posttoday

"เตือนใจ"แนะรัฐบาลถอนร่างพรบ.แร่-ชี้เนื้อหาคลุมเครือ

16 มิถุนายน 2559

"เตือนใจ ดีเทศน์" กรรมการสิทธิมนุษยชน ชี้ร่างพ.ร.บ.แร่ ฉบับครม. เนื้อหาเอื้อทุนใหญ่-ไม่ฟังความเห็นประชาชน

"เตือนใจ ดีเทศน์" กรรมการสิทธิมนุษยชน ชี้ร่างพ.ร.บ.แร่ ฉบับครม. เนื้อหาเอื้อทุนใหญ่-ไม่ฟังความเห็นประชาชน

เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. นางเตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้เห็นชอบเสนอแนะคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขอถอนร่างพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ ... ฉบับคณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ โดยข้อเสนอดังกล่าวเป็นผลมาจากมติที่ประชุมอนุกรรมการด้านสิทธิมนุษยชนและฐานทรัพยากรช่วงเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งทาง กสม.เห็นว่าร่างพรบ.แร่ฉบับดังกล่าวนั้น มีภาคประชาชนที่ร่วมประชุมไม่เห็นด้วย

นางเตือนใจกล่าวว่า ขณะนี้ร่าง พรบ.ดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แต่มีเนื้อหาเรื่องกลไกหลายอย่างที่ไม่ชัดเจน เช่น กรณีการบริหารจัดการเแร่ การกำหนดให้สำรวจแหล่งแร่ในพื้นที่เขตอนุรักษ์ พื้นที่เขตอุทยาน พื้นที่เขตป่าสงวนและการใช้ระบบประมูลเขตแหล่งแร่ การแบ่งประเภทเหมืองแร่ กองทุนฟื้นฟูและประกันความเสี่ยงที่ยังไม่มีการระบุความรับผิดชอบโดยผู้สัมปทานอย่างชัดเจน รวมถึงกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย จึงสมควรพิจารณาเรื่องพรบ.แร่ ฉบับดังกล่าวอย่างรอบคอบ และระดมความเห็นประชาชนเพื่อกำหนดมาตรการต่างๆใหม่

ดร.สมนึก จงมีวศิน อนุกรรมการด้านสิทธิ ฯ กล่าวว่า พรบ.แร่ ฉบับครม.ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของ สนช.ขณะนี้ มีเสียงคัดค้านจากประชาชนผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการทำเหมืองแร่ก็เริ่มดังขึ้น ชาวบ้านหลายพื้นที่คัดค้านด้วยการออกแถลงการณ์มาแล้วหลายครั้งหลายหน หรือแม้กระทั่งเดินทางมาร้องเรียนกับกสม. รวมทั้งการไปยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อเรียกร้อง ให้ชะลอร่างกฎหมายฉบับนี้เข้าสู่สนช. แต่ก็ยังสามารถผ่านสู่การพิจารณาในคณะกรรมาธิการวิสามัญไปได้  ดังนั้นจึงดูไม่เป็นธรรมนัก ทาง กสม.จึงได้มีการประชุมเพื่อวิเคราะห์เหตุผลหลายอย่างกระทั่งได้ออกมาเป็นมติ ขอเสนอให้ถอนออกมาก่อน  และประชาชนทีคัดค้านจะสามารถเริ่มต้นใหม่ในการผลักดันร่าง พรบ.แร่ที่มีหลักธรรมาภิบาลมากขึ้น

นางอารมย์ คำจริง ตัวแทนผู้ที่คัดค้านเหมืองทองคำ อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก  กล่าวว่า ดีใจที่มติ กสม.ออกมาให้ถอน พรบ.ฉบับนี้ เพราะเป็นผลดีกับประชาชนอย่างมากในการเริ่มต้นศึกษารายละเอียดของ พรบ.อย่างชัดเจน  เนื่องจากเพราะ พรบ.แร่ พ.ศ... ที่อยู่ในการพิจารณาของสนช.ขณะนี้เอื้อประโยชน์ต่อนายทุนมากเกินไป  โดยส่วนตัวกับเครือข่ายปรึกษากันว่าหากมีโอกาสจะทำร่างขึ้นมาใหม่ และมีความหวังว่าจะมีร่าง พรบ.แร่ที่เกิดจากการร่วมกับเครือการระดมความคิดภาคประชาชนและภาควิชาการที่มีความรู้ ความสามารถจริงๆ ไม่ใช่แค่กลุ่มที่เห็นประโยชน์จากอุตสาหกรรมแร่เท่านั้น

“ถ้า กสม.ไม่ออกมาเสนอแบบนี้ ประชาชนก็ต้องเดินหน้าคัดค้านอยู่ดี เราปล่อย พรบ.ที่เห็นประโยชน์แก่ทุนใหญ่ ผ่านไปไม่ได้ แต่วันนี้เราเห็นแล้วว่า กสม.ตัดสินใจถูก อย่างไรก็ตามขณะนี้ประชาชนยังไม่ไว้ใจกับท่าทีของรัฐบาลที่ประกาศยุติเหมืองทองคำ แต่ว่าจะติดตามความเคลื่อนไหวต่อไป  และหวังว่า กฎหมายแร่จะถูกตีตกจากวาระต่างของรัฐบาล อย่างน้อยหากไม่มี พรบ.แร่ออกมาในช่วงนี้ คนที่ได้รับความเดือดร้อนจากเหมืองแร่ทองคำจะได้สบายใจว่ายังไม่มีกฎหมายใดเอื้อต่อการทำธุรกิจแร่ พวกเราจะได้พักและใช้ชีวิตแบบไม่ต้องระแวงกับนโยบายปล้นทรัพยากรประเทศต่อไป”นางอารมณ์กล่าว