posttoday

พบสงฆ์ไทยป่วย "ไขมันในเลือด-ความดัน-เบาหวาน"มากสุด

14 กรกฎาคม 2559

เผย 5 อันดับโรคของพระสงฆ์ป่วยมากสุด "ไขมันในเลือด-ความดัน-เบาหวาน-ไตวาย-ข้อเข่าเสื่อม" ชี้พระมีพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพ

เผย 5 อันดับโรคของพระสงฆ์ป่วยมากสุด "ไขมันในเลือด-ความดัน-เบาหวาน-ไตวาย-ข้อเข่าเสื่อม"  ชี้พระมีพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพ

เมื่อวันที่ 14 ก.ค. ที่โรงพยาบาลสงฆ์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ จัดงานแถลงข่าว“เข้าพรรษานี้...ตักบาตรถาม (สุขภาพ)พระ”

พญ.นฤมล สวรรค์ปัญญาเลิศ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากข้อมูลสุขภาพพระสงฆ์ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลสงฆ์ ปีงบประมาณ 2558 พบว่า โรคที่พระสงฆ์ป่วยสูงสุด 5 อันดับแรก คือ 1  โรคเมตาบอลิซึมและไขมันในเลือดผิดปกติ 2. โรคความดันโลหิตสูง 3. โรคเบาหวาน 4. โรคไตวายหรือไตล้มเหลว และ 5. โรคข้อเข่าเสื่อม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรคที่เกิดจากพฤติกรรมเนื่องจากพระสงฆ์ไม่สามารถเลือกฉันอาหารที่ฆราวาสถวายได้ การที่สสส.และกระทรวงสาธารณสุขให้ความรู้ความเข้าใจถึงอาหารใส่บาตรที่เหมาะสมต่อสุขภาพพระจึงเป็นสิ่งสำคัญเพื่อป้องกันการเจ็บป่วยของพระสงฆ์ นอกจากนี้พระสงฆ์ยังมีพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรค เช่น การสูบบุหรี่ ดื่มกาแฟ เครื่องดื่มชูกำลัง เครื่องดื่มที่มีรสหวาน เป็นต้น หากไม่ได้รับการดูแลที่เหมาะสมจะกลายเป็นผู้ป่วยรายใหม่ในอนาคต 

รศ.ดร.ภญ.จงจิตร อังคทะวานิช ผู้จัดการโครงการการขับเคลื่อนสงฆ์ไทยไกลโรคเพื่อการดูแลโภชนาการพระสงฆ์ในระดับประเทศ สสส. กล่าวว่า เนื่องจากกว่า 90%ของฆราวาสที่อยู่ในเมืองส่วนใหญ่นิยมซื้ออาหารชุดใส่บาตร จากการสำรวจอาหารที่ถวายให้พระพบว่า อาหารยอดนิยมส่วนใหญ่คือ แกงเขียวหวาน พะโล้ ผัดกระเพรา และของทอด เพราะเป็นอาหารที่มีรูปลักษณ์น่าทาน หน้าตาไม่เปลี่ยนมากหากทำทิ้งไว้เป็นเวลานาน แต่ชุดอาหารเหล่านี้ส่งผลต่อสุขภาพพระสงฆ์ไทย โดยพบความเสี่ยงต่อภาวะอ้วน โรคกระเพาะอาหารและกระดูกพรุน เนื่องจากอาหารที่ถวายพระส่วนใหญ่มีโปรตีนน้อย ผักน้อย มีรสจัด และไขมันสูง เมื่อรับโปรตีนเพียง 60% ซึ่งไม่เพียงพอต่อปริมาณที่ร่างกายควรได้รับ จึงต้องฉันข้าวปริมาณมากเพื่อทดแทนโปรตีนให้เพียงพอ ทำให้อิ่มได้ไม่นานจึงมักชดเชยด้วยน้ำปานะที่มีรสหวาน โดยน้ำปานะยอดนิยมคือ กาแฟ ชาขวด และเครื่องดื่มชูกำลัง โดยฉันปริมาณเฉลี่ย 2 ขวดต่อวัน ทำให้เสี่ยงต่อภาวะอ้วนลงพุงถึง 45%

รศ.ดร.ภญ.จงจิตร กล่าวว่า นอกจากนี้ยังพบภาวะกระดูกพรุน เพราะท่านไม่มีโอกาสได้ฉันผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม โดยพบอาหารที่ท่านฉันมีปริมาณแคลเซียมต่ำกว่าคนทั่วไป โดยได้รับเพียง 100 กว่ามิลลิกรัม ขณะที่คนทั่วไปอยู่ที่ 800-1,000 มิลลิกรัม ซึ่งต่างกันถึง 8 เท่า และอาหารที่ถวายมักมีรสจัดทำให้เป็นโรคกระเพาะอาหาร ดังนั้นในช่วงเข้าพรรษานี้ก่อนใส่บาตรมาร่วมใส่ใจสุขภาพพระด้วยการเลือกอาหารที่ดีต่อสุขภาพ โดยอาหารแนะนำที่ควรถวายคือ หลีกเลี่ยงอาหารทอด รสจัด เสริมผักและโปรตีนจากไก่ กุ้ง ปลาที่เพียงพอ ใช้ข้าวกล้องแทนข้าวขาว และน้ำปานะ เช่น นมกล่องเพื่อเพิ่มแคลเซียม เป็นต้น  

พระศรีคัมภีรญาณ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย กล่าวว่า ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) ได้ร่วมมือกับคณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสสส.พัฒนา “ครัวต้นแบบ” ที่มุ่งเน้นการดูแลภัตตาหารที่จะถวายแด่คณาจารย์ พระนิสิตที่ศึกษาในมจร. เพื่อเป็นการปรับรูปแบบการปรุงอาหารให้ถูกต้องตามหลักโภชนาการมากขึ้น เช่น การลดอาหารที่มีไขมันสูง การปรับรายการอาหารให้มีผักมากขึ้น

นอกจากนี้ยังได้ร่วมมือกับคณะสงฆ์ใน 20 จังหวัด ถวายความรู้ในการดูแลสุขภาพ อาทิ อบรมพระสังฆาธิการ การจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์เรื่องการพัฒนาสุขภาพตามแนวพระพุทธศาสนาเพื่อยกระดับองค์ความรู้ด้านการดูแลสุขภาพพระสงฆ์ ซึ่งนอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อการดูแลสุขภาพให้กับพระสงฆ์แล้ว ยังคาดหวังว่าพระสงฆ์จะเป็นต้นแบบการการดูแลสุขภาพให้แก่ฆราวาสด้วยเช่นกัน

นายพนม ศรศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กล่าวว่า ทิศทางการทำงานของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติจะให้น้ำหนักการดูแลสุขภาพพระสงฆ์ไทยมากขึ้น โดยเป็นแกนหลักในการจัดทำธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ในระดับชาติเพื่อดูแลสุขภาพพระสงฆ์ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ทั้งกาย จิต ปัญญา และสังคม ตลอดจนการจัดสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพที่เชื่อมโยงระหว่างวัดกับชุมชนเพื่อให้พระแข็งแรง วัดมั่นคง ชุมชนเข้มแข็ง โดยจะมีการเชื่อมโยงข้อมูลด้านสุขภาพของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ สนับสนุนกิจกรรมการปฏิบัติศาสนกิจด้านสุขภาพโดยร่วมกับเครือข่ายพระสงฆ์นักพัฒนาจัดทำแผนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนวัดส่งเสริมสุขภาพ เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพของพระสงฆ์และชุมชน ตลอดจนร่วมกับคณะสงฆ์ กระทรวงศึกษาธิการ มหาวิทยาลัยสงฆ์ และสสส. ในการส่งเสริมให้มีการบรรจุเนื้อหา “พระสงฆ์กับการพัฒนาสุขภาวะ”ไว้ในหลักสูตรต่างๆของพระสงฆ์เพื่อให้เกิดความยั่งยืนและเป็นรูปธรรมในการทำงาน