posttoday

ศาลฎีกาสั่งจำคุก อมเรศ-วิชรัตน์ คดีปรส.

27 สิงหาคม 2559

ที่ศาลอาญา วันที่ 26 ส.ค. 2559 ศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์

ที่ศาลอาญา วันที่ 26 ส.ค. 2559 ศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง อมเรศ ศิลาอ่อน อายุ 83 ปี อดีตประธานคณะกรรมการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.), วิชรัตน์ วิจิตรวาทการ อายุ 69 ปี อดีตเลขาธิการ ปรส., บริษัท เลห์แมน บราเธอร์สโฮลดิ้งส์ อิงค์ โดย ชาร์ล เจสัน รูบิน ผู้รับประโยชน์, บริษัท เลห์แมนบราเธอร์ส (ประเทศไทย) โดย ชาร์ล เจสัน รูบิน, กองทุนรวมโกลบอลไทย พร็อพเพอร์ตี้ และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม วรรณ ผู้จัดตั้ง กองทุนรวมโกลบอลไทยฯ เป็นจำเลยที่ 1-6 ในความผิดฐานร่วมกันกระทำผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การ หรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 11

คดีนี้อัยการโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยเมื่อวันที่ 8 ก.ย. 2551 ระบุความผิดสรุปว่า เมื่อวันที่ 2 มิ.ย.-1 ต.ค. 2541  อมเรศ จำเลยที่ 1 ในฐานะประธาน ปรส. ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อกำหนดวิธีการชำระบัญชีและขายทรัพย์สินของ 56 สถาบันการเงิน ที่ถูกระงับการดำเนินกิจการตาม พ.ร.ก.การปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2540 และวิชรัตน์ จำเลยที่ 2 มีหน้าที่ดำเนินกิจการของ ปรส.ให้เป็นไปตามนโยบายและข้อบังคับที่องค์การกำหนด

โดยเมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2541 ปรส.มีมติให้มีการจำหน่ายสินทรัพย์หลักการเช่าซื้อที่อยู่อาศัย และบริษัท เลห์แมน บราเดอร์สฯ ได้ออกข้อกำหนดนโยบายและขั้นตอนการจำหน่ายสินทรัพย์ พร้อมกำหนดวันประมูลในวันที่ 30 ก.ค. 2541 แต่ต่อมา ปรส.ได้เลื่อนวันประมูลออกไป รวมทั้งบริษัทจำเลยที่ 3 มีการกำหนดเงื่อนไขประมูลเพิ่มเติม จากนั้นบริษัทจำเลยที่ 3 ได้ยื่นประมูลร่วมกับผู้ประมูลรายได้อื่น ในราคาประมูลสูงสุด แต่เมื่อถึงเวลาที่ ปรส.กำหนด บริษัทจำเลยที่ 3 กลับไม่มาทำสัญญาซื้อขายและชำระเงินงวดแรก 20%

การปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวของ ปรส.ถือว่าไม่โปร่งใส มีความขัดแย้งผลประโยชน์ โดยบริษัทจำเลยที่ 3 ที่ชนะการประมูล เป็นบริษัทกลุ่มเดียวกับจำเลยที่ 4 ที่เป็นที่ปรึกษา ปรส. ขณะที่จำเลยที่ 1 ไม่ตรวจสอบและปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย

ศาลฎีกาสั่งจำคุก อมเรศ-วิชรัตน์ คดีปรส. วิชรัตน์

 

คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 17 ก.ย. 2555 มีคำพิพากษาให้จำคุกจำเลยที่ 1-2 คนละ 2 ปี และปรับคนละ 20,000 บาท ต่อมา อมเรศ และวิชรัตน์ จำเลยที่ 1-2 ยื่นอุทธรณ์ โดยศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. 2557

ภายหลังอัยการโจทก์จึงยื่นฎีกาเฉพาะในส่วนของอมเรศและวิชรัตน์ จำเลยที่ 1-2 ว่ามีความผิดตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัย ขอให้พิพากษาลงโทษจำเลยตามความผิด

ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันแล้ว เห็นว่า การกระทำที่จำเลยที่ 1-2 รับบริษัทจำเลยที่ 3 เป็นผู้เข้าร่วมประมูลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย แล้วให้บริษัทจำเลยที่ 3 เป็นผู้ชนะประมูล ทำให้ ปรส.ได้รับชำระราคาน้อยลง และรัฐบาลไทยเสียหายเพราะต้องรับผิดชอบในส่วนต่าง อีกทั้งทำให้บริษัทจำเลยที่ 3 ได้เปรียบผู้ร่วมประมูลรายอื่น อันเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย เป็นการปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด และเป็นการปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต

อย่างไรก็ดี โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่กำหนดโทษจำคุก 2 ปี และปรับ 20,000 บาท โดยรอการลงโทษเป็นเวลา 3 ปี พร้อมกำหนดเงื่อนไขคุมประพฤติ ซึ่งแม้ความเสียหายที่เกิดขึ้นมีมูลค่าสูงแต่ศาลฎีกาไม่อาจลงโทษหนักขึ้นได้จึงพิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ โดยให้บังคับตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น