posttoday

เตือนภัยแชร์ลูกโซ่ การลงทุนในความเสี่ยง

30 กรกฎาคม 2559

แน่นอนว่าความรวยทั้งทรัพย์สินเงินทอง คือองค์ประกอบในชีวิตที่หลายคนต้องการ

โดย...ไซเรน

แน่นอนว่าความรวยทั้งทรัพย์สินเงินทอง คือองค์ประกอบในชีวิตที่หลายคนต้องการ

คนหาเช้ากินค่ำต่อสู้ด้วยแรงงานเพื่อดำรงชีพในสังคม ขณะเดียวกันก็พยายามเก็บหอมรอมริบพร้อมแสวงหาช่องทางลงทุนตามมีตามได้ เพื่อให้เงินในกระเป๋างอกเงย

ให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น ให้เลี้ยงดูครอบครัวให้อยู่สุขสบาย

การเล่นแชร์จึงเป็นอีกทางเลือกเพื่อหวังเอารายได้มาจุนเจือและได้ทำตามเป้าหมายของชีวิต

แต่กระนั้น ต้องยอมรับกันว่า สารพัดแชร์ต่างๆ ในสังคม ทั้ง แชร์ลูกโซ่ แชร์ข้าวสาร แชร์ก๋วยเตี๋ยว หรือแชร์เว็บ และต่างๆ อีกมากมาย มันแฝงด้วยมิจฉาชีพที่จะหลอกเอาเงินเหยื่อที่มาลงทุนด้วย ทำให้เกิดการฉ้อโกงประชาชนที่ถูกหลอกร่วมลงทุนในลักษณะแชร์

กรมสอบสวนคดีพิเศษที่จับตารูปแบบและทำคดีในลักษณะตามข้างต้น จึงมีวิธีเตือนภัยประชาชน ให้ฉุกคิดสักนิดก่อนที่จะคิดลงทุนในรูปแบบแชร์ เพราะเงินที่ลงไปเพื่อหวังเอากำไรนั้น อาจไม่ได้กลับคืนมาแม้แต่บาทเดียว

1.พิจารณาจากจำนวนสินค้า หรือสิ่งของที่ได้รับจากการร่วมลงทุนในธุรกิจ หากมีการซื้อขายแต่ว่าไม่ได้รับสินค้า หรือสิ่งของใดในการร่วมลงทุน ให้ระวังไว้ว่า อาจกำลังตกเป็นเหยื่อในการหลอกลวง

2.หากได้รับสินค้าจากการลงทุนทำธุรกิจแชร์ แต่สินค้าที่ได้มาในการลงทุนไม่คุ้มกับจำนวนเงินที่ต้องเสียไป เช่น การฉ้อโกงธุรกิจแชร์น้ำมันเครื่อง หรือธุรกิจแชร์อุปกรณ์ตกแต่งรถยนต์ จะถูกหลอกให้ร่วมลงทุน แล้วต้องหาลูกค้ารายอื่นๆ เข้ามาร่วมลงทุนต่อๆกันไป โดยแต่ละรายต้องลงทุนไปจำนวนเงิน 2 หมื่นบาท แต่ได้สินค้าตอบแทนมาเพียง อุปกรณ์ล้างรถ และกระป๋องน้ำยาขัดรถ ราคารวมประมาณ 1,500 บาท เมื่อพิจารณาจะเห็นได้ทันทีว่า ไม่คุ้มกับจำนวนเงินที่ชำระไป ซึ่งการกระทำโดยการให้สิ่งตอบแทนที่ไม่คุ้มกับราคานี้ เป็นเพียงการหลีกเลี่ยงกฎหมาย ให้มีลักษณะดูเสมือนว่าเป็นการซื้อขายกันจริงเท่านั้น

3.พิจารณาจากรายได้ผลตอบแทน จากการประกอบการของธุรกิจที่มีการชักชวนให้ร่วมลงทุน หากผลประกอบการมีลักษณะที่สูงเกินกว่าปกติ ที่สามัญชนในการประกอบการค้าประเภทนั้นๆ พึงได้ ให้สันนิษฐานได้ว่าน่าจะเข้าข่ายลักษณะของการฉ้อโกงประชาชนให้ร่วมลงทุนทำธุรกิจแชร์ที่ผิดกฎหมายและอาจถูกหลอกลวงได้

4.การทำธุรกิจโดยการชักชวนประชาชนร่วมลงทุนในลักษณะเครือข่าย หรือลักษณะแชร์ลูกโซ่ หากถูกต้องตามกฎหมาย ธุรกิจเหล่านี้จะต้องทำการจดทะเบียนต่อสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค โดยต้องทำการชี้แจงแผนการทำตลาดให้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคทราบในรายละเอียดของการประกอบธุรกิจที่ชัดเจนทุกขั้นตอน

5.พิจารณาจากที่ทำการที่ตั้งอันเป็นหลักแหล่งของผู้ประกอบการ รวมทั้งการติดต่อของผู้ชักชวนให้ประกอบธุรกิจร่วมว่า มีที่ตั้งของสำนักงานในการประกอบธุรกิจที่แน่นอนหรือไม่ และสามารถที่จะติดต่อได้ตลอดเวลาทำการหรือไม่ หากมีการย้ายที่ประกอบการไปมาบ่อยครั้ง ปิดเว็บไซต์ หรือไม่สามารถที่จะติดต่อได้ น่าจะเป็นการประกอบธุรกิจเพื่อประสงค์ฉ้อโกงประชาชน

กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ แจ้งย้ำว่า หากประชาชนพบธุรกิจที่เข้าข่ายข้อสังเกตข้างต้นหรือประสบการณ์โดนหลอกลวงด้วยตนเอง หรือแนะนำให้ผู้ที่ถูกหลอกลวง สามารถแจ้งเรื่องราวได้ที่ดีเอสไอเบอร์โทร. 02-831-9888