posttoday

สธ.เตือนผู้ปกครองระวังเด็กเล็กติดโรคมือเท้าปาก

10 กรกฎาคม 2559

สธ.เตือนผู้ปกครอง ระวังเด็กเล็กติดโรคมือเท้าปาก ปีนี้ป่วยแล้วกว่า 25,000 คน แนะหมั่นล้างมือให้เด็ก

สธ.เตือนผู้ปกครอง ระวังเด็กเล็กติดโรคมือเท้าปาก ปีนี้ป่วยแล้วกว่า 25,000 คน  แนะหมั่นล้างมือให้เด็ก

นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า โรคมือเท้าปาก (Hand Foot Mouth Disease) มีแนวโน้มพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้น เนื่องจากฝนตกชุกอากาศเย็นและชื้น โรคนี้มักพบในเด็กที่อยู่รวมกันมากๆ เชื้อติดต่อกันง่ายจากการสัมผัสและติดไปกับมือโดยจะพบผู้ป่วยมากในเดือนกรกฎาคมจนถึงช่วงปลายฝนต้นหนาว จากข้อมูลของสำนักระบาดวิทยา ตั้งแต่ 1 มกราคม–4 กรกฎาคม 2559 ทั่วประเทศพบผู้ป่วยสะสม 25,083 คน เสียชีวิต 1 ราย ผู้ป่วยร้อยละ 80 เป็นเด็กเล็กอายุ 1-3 ปี   โรคนี้ส่วนใหญ่พบระบาดในสถานรับเลี้ยงเด็ก ศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียนอนุบาล  รวมทั้งสวนสนุกในห้างสรรพสินค้า เช่นบ้านบอล บ้านลม เป็นต้น ซึ่งผู้ปกครองมักจะพาบุตรหลานไปพักผ่อนหลังเลิกเรียนหรือวันหยุด อาจมีเด็กบางรายอาจเริ่มมีอาการป่วยเล็กน้อย มีไข้ต่ำๆ มีตุ่มใสขึ้นที่มือที่ปากเล็กน้อย แต่ไม่ได้หยุดพักที่บ้าน ทำให้โรคแพร่ระบาดได้ง่ายขึ้น

ทั้งนี้ได้กำชับให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด รณรงค์ให้ประชาชนยึดหลัก “กินร้อน ใช้ช้อนกลาง หมั่นล้างมือ” โดยเฉพาะเด็กเล็กยังรักษาความสะอาดส่วนบุคคลได้ไม่ดี พ่อแม่ผู้ปกครองต้องช่วยเด็กล้างมือ ขอความร่วมมือผู้ประกอบการสวนสนุกในห้างสรรพสินค้า สถานรับเลี้ยงเด็ก ศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียนอนุบาล  เข้มงวดความสะอาดอุปกรณ์เครื่องใช้ที่มีผู้สัมผัสปริมาณมาก เช่น ลูกบิดประตู ราวบันได ที่กดลิฟต์ ทำสะอาดด้วยน้ำสบู่หรือผงซักฟอก ส่วนของเล่นเด็ก เครื่องเล่น  ให้เช็ดทำความสะอาดภายหลังใช้ทุกครั้ง  ขอให้พ่อแม่ผู้ปกครอง ครูพี่เลี้ยงเด็ก ตรวจสุขภาพเด็กทุกเช้า ดูฝ่ามือ ซอกนิ้ว ปาก และที่เท้าทุกเช้า หากพบว่าเด็กมีไข้ หรือพบตุ่มใสขึ้นที่มือ เท้า หรือในปาก ขอให้สงสัยและแยกออกจากเด็กปกติ แจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่อยู่ในพื้นที่เพื่อควบคุมโรคทันที หรือโทรปรึกษาสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 ตลอด 24 ชั่วโมง

ด้าน นายแพทย์อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคมือเท้าปากเป็นโรคที่พบได้ทั่วโลก เกิดจากเชื้อไวรัส เอนเทอโรไวรัส (Enterovirus) เชื้อที่พบบ่อยที่สุดในไทยคือไวรัสคอกซากีไวรัสเอนเทอโร เชื้อโรคชนิดนี้จะอยู่ในลำไส้ และขับออกมาพร้อมกับอุจจาระ อาเจียน หรือน้ำลายของผู้ป่วย การแพร่เชื้อติดต่อกัน เกิดขึ้นค่อนข้างง่ายในช่วงสัปดาห์แรกของการป่วย และแม้อาการทุเลาลงแล้ว ก็ยังอาจแพร่เชื้อได้ เนื่องจากเชื้อจะถูกขับออกมากับอุจจาระได้นานถึง 6 สัปดาห์  โรคนี้พบได้ประปรายตลอดปี  แต่จะพบมากขึ้นในฤดูฝน  เด็กที่ติดเชื้อจะมีไข้1-2 วัน จากนั้นจะมีตุ่มหรือแผลในปากคล้ายแผลร้อนใน ส่วนใหญ่พบที่คอหอยหรือใกล้ต่อมทอนซิล อาจลามมาที่ลิ้น กระพุ้งแก้ม ทำให้เด็กเจ็บในปากและคอ ไม่ยอมดูดนม กินอาหารไม่ได้ ส่วนใหญ่อาการจะค่อยดีขึ้นเรื่อยๆ และหายได้เองใน 7 วัน โรคนี้ไม่มียารักษาโดยเฉพาะรักษาตามอาการ เพื่อประคับประคองให้ร่างกายฟื้นตัวขึ้น  เช่น การลดไข้ โดยการให้ยาลดไข้ หรือเช็ดตัวบ่อยๆ

ทั้งนี้ พ่อแม่ผู้ปกครองหากบุตรหลานป่วยเป็นโรคมือเท้าปาก ขอให้เด็กหยุดเรียนนอนพักอยู่ที่บ้าน งดการคลุกคลีกับเด็กอื่น รับประทานอาหารอ่อนๆ พร้อมสังเกตสัญญาณอันตรายที่ต้องระวังเกิดโรคแทรกซ้อน ได้แก่ ไข้สูงไม่ลดลง เด็กซึมลง อาเจียนบ่อย หายใจหอบ และแขนขาอ่อนแรง  ให้รีบนำส่งโรงพยาบาลทันที