posttoday

ต่างด้าวยึดค้าย่อยไทย

30 สิงหาคม 2559

แรงงานต่างด้าวยึดกิจการค้ารายย่อยไทยทุกระดับ ตั้งแต่ในห้างยันตลาดนัด เมียนมาครองแชมป์ส่งเงินกลับบ้าน 5,000-1 หมื่น

แรงงานต่างด้าวยึดกิจการค้ารายย่อยไทยทุกระดับ ตั้งแต่ในห้างยันตลาดนัด เมียนมาครองแชมป์ส่งเงินกลับบ้าน 5,000-1 หมื่น

นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยผลการสำรวจการประกอบอาชีพค้าขายรายย่อยของแรงงานต่างด้าวในประเทศไทยที่ สศช.ดำเนินการร่วมกับบริษัท ศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ โดยพบว่าแรงงานต่างด้าวมีการค้าขายในทุกระดับ ในศูนย์สรรพสินค้ามีต่างด้าวเป็นเจ้าของร้าน 6.9% ของจำนวนผู้ค้าทั้งหมด เป็นเจ้าของแผงในตลาดนัด 1.8% เป็นเจ้าของแผงในตลาดสด 20.9% และเป็นเจ้าของร้านในตลาดชุมชน 9.7%

ทั้งนี้ ชาวต่างด้าวที่เป็นเจ้าของร้านหรือแผงค้ามีสัญชาติเมียนมา 44.5% กัมพูชา 21.4% ลาว 19.8% เวียดนาม 4.4% จีน 1.6% ชนกลุ่มน้อย 5.5% และอื่นๆ 2.7%  เมื่อเทียบเฉพาะผู้ค้ารายย่อยที่เป็นต่างด้าว พบว่ามีสถานภาพเป็นเจ้าของ 42.9% เป็นลูกจ้าง 45.8% และค้าขายให้กับครอบครัวหรือญาติ 11.3% สะท้อนให้เห็นว่าแม้จะจ้างแรงงานต่างด้าวจดทะเบียนเป็นกรรมกร แต่ในทางปฏิบัตินายจ้างต้องการแรงงานมาทำงานที่หลากหลาย รวมถึงการช่วยขายของหน้าร้าน และมีจำนวนไม่น้อยที่เป็นเจ้าของเอง

นายปรเมธี กล่าวว่า ผู้ค้าต่างด้าวที่เป็นเจ้าของที่เข้ามาประกอบอาชีพค้าขายเลยมีสัดส่วน 41.3% อาจเป็นเพราะแรงงานต่างด้าวมีเพื่อน ญาติ เครือข่าย ทำให้มีช่องทางค้าขาย ขณะที่ 1 ใน 3 เป็นเจ้าของร้านหลังเข้ามาแล้ว 2-3 ปี ชี้ให้เห็นว่าแรงงานต่างด้าวปรับเปลี่ยนการทำงานจากเดิมเข้ามาเป็นแรงงานมาเป็นผู้ประกอบอาชีพค้าขายเพิ่มขึ้น แม้จะมีการจับกุมแต่ก็กลับมาค้าขายใหม่

“จากการสำรวจด้านรายได้ พบว่าผู้ค้าต่างด้าว 47.4% มีเงินเก็บและไม่มีหนี้สิน และกว่า 80% มีการส่งเงินกลับประเทศ โดยส่งกลับจำนวนเงินครั้งละ 1,001-5,000 บาท คิดเป็น 52% ส่งเงินกลับครั้งละ 5,001-1 หมื่นบาท คิดเป็น 35.1% ส่งกลับด้วยวิธีการฝากญาติพี่น้องตอนกลับประเทศ ส่งผ่านธนาคารและนำกลับเอง” นายปรเมธี กล่าว

สำหรับผลกระทบที่เกิดขึ้นคือ แย่งอาชีพคนไทย มีการตั้งกลุ่มอิทธิพล และสร้างปัญหาด้านสุขภาพอนามัย มาตรฐานด้านความสะอาดและสุขอนามัยที่แตกต่างจากคนไทยเงินรั่วไหลออกนอกประเทศ ปัญหาอาชญากรรมและการทะเลาะวิวาท การแพร่ระบาดของโรค