posttoday

‘ห้ามมึน ห้ามซื่อ ห้ามขี้เกียจ’ คาถาป้องกันภัยโลกออนไลน์

02 กรกฎาคม 2559

อาชญากรรมทางเทคโนโลยียังคงมีอยู่เสมอในสังคมไทย ยิ่งตราบใดที่ความรุดหน้าทางเทคโนโลยีมากขึ้นเท่าใด

โดย...ไซเรน

อาชญากรรมทางเทคโนโลยียังคงมีอยู่เสมอในสังคมไทย

ยิ่งตราบใดที่ความรุดหน้าทางเทคโนโลยีมากขึ้นเท่าใด และผู้คนสามารถเข้าถึงระบบอินเทอร์เน็ตได้มากแค่ไหน อาชญากรรมของมิจฉาชีพที่หลอกเหยื่อผ่านโลกออนไลน์ก็มากตามเท่านั้น

โดยเฉพาะเฟซบุ๊กที่บัญชีผู้ใช้ในเมืองไทยมีหลายสิบล้านยูสเซอร์ และข้อมูลจากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับเทคโนโลยี หรือที่คุ้นหูกันในชื่อ บก.ปอท. พบว่าระยะเวลา 3 เดือนล่าสุดนั้น มีผู้เสียหายเข้าแจ้งความว่าถูกแฮ็กเฟซบุ๊กและอีเมลหลอกผู้อื่นโอนเงินจำนวนมาก มูลค่าความเสียหายกว่า 20 ล้านบาท

ตำรวจจึงได้ทำการสืบสวน พบว่าพฤติกรรมของคนร้ายจะใช้วิธีการสุ่มพาสเวิร์ดเฟซบุ๊ก อาทิ เบอร์โทรศัพท์ หรือวันเดือนปีเกิด สร้างหน้าเพจเฟซบุ๊กปลอมแจ้งเตือนผู้ใช้งานเฟซบุ๊กว่ารหัสผ่านจะหมดอายุ หรือมีผู้แฮ็กเฟซบุ๊กอยู่ ให้กดไปที่หน้าเพจดังกล่าวเพื่อเปลี่ยนรหัสผ่าน ซึ่งวิธีนี้คนร้ายจะได้รหัสผ่านไปทันทีและมีผู้หลงเชื่อเป็นจำนวนมาก เนื่องจากเป็นวิธีที่แนบเนียน และวิธีที่ 3 คนร้ายจะปล่อย spyware เข้าถึงข้อมูลในคอมพิวเตอร์เพื่อดูรหัสผ่าน

พล.ต.ต.ศุภเศรษฐ์ โชคชัย ผบก.ปอท. เล็งเห็นปัญหาของประชาชนบนโลกออนไลน์ ได้ขอฝากเตือนประชาชนห้ามตั้งรหัสผ่านเฟซบุ๊ก หรืออีเมล เป็นหมายเลขโทรศัพท์ หรือวันเดือนปีเกิด เนื่องจากง่ายต่อการคาดเดา หากต้องการเปลี่ยนรหัสผ่านควรเข้าไปเปลี่ยนที่เว็บไซต์ของเฟซบุ๊กโดยตรง หรือใช้ระบบ OTP ที่ใช้ตั้งค่าในเฟซบุ๊กเพื่อไม่ให้บุคคลอื่นเข้าใช้งานเฟซบุ๊กได้

ขณะที่การใช้งานอีเมล ทั้งผู้ใช้ทั่วไป และบริษัทต่างๆ ที่จะต้องติดต่อลูกค้าผ่านทางอีเมล ควรตั้งค่าระบบป้องกันพิเศษ หรือ OTP ในอีเมล ให้ส่งรหัสผ่าน มายังโทรศัพท์มือถือ เพื่อยืนยันก่อนใช้งาน ป้องกันคนร้ายสวมรอย หลอกให้ลูกค้าโอนเงิน และควรป้องกันตัวเองโดยสังเกตว่าหากบริษัทลูกค้า หรือมีผู้ติดต่อส่งอีเมลแจ้งเปลี่ยนเลขที่บัญชีในการโอนเงิน จะต้องโทรศัพท์สอบถามบุคคล หรือบริษัทของลูกค้าก่อนทุกครั้ง พร้อมติดตั้งโปรแกรมสแกนไวรัสที่ถูกกฎหมาย

บก.ปอท. ยังมีโครงการที่ช่วยประชาชนป้องกันภัยร้ายบนโลกออนไลน์ออกมา ชื่อว่า“คาถากันภัยผู้ใช้อีเมลและมนุษย์เฟซบุ๊ก ห้ามมึน ห้ามซื่อ ห้ามขี้เกียจ” ที่แนะนำวิธีป้องกันตัวเอง 3 ข้อ คือ 1.ห้ามมึน อย่าเป็นผู้ใช้งานเพียงอย่างเดียว ควรสนใจหาความรู้ป้องกันอาชญากรรมใหม่ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น 2.ห้ามซื่อ ควรเป็นคนช่างสังเกต ไม่หลงเชื่ออะไรง่ายๆ เพราะทุกสิ่งในโลกออนไลน์ สามารถปลอมได้และ 3.อย่าขี้เกียจ หากผู้ให้บริการเว็บไซต์ มีการเปิดให้ตั้งค่าระบบความปลอดภัยเพิ่มเติม

ถือเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องเตือนสติกัน เพราะโลกออนไลน์ใช่ว่าจะปลอดภัยเสมอไป หากพลั้งเผลอแค่คลิกเดียวบนอินเทอร์เน็ต ทรัพย์สินที่หามาได้อาจอันตรธานหายไปทันที