posttoday

ฅนจรอาสา สองล้อนำความสุข

11 มิถุนายน 2559

เมื่อกลางปีที่แล้วที่ อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ กลุ่มมอเตอร์ไซค์กว่า 20 คันของกลุ่มฅนจรอาสา

โดย...โยธิน อยู่จงดี ภาพ... ฅนจรอาสา ณ เชียงใหม่

เมื่อกลางปีที่แล้วที่ อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ กลุ่มมอเตอร์ไซค์กว่า 20 คันของกลุ่มฅนจรอาสา ต่างขนของเต็มท้ายรถเพื่อจะเดินทางไปจัดกิจกรรมมอบรองเท้าแตะให้กับเด็กๆ และสอนชาวบ้านซ่อมและดูแลรถมอเตอร์ไซค์ด้วยตัวเอง เพราะสโลแกนของกลุ่มนี้ไม่ใช่แค่มอบสิ่งของเท่านั้นต้องมอบความรู้ให้กับผู้ด้อยโอกาสเหล่านี้ด้วย

สุรเชษ เสาร์อ้าย ประธานกลุ่มฅนจรอาสา (เพจเฟซบุ๊ก “ชมรมฅนจรอาสา พัฒนาสังคมและบำเพ็ญประโยชน์ เชียงใหม่”) เล่าที่มาที่ไปของกลุ่มว่า “จุดเริ่มต้นกลุ่มของเราเริ่มต้นจากคนเพียง 7 คนตอนนั้นเราไม่มีชื่อกลุ่มเพราะเป็นเพียงพี่ๆ น้องๆ ที่เรียนอยู่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา โดยมีรุ่นน้องคนหนึ่งเคยข้าร่วมกลุ่มจิตอาสากลุ่มอื่นแล้วสนใจที่อยากจะทำกิจกรรมเพื่อสังคม จึงตั้งเปิดรับบริจาคสิ่งของใช้ต่างๆ เข้าไปมอบให้กับน้องๆ ผู้ด้อยโอกาสตามดอยต่างๆ การเลือกสถานที่ของเราก็อาศัย คนรู้จักแนะนำและสามารถพาพวกเราไปได้เพราะเส้นทางป่าเขานั้นไม่เหมือนกับพื้นราบที่มีป้ายบอกเส้นทางและเครื่องนำทางพาไปสู่จุดหมายได้

“การเดินทางของพวกเราไปกันเป็นกลุ่มเล็กๆ ใส่ของท้ายมอเตอร์ไซค์แล้วขี่ไปมอบของให้พร้อมๆ กันเพราะกลุ่มเราไม่มีใครที่มีรถกระบะ หรือรถใหญ่ที่สามารถขนของได้เป็นจำนวนมากเลย หลังจากกิจกรรมครั้งแรกที่ อ.สะเมิง พวกเรารู้สึกมีความสุขมากที่ได้มอบสิ่งของให้กับเด็กๆ จึงตั้งใจว่าจะจัดกิจกรรมมอบของครั้งใหญ่ขึ้นปีละครั้ง นับจากวันนั้นกลุ่มเราก็มีอายุได้ประมาณ 10 ปีแล้ว มีสมาชิกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จาก 7 คนเป็น 200 กว่าคน และการจัดกิจกรรมแต่ละครั้งก็มีคนสนใจเข้าร่วมกิจกรรมประมาณ 20-30 คน

“สมาชิกส่วนใหญ่เป็นพี่ๆ น้องๆ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และก็มีคนนอกที่มีจิตอาสาทราบข่าวเข้ามาร่วมบ้าง อาจะเป็นในรูปแบบของการบริจาคเงินสิ่งของ และเราก็พัฒนากิจกรรมของพวกเรามาโดยตลอด จากเพียงแค่ไปมอบสิ่งของแค่นั้นไม่พอ เราจะไปมอบความรู้กับผู้ด้อยโอกาสเหล่านี้ด้วย”

สุรเชษ เล่าต่อว่า กิจกรรมครั้งล่าสุดที่จัด คือ ที่ อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ เพราะกลุ่มจะจัดกิจกรรมเฉพาะพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ทุกๆ ที่ที่ไปล้วนเคยมีคนเข้าไปให้ความช่วยเหลือพัฒนามาแล้วทั้งสิ้น แต่สิ่งที่พบคือชาวบ้านไม่มีความรู้ความสามารถที่จะดูแลต่อ นั่นจึงเป็นที่มาที่ให้ทางกลุ่มคิดว่าการมอบของอย่างเดียวไม่พอ ต้องมอบความรู้ให้กับพวกเขาด้วย เช่นที่อมก๋อย มีคนไปช่วยสร้างแผงโซลาร์เซลผลิตกระแสไฟฟ้าในหมู่บ้าน พอกลับไป ชาวบ้านไม่รู้ว่าแผงโซลาร์เซลล์ต้องไม่มีอะไรปิดกั้นการรับแสง ก็เอาผ้าไปตาก เอาปลาไปวางไว้ บางก็ปล่อยให้มีฝุ่น มีใบไม้มาปิด ทำให้แผงโซลาร์เซลล์ทำงานได้ไม่เต็มที่ ก็ต้องเข้าไปให้ความรู้ว่าแผงโซลาร์เซลล์ทำงานอย่างไร ต้องดูแลบำรุงรักษายังไง

ฅนจรอาสา สองล้อนำความสุข

 

เวลารวมกลุ่มแต่ละครั้งจะดูว่าชุมชนที่จะไปนั้นมีสภาพเป็นอย่างไร ต้องการอะไรบ้างและเปิดรับบริจาคสิ่งของจำเป็นต่อการเดินทางไปบริจาค ขาดเหลืออะไรเราค่อยไปเสริมให้เพียงพอ จากนั้นแบ่งกลุ่มกันว่าแต่ละคนจะมีหน้าที่อะไรบ้าง บางคนอาจจะดูแลเรื่องซ่อมเครื่องยนต์ เรื่องระบบไฟฟ้า หรือตามความสามารถที่เขาถนัดแต่ทุกคนต้องช่วยกันทั้งหมด แต่ทุกคนต้องมีหน้าที่เฉพาะจะไปแล้วมอบของอย่างเดียวแล้วเที่ยวไม่ได้ และห้ามเสนอขายสินค้าจากข้างล่างให้กับชาวดอยเพราะเป็นการหาผลประโยชน์แอบแฝง

ก่อนเดินทาง 1 คืนเราจะมานอนด้วยกันเพื่อซักซ้อมว่าใครมีหน้าที่อะไรบ้าง จากนั้นตอนเช้าเดินทางเป็นขบวนไปทำกิจกรรมร่วมกัน  พอถึงวันงานชาวบ้านก็จะนำรถมอเตอร์ไซค์ของเค้ามาให้ซ่อมฟรี แต่ก็ต้องให้เขาอยู่ดูเพื่อเรียนรู้เรื่องการซ่อมและดูแลรถของตัวเอง ตั้งแต่เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง ดูแลเรื่องยาง และสิ่งจำเป็นอื่น จากนั้นอีกกลุ่มก็จะไปมอบรองเท้าสิ่งของบริจาคให้กับเด็กๆ

“การมอบรองเท้าให้กับเด็กๆอมก๋อยทำให้ได้เห็นภาพที่ประทับใจที่สุดก็คือรอยยิ้มของเด็กๆ แววตาของความดีใจเวลาที่พวกเขาได้ใส่รองเท้าเป็นความรู้สึกที่ตื้นตันที่สุด ผมไม่คิดเลยว่าแค่รองเท้าแตะคู่เดียวจะทำให้เด็กๆ ดีใจได้ขนาดนั้น ถึงตัวจะสกปรกมอมแมมแต่เรากลับรู้สึกถึงความน่ารักความสดใสในตัวพวกเขา เด็กบางคนไม่เคยมีรองเท้าแตะใส่เลย พอได้ใส่พวกเขายิ้มดีใจ สิ่งที่เราคิดว่าเป็นของใช้ปกติที่ไม่ได้มีค่าอะไรมากมาย แต่กับคนที่ด้อยโอกาสคือสิ่งที่มีค่ามาก นั่นคือกำลังใจที่ทำให้พวกเราตั้งใจจะจัดกิจกรรมแบบนี้ตลอดไป”