posttoday

ศาลฏีกาสั่ง"ศักดิ์ชัย กาย"แพ้คดีพินัยกรรมมรดก300ล้าน

16 มิถุนายน 2559

ศาลฎีกาพิพากษาให้พินัยกรรมมรดก 300 ล้านตระกูล ณ ป้อมเพชรที่ยกให้ศักดิ์ชัย กาย เป็นโมฆะ

ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ให้พินัยกรรมมรดก 300 ล้านตระกูล ณ ป้อมเพชรที่ยกให้ศักดิ์ชัย กาย เป็นโมฆะ

เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 2559 ศาลแพ่งได้อ่านคำพิพากษาของศาลฎีกาคดีหมายเลขดำ 2942/2550 ที่ นายธีรวัต ณ ป้อมเพชร อดีตอาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ ม.จุฬาลงกรณ์ เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายศักดิ์ชัย กาย บรรณาธิการบริหารนิตยสารลิปส์ เป็นจำเลย เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนทำลายพินัยกรรมที่นายวิวรรธน์ ณ ป้อมเพชร ยกทรัพย์ได้แก่ที่ดินจำนวน 3 ไร่ แขวงทุ่งวัดดอน เขตยานนาวา กทม. พร้อมสิ่งปลูกสร้างและห้องชุดเลขที่ 3G คอนโดมิเนียมการ์เด้นคลิฟ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี มูลค่ากว่า 300 ล้านบาท ให้แก่จำเลย

คดีนี้โจทก์ยื่นฟ้องสรุปว่า เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2548 นายวิวรรธน์ ณ ป้อมเพชร บิดาโจทก์ อดีตเอกอัครราชทูตหลายประเทศ จำเลยกับพวกได้ร่วมกันทําหนังสือฉบับหนึ่ง ระบุว่า เป็นพินัยกรรมข้อความว่า นายวิวรรธนมีคำสั่งให้ยกเลิกพินัยกรรมเดิมที่ทํามาก่อนหน้านี้ และต้องการยกทรัพย์สิน คือ ที่ดิน 3 ไร่ ย่านยานนาวา กทม. พร้อมอาคารและสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งห้องชุดเลขที่ 3G คอนโดมิเนียมการ์เด้น คลิฟ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี มูลค่ากว่า 300 ล้านบาท ให้แก่นายศักดิ์ชัย

ต่อมาวันที่ 16 ก.ย. 2549 นายวิสูตร กาญจนปัญญาพงศ์ พยานผู้ลงลายมือชื่อในพินัยกรรม ได้มีหนังสือถึงโจทก์ให้ดำเนินการขอรับพินัยกรรมจากสำนักงานเขตราชเทวี เพื่อดำเนินการตามข้อกำหนดในพินัยกรรม ทั้งที่โจทก์และทายาท รวมทั้งญาติพี่น้องของนายวิวรรธน์ ไม่มีใครทราบมาก่อนว่า นายวิวรรธน์ ได้ทําพินัยกรรมฉบับนี้ขึ้น รวมทั้งไม่มีใครรู้จักนายสุทิน โชติสิงห์ และ น.ส.ศจีมาศ อภิชโยดม นายวิสูตร กาญจนปัญญาพงศ์ ซึ่งลงชื่อเป็นพยาน และผู้พิมพ์ ตลอดจนสำนักกฎหมายธรรมนิติ ทั้งที่พินัยกรรมฉบับนี้ไม่ใช่พินัยกรรมลับ เพราะนายวิวรรธน์ไม่ได้ผนึกซองพินัยกรรมและลงลายมือชื่อด้วยตัวเอง แล้วนำซองพินัยกรรมไปแสดงต่อผู้อำนวยการเขตราชเทวี หรือผู้กระทําการแทน

นอกจากนี้ ในพินัยกรรมดังกล่าวยังไม่มีแพทย์รับรอง ว่า นายวิวรรธน์ มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ในขณะทําพินัยกรรม ทั้งลักษณะลายมือชื่อของนายวิวรรธน์ในพินัยกรรม ก็ไม่ใช่ลายมือที่แท้จริง เชื่อว่านายวิวรรธน์ไม่มีเจตนาจะยกทรัพย์สินให้จำเลย พินัยกรรมดังกล่าวจึงเป็นพินัยกรรมปลอม ไม่มีผลตามกฎหมาย การกระทําของจำเลยซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องเป็นญาติ หรือครอบครัวกับนายวิวรรธน์ หรือตระกูล ณ ป้อมเพชร ทําให้โจทก์กับทายาทได้รับความเสียหาย ไม่สามารถดำเนินการรับทรัพย์มรดกของนายวิวรรธน์ ที่แบ่งให้กับทายาทคนอื่นได้ จึงขอให้ศาลโปรดมีคำสั่งทําลายพินัยกรรมปลอมฉบับดังกล่าวด้วย

ศาลพิเคราะห์คำเบิกความและพยานหลักฐานทั้ง 2 ฝ่าย จากพยานหลักฐานโจทก์ 5 ปาก และพยานจำเลย 6 ปาก ซึ่งนำเข้าสืบหักล้าง และพยานผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบลายมือชื่อแล้ว ฟังได้ว่า พินัยกรรมฉบับดังกล่าวที่ นายวิวรรธน์ ทำขึ้น ซึ่งเป็นเอกสารลับนั้น เป็นเอกสารที่ถูกต้องแท้จริง พยานหลักฐานโจทก์ไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานฝ่ายจำเลยได้ พิพากษายกฟ้อง

ต่อมาโจทก์ยื่นอุทธรณ์ ซึ่งศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่าพินัยกรรมของ นายวิวรรธน์ ณ ป้อมเพชร ฉบับลงวันที่ 21 ธันวาคม 2548 เป็นโมฆะ

จำเลยยื่นฎีกา ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า พินัยกรรมที่ทำขึ้นมีพิรุธ โดยได้ความจาก นายวิสูตร กาญจนปัญญาพงศ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท สำนักกฎหมายธรรมนิติ จำกัด พยานจำเลยว่าปกติในการทำพินัยกรรมจะมีการบันทึกวิดีทัศน์และถ่ายรูป ขณะทำพินัยกรรมไว้ แต่ในขณะที่ นายวิวรรธน์ ทำพินัยกรรมไม่ได้มีการบันทึกวิดีทัศน์ หรือถ่ายรูปไว้ ทั้งที่พยานสามารถเตรียมการให้มีการบันทึกวิดีทัศน์และถ่ายรูปไว้ในขณะทำพินัยกรรม แต่กลับไม่ดำเนินการ จึงเป็นพิรุธว่า ในวันที่ 21 ธ.ค. 2548 ได้มีการทำพินัยกรรมจริงหรือไม่ และลายมือชื่อของผู้ทำพินัยกรรมยังไม่อาจชี้ชัดว่าเป็นลายมือชื่อของผู้ตายหรือไม่ เมื่อพิจารณาเอกสารอื่น ๆ ที่ผู้ตายเคยลงชื่อไว้ในช่วงเวลาใกล้เคียงกับช่วงที่มีการทำพินัยกรรมลายมือชื่อมีลักษณะปรากฏเพียงส่วนของชื่อและชื่อสกุล เขียนสั้นไม่ยาวนัก แต่ปรากฏว่า การลงลายมือชื่อในพินัยกรรมและลายมือชื่อหลังซองบรรจุพินัยกรรม กลับเป็นลายมือชื่อที่เขียนทั้งชื่อและชื่อสกุลที่มีความยาวมากกว่า ตามชื่อและชื่อสกุลว่า “วิวรรธน์ ณ ป้อมเพชร” ซึ่งแตกต่างออกไปเป็นพิรุธ ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่าลายมือชื่อผู้ทำพินัยกรรม เป็นของผู้ตาย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย พิพากษายืน.