posttoday

สปส.พัฒนาระบบจ่ายเงินสนทบผ่านเน็ต

27 มิถุนายน 2559

สปส. ร่วมกับเครือข่าย อำนวยความสะดวก พัฒนาระบบจ่ายเงินสนทบ ผ่านอินเทอร์เน็ต

สปส. ร่วมกับเครือข่าย อำนวยความสะดวก พัฒนาระบบจ่ายเงินสนทบ ผ่านอินเทอร์เน็ต

เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. นายโกวิท สัจจวิเศษ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กระทรวงแรงงาน ร่วมกับนางพรพรรณ ศุภนคร รองเลขาธิการ สปส.แถลงข่าวถึงการพัฒนาบริการรับจ่ายเงินสมทบและการรับเงินเพื่ออำนวยความสะดวกให้นายจ้าง

นายโกวิท กล่าวว่า สปส.พบปัญหาว่าที่ผ่านมาหน่วยบริการของสปส. ที่ให้บริการประชาชนนั้นมีไม่เพียงพอ อีกทั้งทำให้นายจ้าง ต้องเดินทางมาที่สำนักงานฯ ซึ่งเสียเวลาและค่าเดินทาง  จึงได้นำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาสนับสนุนการให้บริการ  โดยได้ร่วมมือกับธนาคาร และหน่วยงานเครือข่าย เพื่อบริการรับชำระเงินสมทบจากนายจ้าง ซึ่งจะมีระบบตรวจสอบเพื่อลดความเสี่ยงและป้องกันการทุจริตหรือป้องกันความผิดพลาดในการรับ-จ่ายเงิน โดยมีค่าบริการ5-10 บาท ต่อครั้งแล้วแต่ธนาคาร   โดยจะเริ่มดำเนินการพร้อมกันทั่วประเทศในวันที่ 2 ก.ค.2559นี้

ทั้งนี้ สำหรับนายจ้างจ่ายเงินสมทบให้ลูกจ้างตามมาตรา 33 และผู้ประกันตนมาตรา 39 สามารถนำส่งเงินได้ผ่านเคาเตอร์ธนาคาร 3 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยาและธนาคารธนชาต ส่วนผู้ประกันตนมาตรา 40 สามารถนำส่งเงินผ่านเคาเตอร์ธนาคาร2 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงไทยและธนาคารกรุงศรีอยุธยา ซึ่งจะได้รับใบเสร็จรับเงินทันที เปรียบได้กับการจ่ายเงินที่สำนักงาน โดยนายจ้างยังสามารถชำระผ่านระบบอินเตอร์เน็ต(e-payment) โดยมีธนาคารให้บริการ 7 ธนาคาร ได้แก่ ธนาคารซิตี้แบงก์ ธนาคารมิซูโฮ ธนาคารซูมิโตโมมิตซุย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา และธนาคารกรุงไทย ซึ่งนายจ้างจะได้รับใบเสร็จผ่านไปรษณีย์ ส่วนผู้ประกันตนมาตรา 39 สามารถชำระผ่าน ที่ทำการไปรษณีย์และเคาเตอร์เซอร์วิส และสามารถหักเงินสมทบผ่านบัญชีได้กับธนาคาร 6 แห่ง คือ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารธนชาต ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารทหารไทย โดยสามารถยื่นแบบคำขอหักเงินผ่านบัญชีได้ที่สำนักงานประกันสังคมในพื้นที่ได้

สำหรับผู้ประกันตนมาตรา 40 นั้น สามารถใช้บริการหักเงินสมทบผ่านธนาคาร 6 แห่ง คือ ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงไทยและธนาคารกรุงศรีอยุธยา