posttoday

ชงสภาฯเอฟทีเอ6ฉบับ

16 สิงหาคม 2553

พาณิชย์ ดัน 6 ข้อตกลงเอฟทีเอให้รัฐสภาไฟเขียว 17 ส.ค.นี้ ย้ำเป็นข้อตกลงที่เป็นประโยชน์ต่อการค้าไทย และมั่นใจสภาผ่านการพิจารณาแน่

พาณิชย์ ดัน 6 ข้อตกลงเอฟทีเอให้รัฐสภาไฟเขียว 17 ส.ค.นี้ ย้ำเป็นข้อตกลงที่เป็นประโยชน์ต่อการค้าไทย และมั่นใจสภาผ่านการพิจารณาแน่

นายอลงกรณ์ พลบุตร รมช.พาณิชย์ เปิดเผยว่า วันที่ 17 ส.ค.นี้ กระทรวงพาณิชย์จะเสนอขอความเห็นชอบกรอบการเจรจาความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยกับคู่เจรจา จำนวน 6 ฉบับ ได้แก่ กรอบการเจรจาเพื่อแก้ไขกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าภายใต้พิธีสารระหว่างไทยเปรู กรอบการเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทยชิลี กรอบการเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทยออสเตรเลีย กรอบการเจรจาความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดกันยิ่งขึ้นไทยนิวซีแลนด์ พิธีสารเพื่อแก้ไขความตกลงว่าด้วยการค้าสินค้าอาเซียนจีน และพิธีสารเพื่อแก้ไขความตกลงว่าด้วยการค้าสินค้าอาเซียนเกาหลีใต้

“การเสนอกรอบการเจรจาความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยกับคู่เจรจาทั้ง 6 ฉบับ เพื่อให้รัฐสภาพิจารณาในครั้งนี้ ถือเป็นมิติใหม่ของการเมืองไทยในการนำข้อผูกพันการเปิดเสรีมาเปิดเผยให้รัฐสภาได้พิจารณา ตามที่กฎหมายรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ซึ่งจะช่วยลบข้อครหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนของภาครัฐในเรื่องการทำเอฟทีเอ มั่นใจว่าจะผ่านการพิจารณารัฐสภาแน่” นายอลงกรณ์ กล่าว

นายอลงกรณ์ กล่าวว่า พิธีสารความตกลงการค้าเสรีไทยเปรู เป็นข้อตกลงที่ได้ลงนามเมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2548 แต่ยังไม่มีผลบังคับใช้ เพราะเปรูขอแก้ไขถ้อยคำในพิธีสาร จึงต้องเสนอให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบ ซึ่งหลังจากเห็นชอบแล้ว คาดว่าความตกลงนี้จะสามารถบังคับใช้ได้ในปีหน้า ซึ่งจะส่งผลให้การค้าการลงทุนของทั้งสองฝ่ายเพิ่มขึ้น เพราะสินค้าส่งออกของทั้งสองประเทศแตกต่างกัน การเปิดตลาดของทั้งสองฝ่ายจึงเกื้อหนุนกันมากกว่าที่จะแข่งขันกัน คือ เปรูมีความต้องการนำเข้าสินค้าไทย เช่น รถกระบะ เครื่องใช้ไฟฟ้า ทีวี ตู้เย็น เป็นต้น ส่วนไทยต้องการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบ เช่น แร่ทองแดง เงิน ป่าไม้ เป็นต้น

ความตกลงการค้าเสรีไทยชิลี เป็นข้อตกลงเอฟทีเอฉบับใหม่ เพราะไทยเห็นว่าชิลีเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญประเทศหนึ่งของไทยในแถบอเมริกาใต้ และเป็นประเทศที่ทำเอฟทีเอกับประเทศต่างๆ มากถึง 57 ประเทศ การทำเอฟทีเอจะทำให้การค้าของทั้งสองประเทศมีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้น และไทยสามารถใช้ชิลีเป็นประตูการค้าไปสู่ประเทศในภูมิภาคอเมริกาใต้ รวมทั้งชิลีสามารถใช้ไทยเป็นประตูการค้าไปสู่ประเทศในแถบอาเซียน ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถเริ่มการเจรจาได้อย่างเร็วที่สุดคือปลายปี

สำหรับความตกลงการค้าเสรีไทยออสเตรเลีย ที่มีผลใช้บังคับนับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2548 และความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดกันยิ่งขึ้นไทยนิวซีแลนด์ มีผลใช้บังคับมาตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2548 ซึ่งความตกลงทั้งสองฉบับนี้ ได้กำหนดให้มีการทบทวนและเจรจาเพิ่มเติมภายใน 3 ปี นับจากวันที่ความตกลงมีผลใช้บังคับ และขณะนี้ครบกำหนดแล้วจึงต้องมีการเจรจากันใหม่โดยมีประเด็นที่จะต้องเจรจา ได้แก่ การเปิดตลาดการค้าบริการ การทบทวนมาตรการปกป้องพิเศษ นโยบายการแข่งขัน การจัดซื้อโดยรัฐ และประเด็นที่ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบร่วมกัน

ร่างพิธีสารเพื่อแก้ไขความตกลงว่าด้วยการค้าสินค้าอาเซียนจีน ฉบับที่ 2 และร่างพิธีสารเพื่อแก้ไขความตกลงว่าด้วยการค้าสินค้าอาเซียนเกาหลีใต้ มีความจำเป็นต้องผลักดันให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบ เพราะไทยจะมีการลงนามร่วมกับอาเซียนจีน และอาเซียนเกาหลีใต้ ในช่วงการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (เออีเอ็ม) ปลายเดือนส.ค.2553 นี้

ทั้งนี้ การแก้ไขความตกลงการค้าสินค้าอาเซียนจีนนั้น เนื่องจากการเปิดเสรีเมื่อปี 2547 ได้ทำให้การค้าทั้งสองฝ่ายขยายตัวอย่างมากก็จริง แต่ปรากฏว่า ผู้ประกอบการไทยไม่สามารถใช้สิทธิประโยชน์จากความตกลงฉบับนี้ได้อย่างเต็มที่ เพราะติดเงื่อนไขกฎถิ่นกำเนิดสินค้าของจีนที่เป็นอุปสรรค อาเซียนและจีนจึงได้หารือและปรับถ้อยคำต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งเมื่อความตกลงฯ ใหม่บังคับใช้ จะช่วยให้ผู้นำเข้าส่งออกของไทยสามารถใช้สิทธิประโยชน์จากความตกลงได้มากขึ้น เช่น การตรวจปล่อยสินค้าที่ขอใช้สิทธิความตกลงการค้าสินค้าอาเซียนจีน จะเป็นไปโดยสะดวกและมีความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ผู้ประกอบการสามารถนำเข้าหรือส่งออกสินค้าผ่านประเทศที่สาม เช่น ฮ่องกงหรือญี่ปุ่น ได้ เป็นต้น

ขณะที่พิธีสารเพื่อแก้ไขความตกลงว่าด้วยการค้าสินค้าอาเซียนเกาหลีใต้ เป็นพิธีสารที่จัดทำขึ้นเพื่อให้ลาวสามารถเพิ่มรายการสินค้าอ่อนไหวสูงได้เหมือนกับประเทศอื่นที่เป็นสมาชิกความตกลงฯ โดยลาวจะเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าที่มาจากเกาหลีใต้ ได้แก่ รถยนต์ขนส่งบุคคลและสิ่งของ มอเตอร์ไซค์และชิ้นส่วน วีดีโอเกม ของเล่น และตู้เล่นเกม เป็นต้น ซึ่งจะทำให้เกาหลีใต้ส่งสินค้าเหล่านี้ไปขายในประเทศลาวได้ยากขึ้น แต่ในส่วนของไทยไทยไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าให้กับลาว เพราะได้รับการลดหย่อนภาษีภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน (อาฟตา)