posttoday

5องค์กรสื่อวอนคสช.ทบทวนคำสั่งติดดาบกสทช.

15 กรกฎาคม 2559

5 องค์กรวิชาชีพสื่อเรียกร้องคสช.ทบทวนคำสั่ง41/2559 "ติดดาบกสทช.คุมสื่อ"ชี้จำกัดเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นอาจส่งผลกระทบต่อการลงประชามติ

5 องค์กรวิชาชีพสื่อเรียกร้องคสช.ทบทวนคำสั่ง41/2559 "ติดดาบกสทช.คุมสื่อ"ชี้จำกัดเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นอาจส่งผลกระทบต่อการลงประชามติ

5 องค์กรวิชาชีพสื่อ ประกอบด้วย สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ได้ออกแถลงการณ์ เรื่อง การจำกัดเสรีภาพสื่อมวลชนโดยประกาศหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ระบุว่า ตามที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติได้ออกคำสั่งที่ 41/2559 เรื่อง การกำกับดูแลการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะ โดยมีเจตนาในการขยายอำนาจตามมาตรา 37 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 ของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ให้ครอบคลุมไปถึงประกาศของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 97/2557 และฉบับที่ 103/2557 รวมทั้งคุ้มครองการใช้อำนาจของ กสทช.ตามประกาศดังกล่าว องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน 5 องค์กรประกอบด้วย สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ได้ประชุมหารือกันแล้ว มีความเห็นและข้อเสนอแนะดังต่อไปนี้

1) คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 41/2559 ออกมาในสถานการณ์ที่ประเทศกำลังเดินหน้าตามแผนกลับสู่ประชาธิปไตยด้วยการลงประชามติต่อร่างรัฐธรรมนูญในวันอาทิตย์ที่ 7 สิงหาคมนี้ โดยอาจทำให้เกิดการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนและสื่อมวลชนต่อสถานการณ์บ้านเมือง โดยเฉพาะเนื้อหาของรัฐธรรมนูญมากขึ้น จนอาจส่งผลให้การลงประชามติไม่ชอบธรรมและไม่ได้รับยอมรับจากประชาชนและนานาอารยประเทศ

2) การขยายอำนาจตามมาตรา 37 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 ของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ให้ครอบคลุมไปถึงประกาศของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 97/2557 และฉบับที่ 103/2557 ดังกล่าว ถือเป็นการขยายอำนาจในการจำกัดเสรีภาพของสื่อมวลชนและประชาชนจนเกินขอบเขต โดยใช้ กสทช.เป็นเครื่องมือ ซึ่งจะทำให้สื่อมวลชนทำหน้าที่นำเสนอข่าวสารด้วยความหวาดกลัว และส่งผลให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารที่ไม่ครบถ้วนรอบด้าน

3) องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนทั้ง 5 องค์กรข้างต้นจึงขอเรียกร้องให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติทบทวนการออกคำสั่งดังกล่าว เพื่อไม่ให้เกิดการใช้อำนาจจำกัดเสรีภาพในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารจนเกินขอบเขตต่อสื่อมวลชนส่วนใหญ่ที่ปฏิบัติหน้าที่ตามกรอบของกฎหมายและจริยธรรม ส่วนสื่อมวลชนใดที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายที่มีอยู่ กสทช.ก็สามารถใช้อำนาจตามกฎหมายที่มีอยู่เดิมดำเนินการตามขั้นตอนตามกฎหมายได้อยู่แล้ว

4) ในระหว่างที่คำสั่งนี้ใช้บังคับ องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนขอเรียกร้องให้ กสทช.ใช้อำนาจด้วยความระมัดระวังตามเจตนารมณ์ของการเป็นองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระ ไม่ตกอยู่ใต้อำนาจทางการเมืองใดๆ แม้ว่าจะมีการออกคำสั่งให้ กสทช.ใช้อำนาจโดยได้รับการคุ้มครองว่าไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง อาญาและวินัยก็ตาม

องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน 5 องค์กรมีความไม่สบายใจต่อการใช้อำนาจออกกฎหมายมาจำกัดเสรีภาพในการนำเสนอในการนำเสนอข่าวสารดังกล่าว เพราะขณะนี้สัญญาณว่า มีความพยายามที่จะออกกฎหมายอื่นๆ ที่มีลักษณะในการแทรกแซงและจำกัดเสรีภาพของสื่อมวลชนอีกหลายฉบับ

อนึ่ง ในสถานการณ์การเมืองที่ยังคงมีความขัดแย้งแตกแยกของของประชาชนกลุ่มต่างๆ ในขณะนี้ องค์กรวิชาชีพสื่อขอเรียกร้องมายังสื่อมวลชนต่างๆ ให้ปฏิบัติหน้าที่นำเสนอข้อมูลข่าวสารและแสดงความคิดเห็นโดยยึดหลักจริยธรรมวิชาชีพสื่อมวลชนโดยเคร่งครัด เพื่อสร้างหลักประกันในการนำเสนอข่าวสารอย่างมีเสรีภาพและความรับผิดชอบต่อสังคมต่อไป.