posttoday

อาสาพัฒนาปลุกจิตสำนึก พระจอมเกล้าฯลาดกระบัง

03 กันยายน 2559

ชมรมอาสาพัฒนาพระจอมเกล้าลาดกระบัง เป็นกลุ่มที่ตั้งมานานมากอาจจะเรียกได้ว่าตั้งแต่มีสถาบันแห่งนี้เลยก็ว่าได้

โดย...โยโมทาโร่

“ชมรมอาสาพัฒนาพระจอมเกล้าลาดกระบัง เป็นกลุ่มที่ตั้งมานานมากอาจจะเรียกได้ว่าตั้งแต่มีสถาบันแห่งนี้เลยก็ว่าได้ แต่ก็จะมีการยุบกลุ่มไปตอนวันที่ 14 ต.ค. 2516 ที่ไม่ให้มีการรวมกลุ่มนักศึกษา แล้วค่อยกลับมารวมกันใหม่เมื่อสถานการณ์ดีขึ้น” จินตนา จันทร ประธานชมรม เล่าที่มาที่ไปของกลุ่มก่อตั้งมาด้วยแนวคิดปลุกจิตสำนึกให้กับนักศึกษาในมหาวิทยาลัยร่วมกันทำความดี แสวงหาหนทางต่างๆ เพื่อสร้างประโยชน์รับใช้สังคม

จินตนา เล่าถึงกลุ่มเก่าแก่ของสถาบันแห่งนี้ว่า ปีหนึ่งจะจัดประมาณ 4 ครั้ง โดยโครงการจะเป็นค่ายเพื่อนใหม่จะเกิดตอนต้นเดือน ต.ค.ของทุกปี จัดกัน 3 วัน บำเพ็ญประโยชน์ให้สังคมด้วยการสร้างฝาย ปลูกต้นไม้ หรืออื่นๆ แล้วแต่ความเห็นของสมาชิกในชมรม

อาสาพัฒนาปลุกจิตสำนึก พระจอมเกล้าฯลาดกระบัง

 

โครงการที่ 2 จัดค่ายอาสาสมัครให้คนในชมรมเลือกทำความดีอย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วแต่ว่าอยากจะไปทำกิจกรรมเพื่อสังคมแบบไหน และโครงการสุดท้ายก็คือ ค่ายพระจอมเกล้าสู่ชนบท ซึ่งจะจัดทุกปิดเทอมจะจัดขึ้นครั้งหนึ่ง ซึ่งเรากำลังจะไปที่แม่ฮ่องสอน โรงเรียนบ้านจอซิเดอใต้ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ช่วงปิดเทอมประมาณวันที่ 12-26 ธ.ค.ที่จะถึงนี้ โดยบุคคลภายนอกที่สนใจสามารถติดต่อกับทางกลุ่ม ด้วยการพิมพ์ชื่อในช่องค้นหาเฟซบุ๊ก “ชมรมอาสาพัฒนาพระจอมเกล้าฯ ลาดกระบัง” เพื่อร่วมสมทบทุนบริจาคเงินหรือสิ่งของ

“ที่เราจัดกันบ่อยขนาดนี้ก็เพราะสมัยก่อนไม่มีโลกโซเชียลมีเดียที่ให้คนเข้ามาพูดคุยทำกิจกรรมร่วมกัน เลยจัดค่ายหลายครั้งเพื่อที่เราจะได้ทำกิจกรรมร่วมกันมากกว่า โดยการจัดค่ายแต่ละครั้งเราจะเตรียมการประมาณ 2 เดือน โดยเริ่มสำรวจกันตั้งแต่ปิดเทอมใหญ่และค่อยๆ วางแผนวางตำแหน่งว่าใครจะทำอะไร

“ในการสำรวจเราจะเลือกภาคไปกันเช่นครั้งล่าสุดเราไปภาคเหนือ ต่อไปเราจะภาคอีสานบ้าง จากนั้นก็จะเลือกจังหวัดที่เราจะไปแล้วแบ่งทีมสำรวจว่าแต่ละอำเภอมีโรงเรียนอะไรบ้างแล้วแต่ละชุมชนมีความต้องการอะไร จึงค่อยเอามาโหวตกันว่าเราจะเลือกไปที่ไหน แต่หลักๆ แล้วเราจะดูในเรื่องความสะดวกของชาวบ้านที่ให้ความร่วมมือกับเรามากกว่า ถ้าเขาดูให้ความร่วมมือดีเราก็จะดูว่าเขาขาดอะไรมีความต้องการอะไรบ้าง เรามีงบประมาณพอไหม แต่ถ้าเป็นเรื่องของการไม่มีสัญญาณไม่มีไฟฟ้าใช้เราจะมองไปอีกทางหนึ่ง ว่าเราจะสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือหากมีอาการบาดเจ็บและเรื่องน้ำใช้ที่เราจะต้องไม่ไปรบกวนชาวบ้าน ซึ่งเราก็ต้องดูเรื่องโครงสร้างพื้นฐานมาประกอบการตัดสินใจไม่ให้ลูกค่ายลำบากเกินไป

อาสาพัฒนาปลุกจิตสำนึก พระจอมเกล้าฯลาดกระบัง

 

“ตอนนี้สมาชิกของเรามีอยู่ประมาณ 30 คน ที่เป็นตัวหลักของชมรมที่เหลือจะเป็นเครือข่ายเพื่อนๆ ที่ชวนกันเข้ามาร่วมกิจกรรมในค่าย ซึ่งเราตั้งเป้าอยู่ที่ประมาณ 50 คน ซึ่งมีทำได้ถึงเป้าบ้างหรือไม่ถึงบ้าง แต่ก็พยายามจะทำให้ถึงเป้าคนเข้าร่วมให้ได้มากที่สุด ซึ่งค่ายนี้เราจะจัดหาสปอนเซอร์ แสดงเปิดหมวกตามสถานที่ต่างๆ และเปิดให้คนภายนอกเข้าร่วมบริจาคสิ่งของออกค่ายหรือเงินทุน ซึ่งรายได้หลักๆ ในการออกค่ายจะเป็นรายได้มาจากการเปิดหมวกการแสดง รองลงมาจะเป็นสปอนเซอร์ที่ให้ทุนสนับสนุน”

จินตนา เล่าถึงความรู้สึกดีๆ ในการออกค่ายอาสาพัฒนาว่า จำได้ว่าตอนออกค่ายครั้งแรกโดนรุ่นพี่หลอกว่าค่ายจะถูกยุบเพราะคนเข้าร่วมไม่ถึง แต่พอไปกันจริงๆ มีเกือบ 25 คนเห็นจะได้ สถานที่ที่ไปกันนั้นค่อนข้างกันดารมากนักน้ำไฟมีจำกัด สัญญาณมือถือไม่มีไปอยู่ในกลางป่ากลางดอย เรียกได้ว่าเข้าไปในนั้นจะถูกตัดขาดจากโลกภายนอกไปเลย 2 สัปดาห์ แต่ส่วนตัวคุ้นเคยกับการใช้ชีวิตในป่าถือเป็นเรื่องธรรมดามาก เวลาที่เราขึ้นไปภาพแรกที่เราเห็นก็คือเด็กๆ ตื้นเต้นดีใจที่มีคนขึ้นมาหาพวกเขา เพราะในป่าในดอยมีคนขึ้นไปน้อย เวลาที่เราทำงานกันอยู่ก็มีชาวบ้านมายืนดูให้กำลังใจ ช่วยเหลือเราเล็กๆ น้อยๆ พอเสร็จงานต่อวันก็เหนื่อยมาก แต่พอเห็นเด็กๆ มาเล่นด้วยหลังจบงานแต่ละวันก็เรียกว่าหายเหนื่อย แววตาของพวกเขาดูมีความสุข เราก็รู้สึกมีความสุขไปด้วย อันที่จริงแค่เรามาเฉยๆ เด็กๆ ก็ดีใจแล้ว ยิ่งเราไปช่วยสร้างสิ่งต่างๆ ให้เขาก็ยิ่งรู้สึกดี เป็นความสุขที่หาได้จากการอุทิศตนเอง เพื่อสังคมในการออกค่ายอาสาที่ทำให้เรารู้สึกว่าอยากจะช่วยเหลือทำสิ่งดีๆ แบบนี้อีกครั้ง

อาสาพัฒนาปลุกจิตสำนึก พระจอมเกล้าฯลาดกระบัง