรจัดจำนวนมาก และไม่สามารถฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าได้ ดังนั้นคนที่ถูกสุนัขกัด เลีย หรือข่วน จนมีบาดแผลเพียงเล็กน้อย ควรปฏิบัติตามแนวการป้องกันของสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด คือ ล้างแผลด้วยสบู่ ใส่ยา และรีบไปพบแพทย์เพื่อรับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าหลังสัมผัส นอกจากนี้ควรกักสัตว์ที่กัด ข่วน หรือเลีย เพื่อดูอาการหรือแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ทราบเพื่อร่วมกันเฝ้าระวังโรคเพิ่มเติมในพื้นที่อีกด้วย