posttoday

จุดจบของดาวหาง

14 สิงหาคม 2559

วันที่ 4 ส.ค. 2559 ดาวหางสว่างดวงหนึ่งพุ่งเข้าใกล้ดวงอาทิตย์โดยไม่กลับออกมาอีก แสดงให้เห็นว่ามันสูญสลายไป

โดย...วรเชษฐ์ บุญปลอด

วันที่ 4 ส.ค. 2559 ดาวหางสว่างดวงหนึ่งพุ่งเข้าใกล้ดวงอาทิตย์โดยไม่กลับออกมาอีก แสดงให้เห็นว่ามันสูญสลายไปเนื่องจากแรงโน้มถ่วงและความร้อนสูงของดวงอาทิตย์ ดาวหางดวงนี้คาดว่าเป็นชิ้นส่วนของดาวหางขนาดใหญ่ดวงหนึ่งที่แตกออกเมื่อหลายร้อยปีก่อน

ดาวหางเป็นวัตถุขนาดเล็กที่มีอยู่เป็นจำนวนมากในระบบสุริยะ วงโคจรของดาวหางต่างๆ บ่งบอกว่ามันเดินทางเข้ามาจากทุกทิศทุกทาง แต่ก็มีดาวหางหลายดวงที่พบว่ามีวงโคจรใกล้เคียงกันจนเกือบจะซ้อนทับกัน จึงสามารถแบ่งดาวหางบางส่วนได้เป็นกลุ่มๆ และมีความเป็นไปได้สูงว่ามีความเกี่ยวข้องกันโดยกำเนิดมาจากดาวหางขนาดใหญ่ดวงเดียวที่แตกออกเป็นชิ้นเล็กๆ เมื่อในอดีต

ดาวหางกลุ่มที่มีสมาชิกมากที่สุดมีชื่อว่าครอยตซ์ (Kreutz) ตั้งชื่อตามนามสกุลของ ไฮน์ริช ครอยตซ์ นักดาราศาสตร์ชาวเยอรมัน ผู้ค้นพบและศึกษาเกี่ยวกับดาวหางกลุ่มนี้

ดาวหางในกลุ่มครอยตซ์เป็นดาวหางที่มีจุดใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดเฉียดผิวดวงอาทิตย์ในระยะใกล้มาก เกือบทั้งหมดจึงสูญสลายไปก่อนจะโคจรไปถึงจุดนั้น ปัจจุบันนักดาราศาสตร์ค้นพบดาวหางในกลุ่มครอยตซ์ราว 200 ดวง/ปี โดยทั้งหมดพบในภาพถ่ายจากหอสังเกตการณ์โซโฮ ซึ่งองค์การอวกาศยุโรป (อีซา) และองค์การนาซ่าร่วมกันส่งออกไปเฝ้าสังเกตดวงอาทิตย์มาตั้งแต่ปี 2538

จุดจบของดาวหาง

 

หอสังเกตการณ์โซโฮมีกล้องถ่ายภาพที่ใช้ถ่ายดวงอาทิตย์โดยตรงและกล้องที่มีแผ่นบังดวงอาทิตย์เพื่อถ่ายบรรยากาศชั้นนอกที่เรียกว่าคอโรนา (เราที่อยู่บนพื้นโลกจะสามารถเห็นคอโรนาได้เฉพาะขณะเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงเท่านั้น) นอกจากการสังเกตดวงอาทิตย์ โซโฮจึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการสังเกตวัตถุอื่นๆ ที่โคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นดาวหาง และดาวหางที่โซโฮค้นพบมากที่สุดคือดาวหางในกลุ่มครอยตซ์

นักดาราศาสตร์จากทั่วโลกสามารถเป็นผู้ค้นพบดาวหางในภาพถ่ายจากโซโฮ เนื่องจากอีซาและนาซ่าได้เผยแพร่ภาพถ่ายเหล่านี้บนอินเทอร์เน็ตเกือบจะทันทีหลังจากได้ภาพ โดยมีโครงการซันเกรซเซอร์ (Sungrazer) เปิดโอกาสให้ผู้คนจากทั่วโลกรายงานการค้นพบดาวหางในภาพถ่ายจากโซโฮ ที่ผ่านมามีผู้ค้นพบดาวหางเกือบ 100 คน โดยปัจจุบันค้นพบดาวหางแล้วเกือบ 3,200 ดวง

ดาวหางดวงสว่างที่เข้าใกล้ดวงอาทิตย์เมื่อวันที่ 4 ส.ค.ที่ผ่านมา ถูกค้นพบโดยผู้เขียนเมื่อเช้ามืดวันที่ 2 ส.ค. 2559 ตามเวลาประเทศไทย หรือตรงกับวันที่ 1 ส.ค. ตามเวลาสากล โดยค้นพบขณะดาวหางยังมีความสว่างน้อยมาก แต่มีการเคลื่อนที่ให้สังเกตเห็นได้อย่างชัดเจนขณะยังปรากฏอยู่บริเวณขอบของภาพถ่ายมุมกว้างจากโซโฮ

ดาวหางดวงนี้เคลื่อนเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากขึ้นและสว่างขึ้นอย่างรวดเร็วในเวลาต่อมา คาร์ล บอตทอม ผู้ดูแลเว็บไซต์ซันเกรซเซอร์รายงานในทวิตเตอร์ว่าเป็นดาวหางที่สว่างที่สุดดวงหนึ่งในบรรดาดาวหางทั้งหมดที่ค้นพบในภาพถ่ายจากโซโฮตลอดระยะเวลา 21 ปี ของโครงการ หากมีสุริยุปราคาเต็มดวงเกิดขึ้นในช่วงวันที่ 3-4 ส.ค. 2559 คนที่อยู่ใต้เงามืดของดวงจันทร์จะสามารถเห็นดาวหางดวงนี้ได้ด้วยตาเปล่าอย่างชัดเจน

ผู้สนใจสามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมและเรียนรู้เกี่ยวกับการล่าดาวหางในภาพถ่ายจากโซโฮได้ที่เว็บไซต์ sungrazer.nrl.navy.mil