posttoday

กลุ่มสืบสาน ศิลปวัฒนธรรมล้านนา

16 กรกฎาคม 2559

การสืบสานศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นที่บรรพบุรุษถ่ายทอดมา เป็นประเพณีและค่านิยมอันดีงามในวิถีชีวิตชาวไทย

โดย...ภาดนุ ภาพ... วิศิษฐ์ แถมเงิน

การสืบสานศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นที่บรรพบุรุษถ่ายทอดมา เป็นประเพณีและค่านิยมอันดีงามในวิถีชีวิตชาวไทยที่ได้รับการสืบต่อกันมา ซึ่งแม่ครูจำปา แสนพรม หญิงชาวเชียงรายวัย 62 ปี ก็เป็นผู้นำในการก่อตั้งกลุ่มสืบสานศิลปวัฒนธรรมล้านนาที่มีสมาชิกกลุ่มทั้งคนเหนือและคนภาคอื่นๆ

“แต่เดิมแล้วแม่เป็นชาว อ.พาน จ.เชียงราย และเป็นแม่เพลงซอพื้นบ้าน (ช่างซอ) มาตั้งแต่เด็กๆ ซึ่งได้รับการถ่ายทอดมาจากพ่อครูขันแก้ว พ่อครูศรีทวน พ่อครูคำผาย โดยรับงาน ขับเพลงซอในเขตภาคเหนือ แต่เมื่อมีครอบครัวแล้วจำเป็นต้องย้ายตามสามีมาอยู่กรุงเทพฯ แม่จึงไปร่วมขับซอและฟ้อนรำในงานตานก๋วยสลาก (สลากภัต) ที่วัดเบญจมบพิตรฯ ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำในเดือน ต.ค.ของทุกปี จนได้รู้จักกับหนุ่มสาวชาวเหนือที่มาตั้งวงชื่อ ‘วงน้ำพริกหนุ่ม’ แม่จึงตามพวกเขาไปแสดงตามงานต่างๆ จนสามีห้าม เลยเลิกไป แม่จึงหันไปเปิดร้านเสริมสวยแทน

กระทั่งปี 2539 ซึ่งรัฐบาลได้จัดให้มีงานเฉลิมฉลองในหลวงครองราชย์ครบ 50 ปี ตอนนั้นจะมีกลุ่มการแสดงต่างๆ จากทุกภาคมาแสดงที่สวนอัมพรจนถึงสนามหลวง แม่จึงไปเดินดูงานแล้วพบว่าเวทีภาคเหนือไม่มีคนมาแสดงเลย ด้วยใจที่ยังรักและอยากถ่ายทอดศิลปวัฒนธรรมล้านนาที่มีอยู่ในสายเลือด จึงตั้งปณิธานตั้งแต่นั้นว่าจะกลับไปซ้อมขับเพลงซอ ซ้อมฟ้อนรำที่บ้าน และหากมีงานสำคัญอีกเมื่อไหร่ แม่จะมาฟ้อนถวายพระองค์ท่าน และต่อมาเมื่อได้รู้จักกับนักศึกษาจาก มหาวิทยาลัยรามคำแหง แม่จึงไปรวมกลุ่มกับพวกเขาโดยไปอยู่ในชมรมวัฒนธรรมท้องถิ่น และได้ไปแสดงในงานวัฒนธรรมขันโตกของชาวเหนือ แล้วได้ตั้งกลุ่มสืบสานศิลปวัฒนธรรมล้านนาขึ้นในปี 2548”

กลุ่มสืบสาน ศิลปวัฒนธรรมล้านนา

 

แม่ครูจำปา บอกว่า เมื่อได้กลับมาทำในสิ่งที่ตัวเองรัก จึงมีบุคคลทั่วไปและนักศึกษามาขอเรียนกับแม่ที่บ้าน จนเกิดเสียงดังเป็นที่รำคาญของคนที่อยู่ใกล้ๆ โชคดีว่าได้รับความเมตตาจาก “พระราชวชิรโสภณ” เจ้าอาวาสวัดวชิรธรรมสาธิต (วัดในซอยสุขุมวิท 101/1) อนุญาตให้มาใช้อาคารในวัด ตั้งเป็น “โรงเรียนสืบสานวัฒนธรรมล้านนา” ขึ้นในปี 2550 โดยอาศัยคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาช่วยบริหารงาน

“ต้องขอกราบขอบพระคุณท่านเจ้าอาวาสที่ให้ความเมตตาและเห็นความสำคัญของศิลปวัฒนธรรมล้านนาที่ควรสืบสานไว้ โดยท่านเมตตาให้ใช้สถานที่ น้ำ และไฟฟ้าฟรีหมด ที่นี่เราเปิดสอนเล่นเครื่องดนตรี เช่น สะล้อ ซอ ซึง กลองสะบัดชัย ปู่จา ปู่เจ่อ มองเซิง ฯลฯ รวมทั้งการฟ้อนรำ เช่น ฟ้อนผางประทีป ฟ้อนร่มฟ้าบารมี ฟ้อนขันดอก ฟ้อนเล็บ ฟ้อนเจิง ขับซอล้านนา และอื่นๆ ให้ผู้ที่สนใจมาเรียนได้ฟรีเลย”

กลุ่มสืบสาน ศิลปวัฒนธรรมล้านนา แม่ครูจำปา แสนพรม

 

แม่ครูจำปา ทิ้งท้ายว่า การก่อตั้งโรงเรียนสืบสานศิลปวัฒนธรรมล้านนาขึ้นนั้น แม้ไม่ได้ค่าตอบแทนเป็นเงินทอง แต่สิ่งที่ได้ซึ่งมีคุณค่ามากกว่าก็คือความภาคภูมิใจที่ได้ทำในสิ่งที่แม่รัก ได้สืบสานวัฒนธรรมล้านนาอันดีงามให้คงอยู่ต่อไป ได้สอนงานให้กับนักศึกษาฝึกงาน เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยทักษิณ และมหาวิทยาลัยอื่นๆ มาถึง 5 รุ่นแล้ว และได้มีโอกาสนำสมาชิกไปแสดงยังท้องสนามหลวง เพื่อเทิดพระเกียรติในหลวงในวันพ่อและในวันสำคัญต่างๆ ก็ถือเป็นบุญอันยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตแล้วล่ะ

ด้าน หทัยรัตน์ เฑียรบุญเลิศรัตน์ หรือเกด นิสิตชั้นปีที่ 4 คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า โดยพื้นเพแล้วเธอเป็นคนกรุงเทพฯ แต่เพราะเคยเรียนฟ้อนรำมาก่อน ประกอบกับมีโอกาสได้ไปท่องเที่ยวทางภาคเหนือแล้วรู้สึกชอบศิลปะพื้นถิ่นล้านนา เมื่อมีรุ่นพี่แนะนำว่าที่โรงเรียนสืบสานศิลปวัฒนธรรมล้านนาแห่งนี้เปิดสอนฟรีแก่นักศึกษาและบุคคลทั่วไป เธอ จึงสอบถามและขอมาฝึกงานที่นี่เป็นรุ่นที่ 3

“หนูเข้ามาเรียนเกี่ยวกับการฟ้อนรำต่างๆ เมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา แล้วยังมีโอกาสได้ร่วมแสดงในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา รวมทั้งงานเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมที่รัฐบาลจัดขึ้นที่คลองผดุงกรุงเกษม หนูก็มีโอกาสได้ไปร่วมแสดงศิลปะพื้นเมืองล้านนากับเขาด้วย

นอกจากนี้ หนูยังเรียนตีกลองสะบัดชัยและเรียนพูดภาษาเหนือกับแม่ครูจำปาด้วยค่ะ โดยหนูมาเรียนที่นี่ในฐานะนักศึกษาฝึกงานที่ต้องเก็บชั่วโมงฝึกงานให้ได้ 200 ชั่วโมง ตอนนี้ก็ใกล้จะครบแล้วค่ะ แต่หนูตั้งใจว่าถึงแม้จะฝึกงานจบแล้วก็จะมาเรียนรู้สิ่งต่างๆ ที่คุณแม่จำปาและคนในกลุ่มนี้สอนแบบพี่สอนน้อง ซึ่งไม่ว่าจะสอนศิลปะอะไร หนูก็ตั้งใจว่าจะเรียนไปเรื่อยๆ และหากทางกลุ่มมีงานแสดงต่างๆ ให้ช่วย หนูก็เต็มใจเป็นอย่างยิ่งเลยค่ะ”