posttoday

ผอ.สสปท.คนแรกชูนโยบายนำเอกชน-เทคโนโลยีช่วยพัฒนาด้านความปลอดภัย

15 สิงหาคม 2559

ผอ.สถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัยฯในการทำงาน คนแรก ชูนโยบายนำเอกชน-เทคโนโลยี มาช่วยพัฒนาด้านความปลอดภัย

ผอ.สถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัยฯในการทำงาน คนแรก ชูนโยบายนำเอกชน-เทคโนโลยี มาช่วยพัฒนาด้านความปลอดภัย

เมื่อวันที่ 15 ส.ค. ที่กระทรวงแรงงาน  น.ส.พรรณี ศรียุทธศักดิ์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เป็นประธานในพิธีลงนามในสัญญา ระหว่างนายอาทิตย์  อิสโม ประธานกรรมการบริหารสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน กับ นายชัยธนา ไชยมงคล ผู้อำนวยการฝ่ายความปลอดภัยอาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อมภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เพื่อแต่งตั้งให้นายชัยธนา เป็นผู้อำนวยสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (สสปท.) ซึ่งเป็นองค์การมหาชน คนแรก โดยจะเริ่มปฏิบัติหน้าที่ในวันที่ 1 ต.ค.นี้

น.ส.พรรณี กล่าวว่า สสปท.เป็นองค์กร ที่ลูกจ้างเรียกร้องมานาน เพราะความปลอดภัยเป็นเรื่องสำคัญต่อชีวิตและทรัพย์สิน และสถานประกอบการของไทยกว่า 92% ที่เป็นกลุ่มเอสเอ็มอี ที่ขาดความรู้และต้นทุนด้านความปลอดภัย ซึ่ง สสปท.จะต้องเข้ามาทำหน้าที่ด้านวิชาการ เพื่อกำหนดมาตรฐานด้านความปลอดภัยให้เกิดขึ้น และ กสร.จะนำไปผลักดันให้เกิดกฎหมายเข้ามากำกับดูแลควบคู้กันไป ทั้งนี้มั่นใจว่าผู้อำนวยการ สสปท.คนแรก จะเข้ามาสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับองค์กรและสร้างความหน้าเชื่อถือให้เกิดขึ้นกับผู้ประกอบการ เมื่อเกิดปัญหาความปลอดภัยจะได้นึกถึงและปรึกษา สสปท.เป็นที่แรกได้

ขณะที่ นายอาทิตย์  กล่าวว่า การบริหารงานด้านความปลอดภัยจะสำเร็จไม่ได้ หาก กสร.และ สสปท.ไม่ร่วมมือกันขับเคลื่อนงาน ซึ่งคณะกรรมการ สสปท.มีหน้าที่เพียงเป็นสื่อกลางในการเชื่อมภารกิจทั้งสองหน่วยงานเข้าด้วยกัน และกำกับให้ สสปท.ปฏิบัติงานได้ตรงตามนโยบายของรัฐบาล โดยเชื่อว่าผู้อำนวยการคนใหม่จะสามารถผลักดันให้ สสปท.เป็นสถาบันความปลอดภัยที่ดี มีมาตรฐาน และทำให้ภารกิจคุ้มครอง ป้องกันความปลอดภัยของผู้ใช้แรงงานสำฤทธิ์ผล

ด้าน นายชัยธนา กล่าวว่า ส่วนตัวมีประสบการณ์ด้านความปลอดภัยมากว่า 25 ปี ใน 5 ประเทศ พร้อมมองว่านโยบายการบริหาร สสปท.ต่อจากนี้จะต้องเริ่มปรับภาพลักษณ์ให้เป็นสถาบันที่เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัย ในการพัฒนายุทธศาสตร์ประเทศ โดยจะมีการดึงภาคเอกชน และระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาทำงานร่วมกัน โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอี ที่ต้องนำเข้ามาอยู่ในระบบ เพื่อพัฒนาความปลอดภัยให้เกิดขึ้น ซึ่งจะมีภาคเอกชนรายใหญ่เข้ามาร่วมสนับสนุน

นอกจากนี้มองว่างานด้านโลจิสติกส์ เป็นอีก 1 กลุ่มที่ต้องเข้าไปดูเรื่องความปลอดภัย เพราะปัจจุบันมีการขนส่งสารเคมีอันตรายอยู่ทั่วประเทศ ดังนั้น สสปท.ต้องเข้าไปดูว่าจะทำอย่างไรให้เกิดความปลอดภัย โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีเข้ามาร่วมกำกับดูแล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมกำหนดมาตรการด้านความปลอดภัย เพื่อลดเป้าหมายการเกิดอุบัติเหตุให้น้อยลง เนื่องจากปัจจุบันพบว่ามีอุบัติเหตุจากการทำงานเกิดขึ้นกับผู้ใช้แรงงานกว่า 2 แสนคนต่อปี และมีผู้เสียชีวิตกว่า 400-600 คน ซึ่งถือเป็นเป้าหมายหลักที่ สสปท.จะต้องเข้ามาดูแลให้เกิดการสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินให้น้อยที่สุด